วิจัยชี้ ยิ่งกว่าลองโควิดคือ ‘Long flu’ ไข้หวัดใหญ่ระยะยาวเสี่ยงตาย-ปัญหาสุขภาพพุ่ง!

15 ธ.ค. 2566 - 07:04

  • การศึกษาครั้งสำคัญชี้ให้เห็นว่าไข้หวัดใหญ่ที่เรามองว่าเป็นเพียงโรคฉับพลันนั้นร้ายกว่าที่เราคิด

study-finds-flu-patients-higher-risk-longer-term-illness-SPACEBAR-Hero.jpg

ข้อมูลชุดใหม่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพในระยะยาวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการ ‘ลองโควิด’ 

แม้ว่าอาการที่เกี่ยวข้องกับ ‘Long flu’ หรือไข้หวัดใหญ่ระยะยาว จะเน้นไปที่ปอดมากกว่าอาการของโควิด แต่ทั้ง 2 กรณีนี้ก็มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และความพิการในช่วงหลายเดือนหลังการติดเชื้อมีมากกว่าในช่วงติดเชื้อ 30 วันแรก  

ซิยาด อัล-อาลี นักระบาดวิทยาทางคลินิก มหาวิทยาลัยวอชิงตัน รัฐมิสซูรี ซึ่งเป็นผู้นำในการวิจัยกล่าวว่า “ชัดเจนว่าอาการไข้หวัดใหญ่ระยะยาวนั้นแย่กว่าไข้หวัดใหญ่ธรรมดา และอาการลองโควิดก็แย่กว่าโควิดธรรมดา”  

เขาได้รับแรงบันดาลใจให้ศึกษาปรากฏการณ์ดังกล่าว หลังจากพบเห็นความเจ็บป่วยระยะยาวที่ผู้หายจากโควิดต้องเผชิญ  

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ผมคงไม่คิดจะศึกษาความเป็นไปได้ของไข้หวัดใหญ่ระยะยาว แต่บทเรียนที่สำคัญที่เราเรียนรู้จากการระบาดใหญ่ครั้งนี้ก็คือไวรัสที่เราทุกคนคิดว่าเป็นสาเหตุของโรคฉับพลันเท่านั้น กำลังทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องป่วยด้วยโรคลองโควิด เราจึงสงสัยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับสิ่งอื่นได้หรือไม่ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่” อัล-อาลีกล่าว

study-finds-flu-patients-higher-risk-longer-term-illness-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Peter PARKS / AFP

ในการหาคำตอบ อัล-อาลี และเพื่อนร่วมงานได้วิเคราะห์เวชระเบียนผู้ป่วยในสหรัฐฯ 81,280 รายที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด และ 10,985 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ทีมวิจัยติดตามพวกเขาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 18 เดือน เพื่อเรียนรู้ความเสี่ยงของการเสียชีวิต การกลับเข้ามารักษาในรพ. และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับระบบอวัยวะสำคัญในร่างกาย 94 รายการ  

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Lancet Infectious Diseases ระบุว่า แม้ว่าผู้ป่วยโควิดจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ต่อการเสียชีวิต หรือการกลับเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในอีก 18 เดือนข้างหน้า แต่การติดเชื้อของทั้ง 2 โรคนี้ กลับมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อความพิการ และโรคภัยไข้เจ็บอย่างต่อเนื่อง  

ในทั้ง 2 กรณีนี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตและความพิการเกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนหลังการติดเชื้อ ต่างกับ 30 วันแรก และแม้ว่าอาการที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ระยะยาวนั้นมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยที่ปอดมากกว่า เช่น หายใจลำบากหรือไอ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยโควิด แต่ทั้ง 2 กลุ่มมีความเสี่ยงต่อความเหนื่อยล้า หลอดเลือดหัวใจ ปัญหาระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทและอาการที่เกี่ยวข้องมากกว่า ร่วมกับระบบอวัยวะอื่นๆ ในภายหลัง 

“หลายคนคิดว่าตัวเองหายจากโรคโควิดหรือไข้หวัดใหญ่แล้ว หลังจากออกโรงพยาบาล นั่นก็อาจจะจริง แต่การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าไวรัสทั้ง 2 ชนิดสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในระยะยาวได้ การมองว่าโรคเหล่านี้เป็นอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เป็นเพียงการมองที่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในระยะหลังนั้นสูงกว่ามาก” อัล-อาลีกล่าว  

เขากล่าวต่อว่า บางคนมีจุดจบเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงในระยะยาว เราจำเป็นต้องตื่นและรับรู้ความจริงนี้ และหยุดการติดเชื้อพร้อมกับทำความเข้าใจว่านี่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของโรคเรื้อรัง 

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระบุสัดส่วนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือกลุ่มใดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทีมงานคาดหวังจะตรวจสอบในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างไร  

สำหรับตอนนี้ อัล-อาลี กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพยายามลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ ฉีดวัคซีนให้ครบ และในกรณีของการติดเชื้อโควิดให้กินยาต้านไวรัส

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์