ข่าวร้าย! วิจัยเผยโลกร้อนทำให้ ‘คลื่นความร้อน’ เคลื่อนตัวช้าลงและอยู่นานกว่าเดิม

1 เมษายน 2567 - 08:18

study-finds-heat-waves-are-moving-slower-and-staying-longer-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้คลื่นความร้อนคงอยู่เป็นเวลานานขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร้อนจัดรุนแรงยิ่งขึ้น

  • “การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ แต่ยังรวมถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติด้วย”

เมื่อคลื่นความร้อนพัดผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว หลายพื้นที่ถูกปกคลุมด้วยอุณหภูมิสูงเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ในแต่ละครั้ง และผลการศึกษาครั้งล่าสุดที่ตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ (29 มี.ค.) ระบุว่า “ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โลกร้อนขึ้น คลื่นความร้อนก็เริ่มที่จะเคลื่อนตัวช้าลงและยาวนานขึ้นเรื่อยๆ” 

การศึกษาพบว่า “ในแต่ละทศวรรษระหว่างปี 1979-2020 อัตราการเดินทางของคลื่นความร้อนลดลงประมาณ 5 ไมล์ต่อวัน (ราว 8 กิโลเมตร) หมายความว่าคลื่นความร้อนจะกินเวลานานขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 4 วัน” 

“สิ่งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน” เว่ยจาง นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ และหนึ่งในผู้เขียนการศึกษานี้ กล่าว 

คลื่นความร้อนที่ยาวขึ้นจะกระจุกอยู่ในที่เดียว ผู้คนก็ยิ่งต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่คุกคามถึงชีวิตได้นานขึ้น ทำให้คนงานทำงานได้ช้าลงในช่วงที่อากาศร้อนจัด ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตเชิงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ คลื่นความร้อนยังทำให้ดินและพืชพรรณแห้ง เป็นอันตรายต่อพืชผล และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าด้วย 

ดร.จางกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคลื่นความร้อนเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ แต่ยังรวมถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติด้วย” 

การศึกษานี้เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่ติดตามว่าคลื่นความร้อนเคลื่อนที่ผ่านอวกาศและเวลาอย่างไร 

ราเชล ไวท์ นักวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรายงานฉบับนี้ กล่าวว่า “เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้คลื่นความร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มความถี่ของคลื่นความร้อน แต่การศึกษาครั้งนี้ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น” 

ดร. จางและเพื่อนร่วมงานวิเคราะห์อุณหภูมิทั่วโลกระหว่างปี 1979-2020 โดยให้นิยามคลื่นความร้อนว่าเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันซึ่งมีพื้นที่รวม 1 ล้านตารางกิโลเมตร (247 ล้านเอเคอร์) หรือมากกว่านั้น ที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างน้อยถึงเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 ของพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดในอดีตในท้องถิ่น (โดยพื้นฐานแล้วคือลมร้อนผิดปกติจำนวนมหาศาล) คลื่นความร้อนยังต้องคงอยู่เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน จากนั้นนักวิจัยได้วัดว่ามวลอากาศขนาดยักษ์เหล่านี้เคลื่อนที่ไปไกลแค่ไหนเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อคำนวณความเร็วของพวกมัน 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่พวกเขาศึกษา คลื่นความร้อนเคลื่อนตัวช้าลงประมาณ 8 กิโลเมตรต่อวันในแต่ละทศวรรษ หรือเกือบ 5 ไมล์ต่อวันในแต่ละทศวรรษ 

ช่วงระยะเวลาเฉลี่ยของคลื่นความร้อนยังขยายออกไปอีกด้วย โดยตั้งแต่ปี 2016-2020 คลื่นความร้อนคงอยู่เฉลี่ย 12 วัน เทียบกับ 8 วันในช่วงปี 1979-1983 นอกจากนี้ คลื่นความร้อนเหล่านี้ยังเดินทางได้ไกลขึ้นอีกด้วย ทำให้ระยะทางเพิ่มขึ้นประมาณ 226 กิโลเมตรต่อทศวรรษ 

นักวิจัยยังพบว่าคลื่นความร้อนเริ่มถี่ขึ้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 98 ต่อปีระหว่างปี 2016-2020 จาก 75 ต่อปีระหว่างปี 1979-1983 

ทั้งนี้พบว่ายังมีความแตกต่างในระดับภูมิภาคอยู่บ้าง ซึ่งคลื่นความร้อนจะคงอยู่นานขึ้นโดยเฉพาะในยูเรเซียและอเมริกาเหนือ และเดินทางไกลโดยเฉพาะในอเมริกาใต้

study-finds-heat-waves-are-moving-slower-and-staying-longer-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by DAVID SWANSON / AFP

นักวิจัยใช้แบบจำลองเพื่อจำลองอุณหภูมิในสถานการณ์ที่มีและไม่มีภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์เพื่อตรวจสอบบทบาทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยพบว่าสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเหล่านี้มีผลต่อคลื่นความร้อน ซึ่งบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มเหล่านี้ 

อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังตรวจพบรูปแบบการไหลเวียนของอากาศที่ใหญ่ขึ้นและลมในชั้นบรรยากาศชั้นบน เช่น กระแสลมกรด (the jet streams) อ่อนลง อย่างน้อยในช่วงฤดูร้อนที่ละติจูดสูงขึ้นในซีกโลกเหนือ สิ่งนี้อาจทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทุกประเภทหยุดชะงักและอยู่เกินกำหนด  

“มีเหตุผลที่กระแสลมกรดชะลอความเร็วของคลื่นความร้อน” สตีเฟน วาฟรัส นักอุตุนิยมวิทยาของรัฐวิสคอนซิน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้กล่าว 

การศึกษาใหม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกระแสลมกรดที่อ่อนลงกับคลื่นความร้อนที่ช้าลง อย่างไรก็ตาม ดร.ไวท์ คิดว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่ากระแสลมกรดเป็นสาเหตุที่แท้จริงหรือไม่ 

ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการชะลอตัวจะเป็นอย่างไร แต่ผลกระทบที่เป็นอันตรายยังคงอยู่ 

“มีปัจจัยหลายอย่างมารวมกัน หากคลื่นความร้อนเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ยาวนานขึ้น และครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น นั่นยิ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากคลื่นความร้อน” ดร.วาฟรัสกล่าว 

ขณะที่ ดร.จางมีความกังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับเมืองต่างๆ ซึ่งมักจะร้อนกว่าพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมือง “หากคลื่นความร้อนดังกล่าวคงอยู่ในเมืองนานกว่าเมื่อก่อนมาก นั่นจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่ง”  

นอกจากการวิจัยชั้นบรรยากาศแล้ว ดร.จางยังช่วยคนในพื้นที่ปลูกต้นไม้และหญ้ารอบๆ ป้ายรถเมล์ในเมืองซอลต์เลกซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐฯ ซึ่งแต่ก่อนผู้คนต้องรอรถเมล์ตากแดดในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ดร.จางจึงแนะนำให้เมืองต่างๆ สร้างศูนย์ทำความเย็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาไร้บ้าน 

ดร.จางกล่าวว่า “ในขณะที่รอให้ผู้นำระหว่างประเทศดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหยุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามในการปรับตัวในท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้คนปลอดภัยยิ่งขึ้น”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์