วิจัยชี้เล่นกับน้องหมาทั้งช่วยผ่อนคลายและส่ง ‘ผลดี’ ต่อสมอง

18 มีนาคม 2567 - 10:01

study-finds-interacting-with-dogs-may-affect-multiple-areas-of-the-brain-SPACEBAR-Hero.jpg
  • การศึกษาระบุว่า “การมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัข เช่น การเล่น การกอด การจูง อาจเสริมสร้างคลื่นสมองของผู้คนที่เกี่ยวกับการพักผ่อนและผ่อนคลาย โดยวัดจากการทดสอบทางสมอง”

  • “การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ทางอารมณ์ สรีรวิทยา และการรับรู้ของการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข เช่น พลังงานที่เพิ่มขึ้น อารมณ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้น หรือความเสี่ยงในการสูญเสียความทรงจำลดลง…”

หากคุณรู้สึกคลายเครียดไปกับการเล่นกับสุนัขหรือดูวิดีโอน่ารักๆ ของพวกมันบนโซเชียลมีเดียละก็ คุณอาจจะพบว่ามีบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป… 

ผลการศึกษาขนาดเล็กที่ตีพิมพ์เมื่อวันพุธในวารสารวิชาการวิทยาศาสตร์ ‘PLOS One’ ระบุว่า “การมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขในลักษณะดังกล่าวอาจเสริมสร้างคลื่นสมองของผู้คนที่เกี่ยวกับการพักผ่อนและผ่อนคลาย โดยวัดจากการทดสอบทางสมอง” 

“การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ทางอารมณ์ สรีรวิทยา และการรับรู้ของการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข เช่น พลังงานที่เพิ่มขึ้น อารมณ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้น หรือความเสี่ยงในการสูญเสียความทรงจำลดลง นั่นเป็นสาเหตุที่การแทรกแซงด้านสุขภาพโดยสัตว์ถูกนำมาใช้มากขึ้นในสาขาต่างๆ” ผู้เขียนการศึกษากล่าว 

“การศึกษาก่อนหน้านี้มักใช้ ‘แนวทางแบบองค์รวม’ โดยเปรียบเทียบอารมณ์หรือระดับฮอร์โมนของผู้คนก่อนและหลังใช้เวลาอยู่กับสุนัข” ออนยู ยู ผู้เขียนการศึกษาคนแรก ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกในภาควิชาชีวะและการรักษาที่บัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยคอนกุกในกรุงโซลกล่าวทางอีเมล 

แต่ในการศึกษาใหม่นี้ ยูและเพื่อนร่วมวิจัยตั้งเป้าที่จะค้นหาว่า ‘อารมณ์ได้รับผลกระทบอย่างไรจากกิจกรรมบางอย่าง ไม่ใช่แค่การมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขโดยทั่วไป’ โดยวัดการทำงานของสมองอย่างเป็นกลางและถามผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง 

นักวิจัยทดสอบความเชื่อมโยงนี้ยังไง?

การศึกษานี้มีผู้ใหญ่สุขภาพดี 30 คน อายุโดยเฉลี่ยประมาณ 28 ปีเข้าร่วม ซึ่งคัดเลือกจากร้านเสริมสวยสัตว์เลี้ยงและโรงเรียนตัดขนสุนัขในเมืองซองนัม ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2022 

ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะอยู่ในห้องอันแสนน่าเบื่อและเงียบสงบในสถาบันฝึกสอนการดูแลสุนัขในท้องถิ่น โดยจะต้องทำกิจกรรม 8 กิจกรรมร่วมกับสุนัขของผู้เขียนการศึกษาหลัก ซึ่งเป็นพันธุ์พุดเดิ้ลสแตนดาร์ดตัวเมียอายุ 4 ขวบที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี กิจกรรมที่ว่านี้ ได้แก่ การพบปะ การเล่น ให้อาหาร การนวด ดูแลขน ถ่ายรูป กอด และพาสุนัขเดินเล่น 

ก่อนที่กิจกรรมจะเริ่มต้น ผู้เข้าร่วมจะต้องนั่งและจ้องมองที่ผนังเป็นเวลา 3 นาทีเพื่อลดสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้ผลลัพธ์เสีย จากนั้นนักวิจัยจะทำการวัดคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมด้วยการทดสอบคลื่นไฟฟ้าสมองหรือ ‘EEGs’ เป็นเวลา 3 นาทีระหว่างที่ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมแต่ละฐาน “การทดสอบเหล่านี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่รวดเร็วและแม่นยำเกี่ยวกับกระบวนการความรู้สึกนึกคิด (unconscious processes) ซึ่งการเปิดเผยตัวเอง (unconscious processes) อาจไม่ถูกเปิดเผยออกมา” ยูกล่าว 

หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมเสร็จแต่ละฐาน นักวิจัยจะให้เวลาผู้เข้าร่วม 2-3 นาทีในการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์ของตัวเอง โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

การศึกษาระบุว่า “กิจกรรมต่างๆ ส่งผลต่อคลื่นสมองของผู้เข้าร่วมแตกต่างกันไป ซึ่งผู้เขียนพบว่าการเล่นและการเดินกับสุนัขเพิ่มความแรงสั่นของแถบอัลฟ่า (alpha-band oscillations) ซึ่งโดยทั่วไปบ่งบอกถึงเสถียรภาพและความผ่อนคลาย ทั้งนี้พบว่ากิจกรรมคลื่นอัลฟ่านั้นเชื่อมโยงกับความจำที่ดีขึ้นและลดความเครียดทางจิตได้ด้วย” 

“ขณะที่การดูแลขน การเล่น และการนวดสุนัขเบาๆ นั้นเชื่อมโยงกับการสั่นของแถบเบต้า (beta-band oscillation) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความสนใจและสมาธิที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมยังรู้สึกหดหู่ เครียด และเหนื่อยล้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหมาพุดเดิ้ล” 

แล้วการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าหมาส่งผลต่อสมองอย่างไร?

study-finds-interacting-with-dogs-may-affect-multiple-areas-of-the-brain-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by DAMIEN MEYER / AFP

“แม้ว่าผู้เข้าร่วมบางคนจะมีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง แต่ความชื่นชอบสัตว์ของพวกเขามีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้พวกเขาเต็มใจที่จะเข้าร่วมในการทดลอง ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์มีอคติ…การบำบัดโดยใช้สัตว์ช่วยจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการอยู่ร่วมกับสัตว์” ยูกล่าว 

อย่างไรก็ตาม เยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นหนึ่งส่วนที่ถูกทดสอบในการศึกษานี้ “นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่ถูกทดสอบในการศึกษานี้เกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางอารมณ์และสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่าการมีความผูกพันทางอารมณ์หรือทางสังคมกับสัตว์อาจส่งผลต่อกิจกรรมในสมองส่วนนี้” ดร. ทิฟฟานี บราลีย์ ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้กล่าว 

“ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาก่อนหน้านี้ยังบอกด้วยว่าการลดระดับคอร์ติซอล (ฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ที่สร้างขึ้นจากต่อมหมวกไต เพื่อช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่อความเครียด) และการเพิ่มขึ้นของออกซิโทซิน (เป็นฮอร์โมนที่ถูกผลิตขึ้นจากไฮโปทาลามัส หรือต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย) อาจมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์” บราลีย์เสริม 

บราลีย์กล่าวว่า “การศึกษานี้มีจุดอ่อนอยู่บ้าง เช่น ผู้เข้าร่วมการศึกษามีน้อย และความจริงที่ว่าพวกเขาไม่มีภาวะทางจิต การแพทย์ หรือระบบประสาท ซึ่งอาจได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแทรกแซงประเภทนี้”  

นอกจากนี้ การศึกษายังไม่มีกลุ่มควบคุมเพื่อดูว่าการกระทำที่ทำกับมนุษย์แทนที่จะเป็นสุนัขจะมีประโยชน์เช่นเดียวกันหรือไม่ “การยืนยันความถูกต้องของการค้นพบเหล่านี้ในการศึกษาในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ” ยูกล่าว 

สู่โปรเจกต์ ‘สุนัขบำบัด’

ปัจจุบันมีหลายภาคส่วนนำงานวิจัยสุนัขมาประยุกต์ใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีโปรเจกต์ของสนามบินอิสตันบูล ประเทศตุรกีที่นำเจ้าหมาน้อยมาคอยบำบัดให้ความสุข บรรเทาความเครียด และอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร  

และผลตอบรับก็เป็นไปในเชิงบวก ทำให้ทางสนามบินต้องการขยายโครงการโดยเพิ่มจำนวนสุนัขเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางจาก 5 ตัวเป็น 10 ตัว “การเดินทางอาจทำให้เครียดได้…จากการวิจัย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ช่วยลดระดับความเครียดและความวิตกกังวล” อับดุลกาดีร์ เดมีร์ตัส ผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้ากล่าว 

มูรัต เซนกิซ โคคา ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสุนัขและผู้ฝึกสอนที่มาพร้อมกับสุนัขรอบๆ สนามบินเผยว่า “สัตว์เหล่านี้ได้รับการฝึกไม่ให้ตอบสนองต่อเสียงหรือผู้คน…สุนัขที่เราเลือกได้ผ่านกระบวนการฝึกมาเป็นเวลา 1 ปี…”  

Photo by Philip FONG / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์