การศึกษาล่าสุดพบว่า “การมี ‘แมว’ เป็นสัตว์เลี้ยงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภทเป็น 2 เท่า”
นักวิจัยชาวออสเตรเลียได้ทำการวิเคราะห์งานวิจัย 17 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมา จาก 11 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
“เราพบความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมวโดยนิยามอย่างกว้างๆ กับโอกาสที่เพิ่มขึ้นของการพัฒนาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท”
จอห์น แม็คกราท จิตแพทย์ และเหล่านักวิจัยจากศูนย์วิจัยสุขภาพจิตแห่งควีนส์แลนด์อธิบายในการศึกษาของพวกเขาที่เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
แนวคิดที่ว่าการเลี้ยงแมวอาจเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อโรคจิตเภทถูกเสนอในการศึกษาเมื่อปี 1995 โดยระบุว่า “การสัมผัสกับโปรโตซัวปรสิตที่เรียกว่า ‘ท็อกโซพลาสมา กอนดิ’ (Toxoplasma gondii) เป็นสาเหตุ แต่การวิจัยจนถึงขณะนี้ยังให้ข้อสรุปที่หลากหลาย”
การศึกษาพบว่าการอยู่ร่วมกับแมวในวัยเด็กอาจทำให้คนคนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคจิตเภทมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่พบความเชื่อมโยงนี้ นอกจากนี้ บางรายยังเชื่อมโยงกับจิตเภทจากการรับเชื้อปรสิตแมว ซึ่งส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของบุคคล แต่การศึกษาอื่นๆ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงนี้
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น แม็คกราทและทีมงานของเขากล่าวว่ามีความจำเป็นต้องทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยทั้งหมดในหัวข้อเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
‘ท็อกโซพลาสมา กอนดิ’ โดยส่วนใหญ่เป็นปรสิตที่ไม่เป็นอันตราย สามารถแพร่เชื้อผ่านเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุกหรือน้ำที่ปนเปื้อน
การถูกกัดจากแมวที่ติดเชื้อ หรืออุจจาระของแมวที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อ ‘ท็อกโซพลาสมา กอนดิ’ ได้ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ‘ผู้คนประมาณ 40 ล้านคนในสหรัฐฯ อาจติดเชื้อ โดยมักจะไม่มีอาการใดๆ’ ในขณะเดียวกัน นักวิจัยก็ยังคงพบผลกระทบแปลกๆ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ
หากปรสิตตัวร้ายเข้าสู่ร่างกาย…มีผลต่อระบบประสาท

เมื่อปรสิตเข้าไปในร่างกายของเราแล้ว มันจะสามารถแทรกซึมเข้าไปในระบบประสาทส่วนกลางและส่งผลต่อสารสื่อประสาทได้ ปรสิตตัวร้ายนี้มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ มีอาการทางจิต มีความผิดปกติทางระบบประสาทบางอย่าง รวมถึงโรคจิตเภทด้วย
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงดังกล่าวไม่ได้พิสูจน์ว่า ‘ท็อกโซพลาสมา กอนดิ’ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หรือปรสิตถูกส่งผ่านจากแมวไปยังมนุษย์
การวิเคราะห์ใหม่จากการศึกษา 17 ชิ้นพบว่า “ความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมวโดยนิยามอย่างกว้างๆ นั้นมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท…หลังจากปรับตัวแปรร่วมแล้ว เราพบว่าบุคคลที่สัมผัสกับแมวมีโอกาสเป็น ‘โรคจิตเภท’ ประมาณ 2 เท่า”
ทีมงานอธิบาย
แต่มีสิ่งสำคัญบางประการที่ต้องจำไว้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าการศึกษา 15 ชิ้นจากทั้งหมด 17 ชิ้นเป็นการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุม (case-control studies) การวิจัยประเภทนี้ไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุและผลกระทบได้ และมักไม่ได้พิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งการสัมผัสและผลลัพธ์
ทว่าการศึกษาจำนวนหนึ่งที่ถูกวิเคราะห์นั้นมีคุณภาพต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนวิจัยเน้นย้ำด้วยเช่นกัน

การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าไม่มีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการเลี้ยงแมวก่อนอายุ 13 ปีและต่อมาเป็นโรคจิตเภท หากแต่กลับพบความเชื่อมโยงที่สำคัญเมื่อจำกัดการเลี้ยงแมวให้แคบลงให้เหลือเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง (อายุ 9-12 ปี) ความไม่สอดคล้องกันนี้แสดงให้เห็นว่ากรอบเวลาที่สำคัญสำหรับการติดเชื้อปรสิตไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน
การศึกษาในสหรัฐฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักศึกษาจิตวิทยา 354 คน ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมวกับโรคจิตเภท อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ถูกแมวกัดมีโอกาสสูงกว่าผู้ที่ไม่ถูกกัด
การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งซึ่งรวมถึงผู้ที่มีและไม่มีความผิดปกติทางจิต ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างการถูกแมวกัดกับการทดสอบที่วัดประสบการณ์ทางจิตวิทยาโดยเฉพาะ แต่นักวิจัยบอกว่าเชื้อโรคอื่นๆ เช่น เชื้อพาสเจอเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella multocida / เชื้อก่อโรคที่เกิดจากแมวหรือหมากัด) อาจเข้าสู่ร่างกายแทน
อย่างไรก็ดี นักวิจัยเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยที่ดีกว่าและกว้างขึ้นกว่านี้ก่อนจึงจะสามารถตีความได้อย่างแน่ชัด
“โดยสรุปแล้ว การทบทวนการศึกษาของเราให้การสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างการเลี้ยงแมวและความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภท จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยคุณภาพสูงมากขึ้น อาศัยตัวอย่างจำนวนมากเพื่อทำความเข้าใจการเลี้ยงแมวให้ดีขึ้นในฐานะปัจจัยเสี่ยงเพื่อปรับเปลี่ยนความเสี่ยงสำหรับความผิดปกติทางจิต” นักวิจัยกล่าว