การศึกษา ชี้ การติดอาหารแปรรูป (อาจ) เทียบเท่ากับการติดบุหรี่

23 ต.ค. 2566 - 01:35

  • นักวิจัยกล่าวว่าอาหารแปรรูปสูงอาจทำให้เสพติดเหมือนบุหรี่

  • อาหารชนิดนี้เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรตขัดสีและไขมัน ซึ่งมีสารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง

  • ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าควรมีการควบคุมอาหารแปรรูปอย่างเข้มงวด เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเสพติด และส่งผลกระทบต่อวิกฤตโรคอ้วน

Study-found-high-processed-foods-may-be-as-addictive-as-smoking-SPACEBAR-Hero.jpg

การศึกษาล่าสุด ที่เผยแพร่ในวารสาร The BMJ  รายงานว่าอาหารแปรรูปสามารถทำให้ติดเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ โดยนักวิจัยกล่าวว่ามนุษย์ถูกดึงดูดให้บริโภคอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตขัดสีสูงและเติมไขมัน ซึ่งทำให้รู้สึกเหมือนได้รับรางวัลและพึงพอใจ คล้ายกับตอนที่ได้รับสารเสพติด เช่น นิโคติน 

นักวิจัยกล่าวว่า บางคนกินอาหารเหล่านี้ตามแรงผลักดันทางใจ และการบริโภคนั้นบางคนอาจตรงตามเกณฑ์การวินิจฉัย ‘ความผิดปกติในการใช้สารเสพติด’ (substance use disorder)  

การเสพติด และอาหารแปรรูปสูง

นักวิจัยพิจารณาที่การวิเคราะห์บทวิจารณ์ที่เป็นระบบ 2 ชิ้น ซึ่งประกอบด้วยการศึกษา 281 ชิ้น จาก 36 ประเทศ ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ นักวิจัยรายงานว่าตามมาตรฐานของ ‘Yale Food Addiction Scale’ ซึ่งเป็นการวัดระดับการติดอาหารของเยล สหรัฐอเมริกา พบว่า การติดอาหารแปรรูปสูง คาดว่าอยู่ที่ 14 % ในผู้ใหญ่ และ 12 % ในเด็ก  

นักวิจัย ได้เปรียบเทียบระดับของการติดสารที่ถูกกฎหมาย สำหรับผู้ใหญ่ติดแอลกอฮอล์ 14% และบุหรี่ 18% ส่วนระดับ 12% ในเด็ก ‘เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’  

‘การวัดระดับการติดอาหารของเยล’ กำหนดอาการตามเกณฑ์ ‘ความผิดปกติในการใช้สารเสพติด’ 11 อาการ เช่น ควบคุมการเสพเกินให้ลดลง ความอยาก การเลิก และใช้ต่อแม้จะเกิดผลเสีย 

ส่วนอาหารแปรรูปมีความเกี่ยวข้องกับ ‘กลไกชีวจิตวิทยาของการเสพติด และปัญหาทางคลินิกที่สำคัญ’ 

ในการวินิจฉัยผู้คนทางคลินิก จาก‘การวัดระดับการติดอาหารของเยล’ ระบุว่าผู้คนมีภาวะติดอาหาร 32% ในคนที่มีภาวะอ้วน ซึ่งผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก และมากกว่า 50% ในคนที่มีภาวะผิดปกติของการกินมากเกินไป 

ทำไมอาหารบางอย่างถึงสามารถเสพติดได้

ไม่ใช่อาหารทั้งหมดที่สามารถทำให้คนติดได้ แต่นักวิจัยระบุชนิดของอาหารที่สามารถทำให้ติดได้ อ้างอิงจากระบบการวัดของเยล ประกอบไปด้วยอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตขัดสีสูงหรือเติมไขมัน เช่น ขนมหวาน และขนมขบเคี้ยวเค็มๆ โดยถูกระบุว่าเป็นอาหารที่ ‘มีความเกี่ยวข้องมากที่สุด’ กับการเสพติด จากตัวชี้วัดทางพฤติกรรม เช่น กินมากเกินปกติ สูญเสียการควบคุมการกินมากเกินไป มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า และยังกินต่อแม้จะส่งผลเสียตามมา 

คาร์โบไฮเดรตขัดสี หรือไขมัน ทำให้เกิดความรู้สึก ‘ระดับเทียบเท่ากับการหลั่งสารโดปามีน หรือ สารรู้สึกดี จากศูนย์รางวัลในสมองส่วนที่เรียกว่า Striatum ซึ่งพบได้ในคนที่ติดสารเสพติด เช่น นิโคติน และแอลกอฮอล์’ 

คุณลักษณะของสารเสพติดในอาหารแปรรูปสูง

นักวิจัยกล่าวว่า อาหารแปรรูปสูง (อาหารที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมด้วยส่วนผสมที่มักไม่มีในครัวที่บ้าน) เป็นแหล่งสำคัญของคาร์โบไฮเดรตขัดสี และเติมไขมัน ในการกระบวนการผลิตยุคใหม่ 

การรวมกันของคาร์โบไฮเดรตขัดสี และไขมัน ดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Supra-additive Effect’ ส่งผลให้มีการหลั่งโดปามีนมากกว่าปกติ และได้รับความรู้สึกพึงพอใจเพิ่มขึ้น 

และความเร็วที่อาหารแปรรูปสูงส่งคาร์โบไฮเดรตและไขมันไปสู่ลำไส้ยังสะท้อนถึงความสามารถในการเสพติดด้วย ถ้าการส่งสารส่งผลต่อสมองเร็วขึ้น ก็หมายถึงสามารถที่จะเสพติดสูงขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบุหรี่ ซึ่งส่งสารนิโคตินไปสมองอย่างรวดเร็ว ถึงเสพติดมากกว่าแผ่นแปะนิโคตินที่ปล่อยออกมาช้าๆ  

นอกจากนี้ สารเติมแต่งในอาหารแปรรูปสูง ยังอาจทำให้กินแล้วติดด้วย ส่วนใหญ่มักเติมรสชาติเพิ่มขึ้นทั้งรสหวานและเพิ่มความอร่อย  

ผลกระทบต่อสุขภาพจากอาหารแปรรูปสูง

ดร.ซู อินโนนอก แพทย์ด้านอายุรศาสตร์ แห่ง Harbor Health เมืองออสติน รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ กล่าวว่า “การศึกษานี้เป็นการกระตุ้นให้ทำอะไรบางอย่าง จากอัตราภาวะอ้วนที่กำลังสูงขึ้นและกำลังเตือนเราอยู่ทั่วโลก” 

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอัตราภาวะอ้วนในกลุ่มชาติพันธุ์ และ/หรือกลุ่มคนด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้มากนัก” 

“ผู้เขียนยังอธิบายเพิ่มเติมถึงผลกระทบของคาร์โบไฮเดรตขัดสี และไขมันต่อระบบประสาทในสมองที่นำไปสู่การเสพติด ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญอย่างมากที่ทำให้เราเข้าใจว่าสารไหนในอาหารแปรรูปสูงและทำงานอย่างไรต่อวิถีสมองที่นำไปสู่ภาวะความผิดปกติในการใช้สารเสพติด” 

“ขณะที่ฉันกำลังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของอาหารแปรรูปสูงที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน และ/หรือ ภาวะแทรกซ้อนจากความอ้วน ตอนนี้ฉันยังกังวลด้วยว่ามันยิ่งเพิ่มความเสี่ยงภาวะติดอาหารด้วย ถ้าเราเข้าใจว่าสารไหนทำอันตรายต่อร่างกายของเรา เราก็จะสามารถจัดการกับสาเหตุของปัญหาผ่านช่องทางมากมายในสังคมของเราได้” ดร.อินโนนอก กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์