วิจัยชี้สัมผัสมลพิษทางอากาศนานๆ เพิ่มความเสี่ยงหดหู่ - วิตกกังวล

5 เม.ย. 2566 - 03:22

  • ทีมนักวิจัยศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลกับมลพิษทางอากาศ โดยพบว่าเมื่อมลพิษทางอาการเพิ่มขึ้น เคสซึมเศร้าและวิตกกังวลก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

study-reveals-links-between-uk-air-pollution-and-mental-ill-health-SPACEBAR-Thumbnail
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพอากาศกับสุขภาพจิตพบว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศแม้เพียงในระดับต่ำแป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล 

จากการติดตามภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในผู้ใหญ่เกือบ 500,000 คนในอังกฤษตลอดเวลา 11 ปี นักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยในออกซ์ฟอร์ดและปักกิ่ง และอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงกว่า มีแนวโน้มที่จะมีอาการต่างๆ แม้ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในเกณฑ์ที่ทางการกำหนดไว้ก็ตาม 

ทีมนักวิจัยระบุว่า ผลการวิจัยของพวกเขาชี้ให้เห็นว่า จำเป็นต้องมีมาตรฐานหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศ 

ทั้งนี้ คำแนะนำล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2021 ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่น PM 2.5 ที่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยจะต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นการปรับค่ามาตรฐานด้านคุณภาพอากาศเดิมของปี 2005 ที่อยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทว่าหลายประเทศยังกำหนดค่ามาตรฐานของตัวเองสูงกว่าของ WHO อาทิ อังกฤษ ไทย 

มลพิษทางอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจมานานแล้ว แต่นักวิจัยระบุว่าหลักฐานจำนวนมากขึ้นกำลังสร้างความเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางสุขภาพจิต ทว่าจนถึงตอนนี้การวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าเพียงชิ้นเดียวที่มีอยู่เป็นการลงมือวิจัยในภูมิภาคที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศเกินขีดจำกัดคุณภาพอากาศของสหราชอาณาจักร 

ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลของผู้เข้าร่วม 389,185 คนจากคลังข้อมูลชีวภาพของสหราชอาณาจักร (UK Biobank) แล้วนำมาทำแบบจำลองและให้คะแนนมลพิษทางอากาศ รวมทั้ง PM2.5 และ PM10 ไนโตรเจนไดออกไซด์ และไนตริกออกไซด์สำหรับพื้นที่ที่ผู้เข้าร่วมเหล่านี้อาศัยอยู่ โดยพบภาวะซึมเศร้า 13,131 เคส และวิตกกังวล 15,835 เคสในกลุ่มตัวอย่างภายในระยะเวลาที่ติดตาม 11 ปี  

การวิจัยพบว่า เมื่อมลพิษทางอาการเพิ่มขึ้น เคสซึมเศร้าและวิตกกังวลก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศแม้เพียงในระดับต่ำเป็นเวลานานมีแนวโน้มนำสู่การมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลเช่นเดียวกับการได้รับมลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่า  

ผลการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารสมาคมจิตแพย์แห่งอเมริการะบุว่า ผู้กำหนดนโยบาย “ควรนำมาตรฐานหรือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศมาใช้ในการกำหนดนโยบายในอนาคต เนื่องจากมาตรฐานคุณภาพอากาศของหลายประเทศยังคงสูงกว่าแนวทางคุณภาพอากาศทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุดปี 2021” 

แอนนา แฮนเซลล์ ศาสตราจารย์ด้านวิทยาการระบาดสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้เผยว่า การศึกษานี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่สนับสนุนการลดข้อจำกัดทางกฎหมายต่อมลพิษทางอากาศ “การวิจัยนี้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมลพิษทางอากาศต่อสมอง คณะกรรมการด้านผลกระทบด้านการแพทย์จากมลพิษทางอากาศรายงานในปี 2022 เกี่ยวกับหลักฐานของความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับภาวะสมองเสื่อม โดยสรุปว่าความเชื่อมโยงดังกล่าวน่าจะเป็นสาเหตุ” 

“อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับมลพิษและสุขภาพจิตค่อนข้างน้อย การวิจัยชิ้นล่าสุดที่ทำอย่างดีนี้พบความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและภาวะซึมศร้าและวิตกกังวลในสหราชอาณาจักร ซึ่งเผชิญกับมลพิษทางอากาศน้อยกว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์