อายุน้อยก็ตายได้! วิจัยใหม่เผยฝุ่น PM 2.5 ทำให้วัยรุ่นเป็นเส้นเลือดสมองแตกได้

9 ก.พ. 2566 - 08:02

  • การสัมผัสกับฝุ่นละออง 2.5 นั้นอาจทำให้ความดันโลหิตสูง และการได้รับไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่สูงก็อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำในวัยรุ่นด้วย

  • ความดันโลหิตต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาในทันที เช่น มึนงง เหนื่อยล้า ตาพร่ามัว และเวียนศีรษะ ส่วนความดันโลหิตสูงในวัยรุ่นก็สามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย

Study-says-common-kinds-of-air-pollution-led-to-changes-in-teens-blood-pressure-SPACEBAR-Thumbnail
สำนักข่าว CNN รายงานว่า ผลการศึกษาใหม่แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศที่นอกจากจะทำให้หายใจลำบาก และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น มะเร็งแล้ว ยังอาจส่งผลเสียต่อความดันโลหิตของวัยรุ่นด้วย 

จากการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ PLOS One เมื่อวันพุธ (8 ก.พ.) ที่ผ่านมา พบว่า การสัมผัสกับฝุ่นละออง 2.5 หรือที่เรียกว่ามลพิษฝุ่นละอองอนุภาคเล็กนั้นอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และการได้รับไนโตรเจนไดออกไซด์ (มลพิษที่อยู่ในฝุ่น หมอกควัน) ในระดับที่สูงขึ้นนั้นก็อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำในวัยรุ่นด้วย ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า “ผลกระทบคือ ‘มาก’ ” 

โดยทั่วไป ความดันโลหิตต่ำอาจทำให้เกิดปัญหาในทันที เช่น มึนงง เหนื่อยล้า ตาพร่ามัว และเวียนศีรษะ ส่วนความดันโลหิตสูงในวัยรุ่นก็สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพไปตลอดชีวิต รวมถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นของโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงชั้นนำของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลก 

แต่การศึกษาดังกล่าวไม่ได้พิจารณาว่าวัยรุ่นมีอาการหรือผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตหรือไม่ 

นักวิจัยติดตามสุขภาพของเด็กกลุ่มใหญ่และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่า 3,200 คนในลอนดอน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมทั้งเปรียบเทียบบันทึกของพวกเขากับการสัมผัสกับมลพิษตามระดับมลพิษประจำปีที่พวกเขาอาศัยอยู่ โดยพบว่า มลพิษของไนโตรเจนไดออกไซด์มักเกิดจากการเผาไหม้และหมอกควันที่เกี่ยวข้องกับการจราจร รวมถึงไฟป่า โรงไฟฟ้า และไฟถ่านหิน ซึ่งจากการศึกษาระบุว่า ไนโตรเจนส่วนใหญ่มาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล 

ไนโตรเจนอาจช่วยให้พืชเจริญเติบโต แต่อาจทำให้ความสามารถในการหายใจของมนุษย์ลดลงและสร้างความเสียหายต่อทางเดินหายใจของมนุษย์ได้  

การศึกษา ระบุเพิ่มอีกว่า ความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสมลพิษและการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตในเด็กผู้หญิงนั้นมีมากกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งนักวิจัยไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่พบว่า 30% ของผู้หญิงที่เข้าร่วมวิจัยออกกำลังกายน้อยที่สุดในกลุ่ม และสิ่งนี้อาจส่งผลต่อความดันโลหิต 

แม้ว่าการศึกษาจะยังระบุไม่ได้ว่าทำไมความดันโลหิตของวัยรุ่นจึงเปลี่ยนแปลงตามการสัมผัสมลพิษ แต่งานวิจัยอื่นๆ พบว่า การสัมผัสกับมลพิษทางอากาศอาจส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดการอักเสบและทำลายเซลล์ของร่างกาย นอกจากนี้ การสัมผัสมลพิษอนุภาคเล็กยังสามารถเข้าไปแทรกแซงจังหวะการเต้นของหัวใจได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความดันโลหิต  

ในการศึกษาใหม่ ระบุอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษและความดันโลหิตมีความสอดคล้องกัน โดยขนาดของร่างกาย สถานะทางสังคมและเชื้อชาติก็ไม่ได้เปลี่ยนผลลัพธ์นั้นแต่อย่างใด  

อย่างไรก็ดี การศึกษานี้จำกัดแค่เฉพาะวัยรุ่นในลอนดอนเท่านั้น และมีเพียง 8% ที่เป็นคนผิวสีซึ่งพบว่าเด็กเหล่านี้เผชิญกับมลพิษในระดับที่สูงกว่าเด็กผิวขาว 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แนะนำว่าวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงของวัยรุ่นต่อปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ นั่นก็คือ การลงทุนในเครื่องฟอกอากาศแบบพกพาที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการลดมลพิษทางอากาศภายในอาคาร แม้ว่าตัวกรองจะไม่สามารถขจัดปัญหาทั้งหมดได้ก็ตาม  

“มลพิษทางอากาศจำนวนมากเหล่านี้มักจะจับตัวกันเป็นก้อนในย่านที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่เราต้องการจับตาดูอย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ เนื่องจากมันส่งผลกระทบต่อประชากรบางกลุ่มมากกว่าผู้คนในพื้นที่อื่นๆ”  

“ประเด็นสำคัญของผม คือ สารพิษเหล่านี้ดูเหมือนจะมีผลกระทบทางสรีรวิทยาต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างชัดเจน และการจัดการใดๆ ควรคำนึงถึงบริบทของข้อกังวลดังกล่าวด้วย” ดร.ปานากิส กาเลียตซาทอส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์การดูแลปอดและเวชบำบัดวิกฤตที่สถาบันแพทย์ Johns Hopkins Medicine กล่าว 

อย่างไรก็ดี ความดันโลหิตเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการติดตามปัญหาสุขภาพและกระบวนการที่ซับซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในร่างกาย 

ดร.ซีโรมานี ฮาร์ดิง ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน  กล่าวว่า “เนื่องจากมีผู้อายุต่ำกว่า 18 ปีมีมากกว่า 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในย่านละแวกลอนดอน ซึ่งมีมลพิษทางอากาศสูงกว่ามาตรฐานด้านสุขภาพที่แนะนำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมเหล่านี้เพื่อให้เข้าใจปัญหาเชิงลึกเกี่ยวกับภัยคุกคามและโอกาสในการพัฒนาเยาวชน” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์