จับตาดวงอาทิตย์ปะทุ 4 ครั้งซ้อน อาจส่งพายุสุริยะมาถึงโลกวันนี้พรุ่งนี้

25 เมษายน 2567 - 08:30

sun-blasted-out-4-eruptions-same-time-plasma-hurtling-toward-earth-SPACEBAR-Hero.jpg
  • นาซาเผยภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ เปลวสุริยะปะทุพร้อมๆ กันถึง 4 จุดบนดวงอาทิตย์

  • ผู้เชี่ยวชาญเตือนการปะทุนี้อาจส่งผลกับสนามแม่เหล็กของโลกภายในวันสองวันนี้

  • ปรากฏการณ์นี้ช่วยให้แถบซีกโลกใต้เห็นแสงเหนืได้ชัดเจนขึ้น 

ดาวเทียมสำรวจกิจกรรมต่างๆ ของดวงอาทิตย์ (Solar Dynamics Observatory) ขององค์การนาซา จับภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจระหว่างที่เปลวสุริยะปะทุพร้อมๆ กันถึง 4 จุดบนดวงอาทิตย์ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นราว 01.00 น.ของวันอังคารที่ 23 ที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐฯ หรือตรงกับ 12.00 น. ตามเวลาไทย   

การปะทุทั้ง 4 จุดในเวลาไล่เลี่ยกันนี้เกิดขึ้นบนจุดของดวงอาทิตย์ 3 จุด และอีก 1 จุดบริเวณเส้นใยแม่เหล็ก (filament-วงแหวนของแก๊สที่ลอยอยู่เหนือพื้นผิวดวงอาทิตย์) ที่อยู่ระหว่างจุดดำทั้ง 3 จุด 

จุดที่เกิดการปะทุแต่ละจุดอยู่ห่างกันหลายแสนไมล์ และกินพื้นที่ราว 1 ใน 3 ของพื้นผิวดวงอาทิตย์ที่หันเข้าหาโลก ด้วยเหตุนี้เว็บไซต์ Spaceweather.com ที่รายงานสภาพต่างๆ ของดวงอาทิตย์จึงเตือนว่า การปะทุนี้อาจส่งผลกับสนามแม่เหล็กของโลก 

การปะทุพร้อมกันนี้เรียกว่า “เปลวสุริยะที่เกิดขึ้นพร้อมกัน” จะเกิดขึ้นเมื่อจุดมืดของดวงอาทิตย์หรือเส้นใยแม่เหล็กเชื่อมต่อกับวงแหวนสนามแม่เหล็กที่ลอยโค้งอยู่เหนือพื้นผิวของดวงอาทิตย์ เมื่อจุดหนึ่งปะทุขึ้น จุดอื่นๆ ก็จะปะทุตามมาในเวลาไล่เลี่ยกัน 

การปะทุในลักษณะนี้เกือบทุกครั้ง จะปะทุเชื่อมโยงกันเพียง 2 จุดเท่านั้น และอาจมีความรุนแรงตั้งแต่การปะทุเล็กๆ ไปจนถึงการปะทุระดับ X ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดที่ดวงอาทิตย์จะปะทุได้ แต่ในการปะทุครั้งล่าสุดนี้มีการปะทุมากกว่าปกติถึง 2 เท่า จึงนับว่าเป็นการปะทุที่ “เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างยิ่ง”

sun-blasted-out-4-eruptions-same-time-plasma-hurtling-toward-earth-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: พื้นที่ 4 จุดที่เกิดการปะทุ Photo by NASA

Spaceweather.com รายงานว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าความรุนแรงของการปะทุรวมกันอยู่ในระดับใด แต่หากพิจารณาจากพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ที่จุดมืดของดวงอาทิตย์ครอบคลุม ก็มีโอกาสที่อย่างน้อยเศษชิ้นส่วนบางชิ้นอาจมุ่งหน้ามายังโลก 

ชิ้นส่วนที่ว่านี้อาจเป็นกลุ่มพลาสมาและรังสีที่ปล่อยออกมาจากการปะทุที่เรียกว่า การปลดปล่อยสสารในสถานะพลาสมา (Plasma) ออกมายังชั้นบรรยากาศโคโรนาของดาวฤกษ์ (CME) หากเป็นเช่นนั้น CME อาจพุ่งใส่โลกในวันสองวันนี้ ซึ่ง Spaceweather.com ระบุว่า อาจเป็นวันที่ 26  

การปะทุครั้งนี้นับเป็นการปะทุพร้อมๆ กันครั้งที่ 3 เป็นอย่างน้อยในปีนี้ หลังจากเกิดการปะทุพร้อมกัน 2 จุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และการปะทุระดับ X เมื่อเดือนมีนาคม 

การศึกษาเมื่อปี 2022 ที่วิเคราะห์ข้อมูลการปะทุของดวงอาทิตย์ในช่วงเกือบ 40 ปีพบว่า การปะทุพร้อมๆ กันนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ดวงอาทิตย์ช่วงที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยพลังงานมากที่สุด (solar maximum) ซึ่งจะเกิดขึ้นราวทุกๆ 11 ปีวัฏจักรสุริยะ โดยนักวิจัยบางคนเชื่อว่าช่วง solar maximum เกิดขึ้นแล้ว.ในปีนี้และเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ราว 1 ปี 

นอกเหนือจากการเกิดพายุสุริยะที่ถี่และทรงพลังมากขึ้นแล้ว ปรากฏการณ์ solar maximum ยังเพิ่มจำนวนจุดมืดบนดวงอาทิตย์ด้วย EarthSky ระบุว่า อย่างน้อยเมื่อช่วงวันอังคาร (23) มีกลุ่มจุดมืดเกิดขึ้นบนด้านใกล้ของดวงอาทิตย์ 14 จุด ถือเป็นจำนวนจุดมืดที่มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มต้นวัฏจักรสุริยะรอบปัจจุบันในปี 2019

ส่วนเศษชิ้นส่วนของการปะทุจะส่งผลกับสนามแม่เหล็กของโลกอย่างไร และจะเป็นอันตรายกับดาวเทียมหรือยานอวกาศที่โคจรอยู่รอบๆ ดาวเคราะห์ของเราหรือไม่ยังต้องจับตากันต่อไป 

หากเศษชิ้นส่วนที่ว่าเดินทางมาถึงโลกจริงอาจทำให้สัญญาณวิทยุและจีพีเอสทั่วโลกขัดข้อง แต่ก็มีข้อดีคือ ทำให้แสงเหนือปรากฏชัดเจนขึ้นในแถบขั้วโลกใต้ 

ศูนย์พยากรณ์สภาพภูมิอากาศอวกาศ (SWPC) ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ระบุว่า มีเหตุสัญญาณวิทยุขัดข้องหลังเกิดการปะทุเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมา แต่รายงานไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าทั้งสองเหตุการเกี่ยวข้องกันหรือไม่ และการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดของดวงอาทิตย์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วทำให้การสื่อสารทางวิทยุขัดข้อง 

แมทธิว โอเวนส์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์อวกาศจากมหาวิทยาลัยเรดดิงเผยกับ Business Insider ว่า “สิ่งเหล่านี้พยากรณ์ได้ยากมาก แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดปฏิกิริยาสนามแม่เหล็กจากเหตุการณ์นี้มากนัก เราอาจได้รับผลกระทบจากหนึ่งในนั้นภายในวันสองวันนี้” 

โจนาธาน แลช นักพยากรณ์ของ SWPC เผยว่า พายุสุริยะอาจทำให้การส่งสัญญาณวิทยุคลื่นความถี่สูงมีปัญหา อาทิ เครื่องบินที่พยายามสื่อสารกับหอควบคุมการบินที่อยู่ห่างกัน แต่เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่สามารถใช้การส่งสัญญาณดาวเทียมแทนได้ ผู้ให้บริการดาวเทียมอาจมีปัญหาในการติดตามยานอวกาศ และโครงข่ายไฟฟ้าอาจเกิดกระแสเหนี่ยวนำในสายไฟ แต่ก็ไม่มีอะไรที่แก้ปัญหาไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี จนถึงเช้าวันพุธ SWPC ยังไม่ได้พยากรณ์ว่าจะเกิดพายุสุริยะในช่วง 3 วันนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์