วิกฤตสัตว์ต่างถิ่นบุก! ที่ไทยมี ‘อีกัวน่า’ ที่แคนาดามี ‘หมูป่า’ แถมยังดุไม่เบา

24 พ.ย. 2566 - 00:00

  • ประชากรหมูป่าในแคนาดากำลังขยายจำนวนอย่างรวดเร็วจนลุกลามไปหลายรัฐ และกำลังลามไปถึงสหรัฐฯ ด้วย

super-pigs-in-canada-threatening-invade-us-SPACEBAR-Hero.jpg

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเผชิญกับ ‘อีกัวน่าเขียว’ สัตว์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ที่บุกสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จ.ลพบุรี จากการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วและไปกัดกินพืชผักของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งกวาดล้างและสำรวจประชากรอีกัวน่าในพื้นที่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ท้องถิ่น รวมถึงป้องกันการแพร่เชื้อโรคด้วย  

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ค่อยมีความเกรงกลัวต่อสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้เท่าไหร่นัก อาจจะเพราะ ‘คนไทย’ ถือเป็นสุดยอดมนุษย์นักปรับตัว แต่กับต่างประเทศที่เขาต้องเผชิญกับสัตว์ต่างถิ่นนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่จะปรับตัวได้ง่ายๆ นัก ดังเช่นใน ‘แคนาดา’ ที่ในขณะนี้ประชากร ‘หมูป่า’ กำลังขยายจำนวนอย่างรวดเร็วและกำลังจะล้นทะลักจากชายแดนทางใต้ของแคนาดา บรรดารัฐทางตอนเหนือของสหรัฐฯ อย่าง มินนิโซตา นอร์ทดาโกตา และมอนทานา ซึ่งมีพรมแดนติดกันต่างก็มีมาตรการรับมือ 

หมูป่าที่อาศัยอยู่ในรัฐอัลเบอร์ตา รัฐซัสแคตเชวัน และรัฐแมนิโทบา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแคนาดา กำลังสร้างภัยคุกคามครั้งใหม่ ด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์จนเกิดเป็นหมูป่าสายพันธุ์ใหม่ที่มีทักษะการเอาชีวิตรอดของหมูป่าเอเชีย กับขนาดและความอุดมสมบูรณ์ของหมูในประเทศ กลายเป็น ‘ซุปเปอร์หมู’ ที่แพร่กระจายจนควบคุมไม่ได้ 

ไรอัน บรูก ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน และสมาชิกของหน่วยงานที่แก้ไขปัญหานี้ เรียกหมูป่าเหล่านี้ว่าเป็น ‘สัตว์ที่รุกรานมากที่สุดในโลก’ และ ‘ตัวทำลายระบบนิเวศ’ 

“หมูป่าไม่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แม้ว่าพวกมันจะอาศัยอยู่ในบางส่วนของทวีปมานานหลายศตวรรษ แต่ปัญหาของแคนาดาเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ที่แคนาดาสนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงหมูป่า หลังจากนั้นตลาดหมูป่าก็ขึ้นไปอยู่ที่จุดสูงสุดในปี 2001 และพังทลายลง เกษตรกรบางส่วนที่เลิกทำฟาร์มจึงปล่อยพวกมันสู่ธรรมชาติิ” บรูกกล่าว 

ปรากฎว่าหมูเหล่านี้สามารถเอาชีวิตรอดในฤดูหนาวของแคนาดาได้ดีมาก พวกมันฉลาด ปรับตัวได้ และมีขนยาว กินได้ทุกอย่าง รวมถึงพืชผลและสัตว์ป่า พวกมันสามารถแพร่กระจายโรคร้ายแรงไปยังฟาร์มสุกร เช่น อหิวาต์สุกรแอฟริกัน และพวกมันก็สามารถสืบพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว แม่หมูป่าสามารถมีลูกหมูได้ครั้งละ 6 ตัว และสามารถมีลูกได้ราว 2 ครั้งต่อปี  

แม้ว่าจะมีการฆ่าหมูป่า 65% หรือมากกว่านั้นทุกปี มันก็ยังจะเพิ่มจำนวนขึ้นได้เรื่อยๆ บรูกเล่าว่า การล่าสัตว์ทำให้ปัญหาแย่ลง อัตราความสำเร็จของนักล่าอยู่ที่ประมาณ 2% ถึง 3% และหลายรัฐได้สั่งห้ามการล่าสัตว์เพราะมันทำให้หมูป่ารู้จักระมัดระวัง และมาออกหากินเวลากลางคืนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลทำงานยากขึ้นในการติดตามและกำจัด 

หมูป่าสร้างความเสียหายให้กับพืชผลของสหรัฐฯ ประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางใต้ เช่น เท็กซัส และพวกมันก็ดุร้ายขนาดฆ่ามนุษย์ได้ด้วย โดยในปี 2019 ผู้หญิงคนหนึ่งในเท็กซัสถูกหมูป่าฆ่าตาย 

บรูกบอกว่า การกำจัดหมูป่าไม่สามารถทำได้อีกต่อไปในแมนิโทบาและซัสแคตเชวัน แต่สถานการณ์ไม่ได้สิ้นหวังในทุกที่ และรัฐบางแห่งในสหรัฐฯ ก็ได้กำจัดออกไปบ้างแล้ว ซึ่งกุญแจสำคัญคือการมีระบบตรวจจับที่สามารถตรวจจับพวกมันได้อย่างรวดเร็ว 

บรูกและเพื่อนร่วมงานของเขาได้บันทึกการพบเห็นหมูป่า 62,000 ตัวในแคนาดา จากการสำรวจทางอากาศของพวกเขาพบเห็นพวกมันทั้ง 2 ฝั่งของชายแดนแคนาดา-นอร์ทดาโกตา นอกจากนี้ พวกเขายังได้บันทึกการพบเห็นในแมนิโทบาภายในรัศมี 28 กิโลเมตรจากมินนิโซตา 

ถึงอย่างนั้น รัฐมอนทานาก็จริงจังที่สุดในการกำจัดหมูป่า โดยห้ามการเลี้ยง และขนส่งหมูป่าภายในรัฐ นั่นอาจรวมถึงกับดักพื้นดินขนาดใหญ่ที่ชื่อ ‘BoarBuster’ หรือปืนตาข่ายที่ยิงจากเฮลิคอปเตอร์ บางรัฐใช้โปรแกรมติดตาม ‘Squeal on Pigs’ ที่รวบรวมข้อมูลจากมวลชน นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังได้ศึกษาสารพิษ เช่น โซเดียมไนไตรท์ แต่มันก็มีความเสี่ยงกับสัตว์ชนิดอื่นๆ  

รัฐมินนิโซตาถูกประกาศให้เป็นรัฐที่กำจัดหมูป่าได้แล้ว หลังจากในปี 2016 ที่ USDA Wildlife Services ได้สังหารกลุ่มหมูป่าที่เร่ร่อนออกจากฟาร์มและกลายเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมดุร้าย ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่พวกมันจะเริ่มขยายพันธุ์และทำลายเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า  

แกรี นอร์เรนเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสัตว์ป่าของรัฐมินนิโซตาบอกว่า เท่าที่เขารู้ เขายังไม่เจอหมูป่าจริงๆ เข้ามาในรัฐของเขาเลย  

ตามรายงานของ USDA มีรายงานหมูป่าดุร้ายในอย่างน้อย 35 รัฐ หน่วยงานประเมินว่าประชากรหมูป่าในรัฐเหล่านั้นมีจำนวนประมาณ 6 ล้านตัว  

นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการการจัดการหมูป่าดุร้ายแห่งชาติในปี 2014 USDA ได้ให้เงินทุนแก่ 33 รัฐ ไมค์ มาร์โลว์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการกล่าวว่า เป้าหมายของพวกเขาคือกำจัดหมูป่าเพื่อจำกัดความเสียหายในพื้นที่้ ซึ่งเริ่มแล้วในเท็กซัส และรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้  

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ประสบความสำเร็จในบางรัฐที่มีประชากรน้อย เช่น เวอร์มอนต์ นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย นิวแฮมป์เชียร์ วิสคอนซิน และวอชิงตัน สัตว์เหล่านี้ถูกพบเห็นเป็นครั้งคราวและถูกฆ่าอย่างรวดเร็วในนอร์ทดาโคตา 

Photo by MENAHEM KAHANA / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์