นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้แบงก์ชาติอาจเจอรัฐบาลใหม่กดดันให้ลดดอกเบี้ยอีก

21 ส.ค. 2567 - 07:06

  • นับตั้งแต่สภาโหวตให้นั่งเก้าอี้นายกฯ เมื่อวันศุกร์นายกฯ แพทองธารยังไม่ได้เอ่ยถึงแบงก์ชาติเลย หลังเคยบอกว่าความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็น “อุปสรรค” ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

  • นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า แรงกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ 

thai-central-bank-face-more-rate-cut-pressure-from-new-pm-SPACEBAR-Hero.jpg

ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) พร้อมคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดี แต่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอาจก่อให้เกิดแรงกดดันรอบใหม่ให้ปรับลดดอกเบี้ย 

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่และสมาชิกตระกูลชินวัตรคนที่ 3 ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของไทย ให้คำมั่นว่าจะนำพาประเทศไทยออกจากวิกฤตเศรษฐกิจ แม้จะบอกว่ายังต้องศึกษานโยบายที่รัฐบาลก่อนประกาศไว้เพิ่มเติมก็ตาม 

แพทองธารอาจต้องพึ่งพาแบงก์ชาติให้ลดดอกเบี้ยเช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ถึงอย่างนั้นนับตั้งแต่สภาโหวตให้นั่งเก้าอี้นายกฯ เมื่อวันศุกร์เธอก็ยังไม่ได้เอ่ยถึงแบงก์ชาติเลย โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแพทองธารวิจารณ์แบงก์ชาติที่ไม่ลดดอกเบี้ยตามที่รัฐบาลเศรษฐาเรียกร้อง โดยบอกว่าความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็น “อุปสรรค” ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

สมประวิณ มันประเสริฐ จากธนาคารไทยพาณิชย์เผยกับ Bloomberg ว่า “แรงกดดันที่มีต่อแบงก์ชาติน่าจะยังคงอยู่ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่ดี รัฐบาลจะยังคงผลักดันการประสานงานระหว่างนโยบายการคลัง การเงิน รวมถึงการผ่อนผันนโยบายต่อไป” 

เศรษฐกิจของไทยซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนเติบโต 2.3% ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนเมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อนหน้า นับว่าเติบโตเร็วที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส แต่ ทามารา เฮนเดอร์สัน จาก Bloomberg Economics เผยว่า นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแรงกดดันที่จะให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยจะน้อยลง 

การแทรกแซง 

เฮนเดอร์สันเผยว่า “ลึกๆ แล้วความต้องการใช้จ่ายในประเทศลดลง นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ยังมีท่าทีเดียวกันต่อการแทรกแซงแบงก์ชาติ” 

การเข้ามาของแพทองธารทำให้เกิดความกังวลว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ความตึงเครียดใดๆ ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติมีแต่จะส่งผลกระทบกับตลาดการเงินที่ยังซวนเซจากความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนหน้านี้ตลาดเกิดความระส่ำระสายตอนที่เศรษฐามึนตึงกับแบงก์ชาติที่ยืนยันว่าจะไม่ลดดอกเบี้ยและคัดค้านการแจกเงินดิจิทัล 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

และอดีตนายกฯ จากตระกูลชินวัตรก็เคยมีประวัติงัดข้อกับแบงก์ชาติ ทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ต่างก็ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อให้ตัวเลขเศรษฐกิจโตมากๆ และกดดันแบงก์ชาติด้วย 

ปี 2001 ทักษิณไล่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกหลังไม่ยอมขึ้นดอกเบี้ย ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็มีแคมเปญกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 

แพทองธารเข้ามารับช่วงในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีตัวเลขการเติบโตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากหนี้ครัวเรือนและธุรกิจฟื้นตัวช้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ครั้งล่าสุดที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากกว่า 5% เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อนที่ทหารจะเข้ามาปกครองต่ออีกเกือบ 10 ปี และนั่นเป็นรื่องยากสำหรับแพทองธาร เนื่องจากบางภาคส่วนยังไม่ฟื้น อีกทั้งภาคการผลิตของไทยที่เคยคึกคักกลับต้องระส่ำกับการทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน 

อิทธิพลใหญ่ 

แนวทางของแพทองธารในเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเช่นกัน เนื่องจากพ่อของเธอมีอิทธิพล ช่วงก่อนที่แพทองธารจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ อย่างเป็นทางการ ก็มีรายงานจากสื่อท้องถิ่นอ้างว่าทักษิณสั่งให้ลูกสาวยกเลิกนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางกฎหมายที่ไม่พึงประสงค์ 

คริสตัล ตัน นักเศรษฐศาสตร์ของ Australia & New Zealand Banking Group เผยว่า “หากยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ออกมาแทน อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น” 

รัฐบาลใหม่อาจพยายามควบคุมแบงก์ชาติมากขึ้นด้วยการตั้งนอมินีของตัวเองเป็นผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่หลังผู้ว่าฯ คนปัจจุบันหมดวาระในเดือนหน้า หรือต่อให้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติไม่มีอิทธิพลต่อนโยบายการเงิน แต่รัฐบาลก็ยังมีสิทธิ์ประเมินผลการทำงานของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติอยู่ดี รวมทั้งมีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกคณะกรรมการนโยบายการเงิน 

ช่วง 11 เดือนในตำแหน่งของอดีตนายกฯ เศรษฐาคนไทยได้เห็นคนใกล้ชิดรวมทั้ง พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติจาก 1% เป็น 3% ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นให้ลดดอกเบี้ย 

มิเกล ชานโก นักเศรษฐศาสตร์จาก Pantheon Macroeconomics ที่คาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในการประชุมของแบงก์ชาติในวันนี้เผยว่า “ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติจะยังคงอยู่จนกว่าแบงก์ชาติจะเริ่มปรับนโยบายให้เป็นมาตรฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความตึงเครียดเหล่านี้อาจบรรเทาลงหากนายกฯ คนใหม่ตัดสินใจยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต” 

Photo by Chanakarn LAOSARAKHAM / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์