หลายปีที่ผ่านมาหุ้นไทยยืนหยัดในฐานะตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วันนี้เรื่องราวกลับตรงกันข้าม เพราะจากข้อมูลของ Bloomberg ตลาดหุ้นไทยกำลังจะเสียแชมป์เบอร์ 2 ให้กับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ช่องว่างระหว่างไทยกับสิงคโปร์ห่างกันมาก เมื่อ 1 ปีก่อนมูลค่าตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ของสิงคโปร์อยู่ที่ 125,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่ตลาดหุ้นไทยดิ่งหนักขนาดนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ทั้งความล้มเหลวทางการเมืองและกฎหมาย รายได้จากการท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการประพฤติมิชอบของบริษัท ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถูกเทขายออกไปถึง 14% สูงที่สุดในบรรดาตลาดหุ้นชั้นน้ำของโลก
อลัน ริชาร์ดสัน ผู้จัดการกองทุนของ Samsung Asset Management เผยกับ Bloomberg ว่า “ตลาดจะยังคงเป็นกับดักมูลค่า (value trap คือ การลงทุนในหุ้นเพราะคิดว่าหุ้นราคาถูก ทั้งที่ความจริงไม่เป็นแบบนั้น) จนกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ขององค์กรจะดีขึ้น”
ข้อมูลระบุว่า วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (25 ก.ค.) มูลค่าของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวมกันอยู่ที่ 440,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนของสิงคโปร์อยู่ที่ 426,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และของมาเลเซียอยู่ที่ 422,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นของอินโดนีเซียซึ่งมีมูลค่าราว 478,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่สุดในภูมิภาคมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021
แต่อะไรๆ กลับไม่เป็นเหมือนที่คิดไว้ ตอนที่ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการกำจัดโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2022 บรรดานักลงทุนพากันคาดการณ์ว่าการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้ แต่มาตรการสกัดโควิด-19 ที่เข้มงวดของจีนและเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอทำให้นักท่องเที่ยวจากจีนซึ่งเคยมีสัดส่วนถึง 25% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด เข้าไทยน้อย ซ้ำยังใช้จ่ายน้อยลงด้วย
Bloomberg รายงานอีกว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองกรณีนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะถูกปลดออกจากตำแหน่งหรือไม่ และนโยบายที่ล่าช้ารวมทั้งโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล้วนมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มดำเนินการต่างๆ รวมทั้งการปฏิรูปเพื่อป้องกันการละเมิดตลาดและปรับปรุงประสิทธิภาพ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของตลาด
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของ Bloomberg นักลงทุนทั่วโลกก็ยังไม่มั่นใจ ตั้งแต่ปีนี้นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นไทยไปแล้วเกือบ 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบจะเท่ากับตัวเลขของปีที่แล้วที่เกิดการเทขายมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2020 แล้วพากันขนเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นมาเลเซียราว 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมาเลเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้า) ขณะที่ข้อมูลของ EPFR ระบุว่า ปีที่แล้วนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นสิงคโปร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
“เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องและวินัยทางการคลังก็หายไปในรัฐบาลชุดนี้ มีที่อื่นในเอเชียที่มีโอกาสดีกว่านี้”
แซท ดูห์รา ผู้จัดการกองทุนของ Janus Henderson Group
โดยปกติหุ้นไทยจะซื้อขายกันในราคาสูงกว่าในตลาดหุ้นมาเลเซีย แต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิเฉลี่ยน 12 เดือนล่วงหน้าของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกลับถูกกว่าดัชนี FTSE Bursa Malaysia KLCI Index ของมาเลเซียเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดที่คำนวณโดย Bloomberg จะรวมเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายคล่อง (actively traded) หลักทรัพย์หลักในตลาดหลัดทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงการนับซ้ำ ซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาต่ำกว่าแหล่งอื่นๆ และไม่รวม ETFs และ ADRs เนื่องจากไม่ได้สะท้อนบริษัทโดยตรง บางรายงานระบุว่า มูลค่าตลาดของสิงคโปร์แซงหน้าของไทยไปแล้ว
สาเหตุที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์มีมูลค่าเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากหุ้นธนาคารที่ขยับขึ้นครั้งใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ก่อนการจ่ายเงินปันผลและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนี้ Straits Times ของสิงคโปร์ขยับขึ้น 6% ในปีนี้ ขณะที่ตลาดหุ้นมาเลเซียได้อานิสงส์จากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จากการเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับ AI และศูนย์กลางซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ ดัชนี KLCI ของมาเลเซียปรับขึ้น 11% ในปีนี้ซึ่งแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค
ในอนาคต แนวโน้มของประเทศไทยยังคลุมเครือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นไปทางการเมืองใดๆ ที่อาจต้องใช้เวลาในการคลี่คลาย “ความแน่นอนทางการเมืองและนโยบายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงในระดับมหพภาคซึ่งอาจพานักลงทุนกลับมา” เคนเนธ ตั้ง ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนระดับอาวุโสของ Nikko Asset Management เผย
Photo by AFP / Romeo GACAD