ตอนนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยเจอศึกหนัก ทั้งสงครามราคา ค่ายรถญี่ปุ่นในไทยลดกำลังการผลิต และปิดไลน์การผลิตให้เหลือน้อยที่สุด หลังผู้ผลิตรถไฟฟ้า (EV) จากจีนแห่ตั้งโรงงานผลิตในไทย หนีปัญหาถูกเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูงจากยุโรปและสหรัฐฯ
หม่าไห่หยาง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท GAC Aion ค่ายรถไฟฟ้าจากจีนและเพื่อนร่วมงาน 8 คนเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อปีก่อน เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถของบริษัทแห่งแรกในไทย ซึ่งตอนนั้นไม่มีทั้งออฟฟิศ ไม่มีโรงงานผลิต ไม่มีพนักงานในไทย ที่สำคัญพวกเขาไม่รู้อะไรเลย
ทีมงานจากไอออนตั้งช็อปในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สั่งการจากห้องประชุมและจัดการประชุมในล็อบบี้ของโรงแรม พวกเขามีงานมากมายที่ต้องทำ ทั้งหาทำเลดีๆ เพื่อตั้งออฟฟิศ รับสมัครตัวแทนจำหน่ายรถและวางแผนกลยุทธทางธุรกิจ ทีมงานทำงาน 24 ชั่วโมง ตลอด 74 วันหลังเดินทางถึงประเทศไทยและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้คันแรก
“โอกาสที่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานใหม่จากจีนจะทำตลาดในต่างประเทศค่อนข้างมีน้อย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเร่งมือในการทำทุกอย่าง” หม่า ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท GAC Aion ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
ไทยกลายเป็น “ตลาดหลัก” ค่ายรถอีวีจีน
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ไม่ได้มีแค่ GAC Aion แห่งเดียว ยังมีค่ายรถจากจีนอีกหลายแห่งที่กำลังขยายฐานการผลิตไปตลาดต่างประเทศ โดยไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่กำลังเจอการไหลบ่าเข้ามาของแบรนด์รถไฟฟ้าจากจีน ทั้งยังเผชิญหน้ากับการแข่งขันอันดุเดือด และการตั้งเป้าที่ทะเยอะทะยาน แน่นอนว่าย่อมนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่อุตสหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
การบุกตลาดรถในไทยของค่ายรถจากจีนปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ทั่ว ทั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่ติดตามที่ต่างๆ ราคาที่ดินที่พากันปรับตัวขึ้นเพราะบริษัทจีนจำนวนมากพากันมากว้านซื้อที่เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ช่วยให้ค่ายรถจีนมียอดขายและเป็นที่นิยมมากกว่าค่ายรถสัญชาติอื่นในตลาดโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับรถอีวี และสหรัฐฯ ซึ่งมีค่ายรถไฟฟ้าชั้นนำอย่างเทสลาเป็นผู้นำตลาดอยู่
ยอดขายรถแบรนด์ชั้นนำญี่ปุ่นดิ่ง
เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายแบรนด์รถญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมมาตลอดอย่างนิสสัน มาสด้า และมิตซูบิชิ พร้อมใจกันดิ่งลงเนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อรถไฟฟ้าจากจีนแทน ขณะที่ตัวแทนขายที่ทำงานร่วมกับบรรดาค่ายรถญี่ปุ่นและค่ายรถอมริกาพากันเปลี่ยนโชว์รูมเพื่อขายรถ EV จีนแทน และท่ามกลางกระแสตอบรับอย่างคึกคักจากผู้บริโภค ค่ายรถจีนก็ใช้กลยุทธเด็ดหั่นราคารถไฟฟ้าให้ถูกลง
ตลาดรถยนต์ไทยที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตลาดที่แข็งแกร่งของแบรนด์รถญี่ปุ่น ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไป โดยแบรนด์รถญี่ปุ่นมีสัดส่วน 86% ของรถยนต์ใหม่ที่ขายได้ในปี 2022 แต่ปีที่แล้ว ตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 75% มีรถจากค่าย BYD และรถจากค่าย Great Wall Motor และ SAIC Motor เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาด
เมื่อปี 2021 ไทยประกาศว่าต้องการให้รถไฟฟ้ามีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถโดยรวมภายในช่วงปลายทศวรรษ ถือเป็นการตั้งเป้าที่ทะเยอทะยานและไม่น่าจะเป็นจริงได้ถ้าไม่มีค่ายรถจากจีน นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การอุดหนุนและลดภาษีแก่ผู้ซื้อรถ EV เพื่อกระตุ้นความต้องการ

สงครามราคาฆ่าอุตสาหกรรมรถยนต์โดยรวม
อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ทำให้ยอดขายรถโดยรวมลดลง รวมถึงรถ EV แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50% เมื่อปีที่แล้ว แต่ค่ายรถจีนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการหั่นราคารถลงอีก จนสร้างความกังวลแก่ผู้ผลิตรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรม
จอง เป่าหยู ผู้จัดการทั่วไปของ Great Wall Motor ในประเทศไทย ให้ความเห็นว่า สงครามราคาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ขณะนี้จะฆ่าอุตสาหกรรมรถโดยรวมเพราะลูกค้าจะชลอการซื้อรถเพื่อรอให้รถราคาถูกลงมากกว่านี้ก่อน
“การหั่นราคาเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว” จอง กล่าว
เมื่อเดือนพ.ค.สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศเก็บภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีน และ Great Wall Motor ประกาศปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยอ้างว่า มีความท้าทายมากขึ้นในตลาดรถไฟฟ้าในยุโรป
บริษัทยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในยุโรปต่อไป แต่จองกล่าวว่า การเก็บภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนของยุโรปทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดสำคัญสำหรับแบรนด์รถยนต์จากจีนเพิ่มขึ้น
ตอนนี้มีค่ายรถจากจีนรุกเข้ามาในตลาดรถในไทยแล้ว 6 แห่งคือ BYD, Aion, Great Wall, Hozon Auto’s Neta และ Chery และกำลังจะเข้ามาในปีนี้อีก 3 แห่ง
อีวีจีนถล่มอุตสาหกรรมรถในไทยล้มเป็นโดมิโน
ย้อนกลับไปในปี 2022 ที่รัฐบาลไทยมีโครงการอุดหนุนผู้ผลิต EV จีน ทั้งด้านภาษี และมาตรการด้านการผลิต และนำเข้า EV เข้ามาจำหน่ายในประเทศช่วงปี 2024-2025 จะต้องผลิตชดเชยภายในประเทศภายในปี 2026-2027 ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และรัฐบาลเสนอเงินอุดหนุนสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน
ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องผลิตเท่ากับจำนวนที่นำเข้ามาในประเทศตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป สามารถรับเงินอุดหนุนขายในประเทศและส่งออกได้ ส่งผลให้ EV จีนเข้ามาทำตลาดและเกิดการแข่งขันจนมีราคาถูกลงและกลายเป็นสงครามราคาในตอนนี้
ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่า แบรนด์ EV จีนที่ผลิตในไทยจะมีกำลังการผลิตต่อปีอยู่ที่ประมาณ 750,000 คัน หากโรงงานในไทยเดินสายการผลิตเต็มรูปแบบ คือ ค่าย NETA ผลิต200,000 คันต่อปี BYD ผลิตได้ 150,000 คันต่อปี CHANGAN ผลิตได้ 100,000-200,000 คันต่อปี MG ผลิตได้ 100,000 คันต่อปี GWM ผลิตได้ 80,000 คันต่อปี และ GAC AION ผลิตได้ 50,000 คันต่อปี
ตอนนี้ มี 4 แบรนด์ที่เริ่มเดินสายการผลิตในไทยแล้ว ประกอบด้วย NETA, GWM, MG และล่าสุดคือ BYD
กำลังการผลิตรถยนต์จีนที่สูงมาก ทำให้แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ส่วนนโยบายของรัฐบาลไทยเองก็ไม่เอื้อประโยชน์ให้แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น จึงเป็นสาเหตุให้แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มทยอยปรับโครงสร้างการผลิต และถอนการผลิตออกจากไทย
การที่รัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าดำเนินมาตรการนี้ต่อไป เท่ากับสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตรถยนต์สันดาปมากขึ้นและแน่นอนว่างานนี้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผลิตยานยนต์ประเภทนี้ประมาณ 90% ในประเทศไทย
กระทบห่วงโซ่อุปทาน-เกิดภาวะรถล้นตลาด
ผลพวงที่ตามมาคือ เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ทั้งหมดในไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยคิดเป็นสัดส่วน 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และมีแรงงานในส่วนนี้จำนวนกว่า 750,000 คน อีกทั้งโครงการอุดหนุนของรัฐบาลยังส่งผลให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายแห่งต้องปิดกิจการ
ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า มีการนำเข้ารถ EV จำนวน 185,029 คันนับตั้งแต่รัฐบาลใช้มาตรการอุดหนุน EV จีนเมื่อปี 2022 แต่ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า รถ EV ใหม่ที่จดทะเบียนมีจำนวน 86,043 คัน นั่นหมายความว่า ยังมีรถ EV ที่ยังไม่มีการซื้อชายในตลาดอย่างน้อย 90,000 คัน
“เรากำลังเจอปรากฏการณ์รถ EV ล้นตลาดเนื่องจากนำเข้ารถ EV จากจีนปริมาณมากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และรถพวกนี้ยังคงอยู่ในสต็อก และตอนนี้มีค่ายรถจีนมากขึ้นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย “กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทยกล่าว
อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย โดยสมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานสมาคมผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวกับนิกเคอิ เอเชียว่า คำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงประมาณ 40% ในปีนี้ ทำให้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนรถแต่ละแห่งลดกำลังการผลิตลงประมาณ 30-40% ในปีนี้
“ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถในไทยส่วนใหญ่ลดกำลังการผลิตเหลือแค่สามวันต่อสัปดาห์ เพราะออร์เดอร์สินค้าลดลง และน่าจะมีบริษัทที่ต้องปิดกิจการประมาณสิบกว่าแห่ง” สมพลกล่าว
สมพล ยังกล่าวด้วยว่า แบรนด์ EV ที่ได้รับการอุดหนุนไม่ได้ซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่จากซัพพลายเออร์ในประเทศ โดยมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยเพียง 12 แห่งจากทั้งหมด 660 แห่ง ที่เป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับแบรนด์ EV จีน
Photo by FOCKE STRANGMANN / AFP