ไทยอาจเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์การเมืองของประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา
แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเป็นสมาชิกของไทยซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าจะให้ผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากทั้งข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่กับหลายๆ ประเทศ รวมทั้งจีน ทั้งยังตั้งคำถามว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกต้องหรือไม่
อย่างไรก็ดี รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีแผนเดินหน้าเข้าร่วมกลุ่มระหว่างการประชุม BRICS ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองคาซานของรัสเซียในเดือนตุลาคมนี้
ระเบียบโลกใหม่
แถลงการณ์ของโฆษกรัฐบาลระบุว่า ไทยคาดหวังว่าการเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมในนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ “สร้างระเบียบโลกใหม่”
มาไฮลา พาพา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟส์เผยกับ VOA ว่า “การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ย่อมหมายถึงการได้สัมผัสกับแนวนโยบายและอิทธิพลของจีนและรัสเซีย”
ซุมยา โภวมิค นักวิจัยจาก Observer Research Foundation ในเมืองโกลกัตตาของอินเดียเผยกับ VOA ว่า ความสนใจของไทยในการเข้าร่วม BRICS สนับสนุนความพยายามของจีนและรัสเซียในการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“การเข้าร่วม BRICS ของไทยนำมาซึ่งอิทธิพลของกลุ่มต่อนโยบายเศรษฐกิจโลก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของจีนและรัสเซียที่ต้องการขยายอิทธิพลในภูมิภาค”
กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ก่อนที่แอฟริกาใต้จะเข้าร่วมในปี 2010 ส่วนอิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
กลุ่ม BRICS รวมตัวกันเพื่อสร้างทางเลือกใหม่แทนระบบศรษฐกิจและการเงินที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ (NDB) และกองทุนเงินสำรองฉุกเฉิน (CRA)
ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน อาทิ เงินกู้และหุ้นส่วน แก่กลุ่มสมาชิก BRICS คล้ายกับที่กลุ่มธนาคารโลกของสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก แต่ CRA คือข้อตกลงระหว่างธนาคารกลางของประเทศสมาชิกว่าจะต่างสนับสนุนกันและกันในช่วงวิกฤตการเงิน
กลุ่มประเทศ BRICS มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทางกลุ่มประกาศว่าต้องการให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนที่ใหญ่ขึ้นในเวทีโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา BRICS ถูกมองว่าเป็นกลุ่มต่อต้านตะวันตก เนื่องจากจีนและรัสเซียต้องการให้เศรษฐกิจโลกพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐน้อยลง
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความแตกต่างระหว่างประเทศสมาชิกจะเป็นตัวทดสอบประสิทธิภาพของกลุ่ม BRICS
โภวมิคมองว่า แม้กลุ่ม BRICS จะมีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการค้า แต่ความหลากหลายในกลุ่มประเทศสมาชิกก็สร้างความท้าทายในการจัดการกับผลประโยชน์และบรรลุฉันทามติ การขาดข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนอย่างเป็นทางการยิ่งทำให้ประสิทธิภาพของกลุ่มซับซ้อนยิ่งขึ้น
พาพามองว่า “การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ในช่วงนี้หมายถึงการเป็นหนึ่งในหลายประเทศในกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และไม่เป็นทางการที่นับวันจะมีลักษณะของความเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น รูปแบบของกลุ่มที่ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนมากและการหมุนเวียนกันเป็นประธานกลุ่ม การตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับฉันทามติ ไม่ได้ทำให้สมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งโดดเด่นมากเกินไป”
ขณะนี้ไทยเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) กลุ่มกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) และกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อยู่แล้ว โดยกลุ่ม RCEP เป็นข้อตกลงการค้าเสรีข้อตกลงแรกที่ประกอบด้วยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของเอเชีย รวมทั้งจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียอีก 11 ประเทศ

เน้นพหุภาคีนิยม
พาพากล่าวถึงไทยว่า การขอเข้าร่วมของไทยยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเจรจา และจะชัดเจนมากขึ้นในช่วงการประชุมกลุ่มในเดือนตุลาคมว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิก BRICS อย่างไร “ไทยยังมีเวลาทบทวนสิ่งที่ BRICS เสนอ และพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาของไทยหรือไม่ อาร์เจนตินาเปลี่ยนใจหลังถูกเชิญให้เข้ากลุ่ม ส่วนซาอุดีอาระเบียก็ยืดเวลาการเข้าร่วมออกไป”
เอริชิกา พันกาจ ผู้อำนวยการองค์กรเพื่อการวิจัยด้านจีนและเอเชียในนิวเดลีเผยว่า การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทยจะยังไม่ทำให้ชาติอื่นในอาเซียนหันมาเข้าร่วมด้วยในทันที “ประเทศอื่นในอาเซียนอาจได้รับแรงบันดาลใจจากไทย...แต่ประเทศเหล่านี้จะพิจารณาด้วยความระมัดระวังท่ามกลางการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน”
ด้านศาสตราจารย์ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับ VOA ว่า BRICS กลายเป็นกลุ่มทางการเมืองที่มีเป้าหมายต่อต้านตะวันตก และเขาเชื่อว่าไทยกำลังถูก “ชี้นำผิดๆ” ให้เข้าร่วม เพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกสำคัญๆ บางประเทศอย่างจีนและรัสเซีย
ประเทศอาเซียนอื่นลังเล
อินโดนีเซียซึ่งมีประชากรมากที่สุดในอาซียนปฏิเสธเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2023 โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าอินโดนีเซียต้องการวางตัวเป็นกลาง
ศาสตราจารย์ฐิตินันท์เผยว่า อินโดนีเซียไม่แน่ใจเกี่ยวกับทิศทางของ BRICS “อินโดนีเซียไม่เข้าร่วม เพราะไม่รู้ว่า BRICS จะไปทางไหน ไทยไม่มีเจตนาต่อต้านตะวันตก แต่ BRICS กำลังต่อต้านตะวันตก”

ไทยเข้าร่วมเป็นแค่สัญลักษณ์
ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทยเป็นเพียง “สัญลักษณ์” จีนมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทย และจีนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง BRICS ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าจีนคือปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยเข้าร่วมกลุ่ม เพราะจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทย ปีที่แล้วปีเดียวมีมูลค่าการซื้อขายถึง 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักท่องเที่ยวจีนก็เป็นกุญแจสำคัญของการท่องเที่ยวไทย
ฮัง ตรัน นักวิชาการจาก Atlantic Council มองว่า BRICS อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกับทั้งตัวกลุ่มเองและอาเซียน นอกเหนือไปจากการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง “การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่แสดงให้เห็นว่าไทยเปิดรับมหาอำนาจทุกประเทศทุกกลุ่มในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์โดยไม่ยึดอยู่กับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน”
เบนจามิน ซาวัคกี ผู้แต่งหนังสือ "Thailand: Shifting Ground Between the U.S. and a Rising China" เผยว่า อิทธิพลของจีนมีส่วน “จากมุมมองของจีน...จีนต้องการให้ประเทศสมาชิก BRICS ที่เหลือและประเทศอื่นๆ มองโลกไปในแนวทางดียวกันจากมุมมองด้านการเงิน และนับรวมไทยเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับจีน”
ด้าน เอียน ชง นักรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์เผยกับ VOA ว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโน้มน้าวใจประเทศไทยให้เข้าร่วม “ความสนใจเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ของไทยคือ รัฐบาลปัจจุบันอาจจะเชื่อว่า BRICS เสนอทางเลือกด้านเศรษฐกิจได้มากกว่า ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ทางการเงินและซัพพลายเชนที่หลากหลาย และโอกาสที่จะมีการสนับสนุนด้านการเงินหากเกิดวิกฤต ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ไทยมองว่าอนาคตเศรษฐกิจของประเทศยังต้องพึ่งพาจีน ซึ่ง BRICS จะสนับสนุนอย่างไรคงต้องรอดูกันต่อไป”