ผู้เชี่ยวชาญชี้ดีลไทยซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าป้องกันประเทศ

4 มิ.ย. 2567 - 07:50

  • ดีลกองทัพไทยซื้อเรือดำน้ำจากจีนถูกฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในรัฐบาลเศรษฐาที่ สุทิน คลังแสง เป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม

  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไทยไม่ได้ต้องการเรือดำน้ำจริงๆ แต่ดีลกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพจีน

thailand-china-submarine-deal-for-relations-not-defense-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลไทยกำลังจะปิดดีลซื้อเรือดำน้ำจากจีนที่เจรจากันมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ณ จุดนี้จุดประสงค์ของดีลมูลค่ามหาศาลนี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าการทหาร 

ดีลซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำเดิมเกิดขึ้นเมื่อปี 2017 แต่มีเพียงลำเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้นจริงแต่ก็สะดุดมาตลอดและต้องระงับไว้ชั่วคราวช่วงโควิด-19 ระบาด 

ต่อมาเดือนตุลาคมปีที่แล้วในสมัยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ด้วยความลังเลที่จะฟื้นดีลจึงประกาศว่า ไทยไม่ต้องการเรือดำน้ำจีนแล้ว เพราะทางจีนไม่สามารถจัดหาเครื่องยนต์ของเยอรมนีได้ตามสัญญา เนื่องจากจีนถูกสหภาพยุโรปคว่ำบาตร 

ทว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศว่า กองทัพเรือไทยยอมเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ CHD620 ที่จีนผลิตเองแทนที่เครื่องยนต์จากเยอรมนีแล้ว ทำให้ดีลเรือดำน้ำฟื้นกลับมาอีกครั้ง 

เบนจามิน ซาวัคกี ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Shifting Ground Between the U.S and Rising China เผยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย 

ซาวัคกีเผยกับ VOA ว่า “มีความกังวลเกี่ยวกับเครื่องยนต์ แต่ช่วงเวลาของการวิพากษ์วิจารณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายเกี่ยวกับรัฐบาลทหารในขณะนั้น ว่าไทยควรใช้เงินมหาศาลท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 หรือไม่” 

ไม่ใช่เรื่องการป้องกันประเทศทั้งหมด

นักท่องเที่ยวจีนคือกุญแจหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และจีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทย โดยปีที่แล้วการค้าไทย-จีนมีมูลค่า 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

หลังการทำรัฐประหารเมื่อปี 2014 สหรัฐฯ ซึ่งเคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับไทยในอดีตประณามการยึดอำนาจแทบจะทันทีและถอนความช่วยเหลือทางทหารมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐที่เคยให้ไทย นับตั้งแต่นั้นมา ความสัมพันธ์ของไทยกับจีนก็แน่นแฟ้นขึ้น สถาบัน Lowy Institute ระบุว่า ระหว่างปี 2016-2022 ไทยซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนมากกว่าจากสหรัฐฯ ในแง่ของมูลค่า 

แต่ซาวัคกีตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำโจมตีจากจีนของไทย โดยระบุว่า “ไทยไม่ได้ต้องการเรือดำน้ำ และจีนก็ไม่จำเป็นต้องขายให้ไทย หากพูดจากมุมมองด้านความมั่นคง นี่ไม่ใช่ดีลที่สมเหตุสมผลกับทั้งไทยและจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น” 

ซาวัคกีเผยว่า ดีลนี้คือ “สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ทางทหาร (ระหว่างจีนกับไทย)” ที่ก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2014 และเชื่อว่าจีนพยายามสนับสนุนให้เกิดข้อตกลงนี้อีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงบางส่วนให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการค้าว่าด้วยยุทโธปกรณ์ทางการทหารที่มีการประกาศภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ 

“ผมคิดว่ามันถูกนำกลับมาอีกครั้งเพราะมันสำคัญกับจีน” ซาวัคกีกล่าว “ผมมั่นใจว่าจีนจะพยายามอย่างไม่ลดละ มันเป็นดีลที่จีนต้องการทำให้สำเร็จ เพราะจีนมีเหตุผลของตัวเอง” 

ด้าน เกร็ก เรย์มอนด์ จากศูนย์ศึกษาด้านยุทธศาสตร์และการทหารของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียเผยว่า ดูเหมือนว่าฝ่ายจีนพยายามผลักดันการขายเรือดำน้ำให้ไทย “ผมไม่คิดว่าเรือดำน้ำคือสิ่งที่รัฐบาลเศรษฐากำลังมองหา” และเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว รัฐบาลเศรษฐาพยายามหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนดีลจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกตของจีน "แต่ไม่ว่าแรงกดดันหรือวิธีการไหนที่จีนนำมาใช้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จ" 

เรย์มอนด์เผยอีกว่า การขยายอิทธิพลเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีน รวมทั้งการขายเรือดำน้ำให้ไทยและการส่งเรือรบไปจอดที่กัมพูชา ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ นั่งไม่ติด “นี่...คือสิ่งที่ผมไม่แน่ใจว่าไทยคิดดีแล้วหรือไม่ว่าสหรัฐฯ จะอ่านท่าทีนี้อย่างไร ผมคิดว่ามันความหวังที่ริบหรี่ที่จะรักษาความสมดุลและความเท่าเทียมกันระหว่างจีนและสหรัฐฯ” 

ซาวัคกีมองว่า ความกังวลหลักของสหรัฐฯ คือเรือดำน้ำที่ต่อในจีนลำนี้จะไปจอดที่ไหน “จะไปอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบซึ่งมีเรือรบของสหรัฐฯ เทียบท่าอยู่ด้วยหรือไม่ แล้วจะสร้างความเสี่ยงต่อการถูกจารกรรมข้อมูลหรือไม่ ในแง่ของการมีทั้งเรือจีนหรือเรือที่ต่อโดยจีน แลเรือสหรัฐฯ เทียบท่าในท่าเดียวกัน นั่นคือสิ่งที่สหรัฐฯ กังวลมากที่สุด” 

AFP / POOL / Mark Schiefelbein

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์