สื่อต่างชาติชี้การเลือกตั้งไทยกลายเป็นเกมแจกเงินประชานิยม

4 เม.ย. 2566 - 09:42

  • สื่อต่างชาติมองว่า พรรคต่างๆ พยายามเสนอนโยบายแจกเงินและเงินสนับสนุนมากมาย แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครมีข้อเสนอใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่และฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

  • TDRI คาดการณ์ว่านโยบายประชานิยมที่เสนอโดยพรรคต่างๆ ต้องการเงินราว 2-3 ล้านล้านบาท

thailand-election-becomes-game-of-economic-handouts-SPACEBAR-Thumbnail
Nikkei Asia รายงานว่า ใต้ร่มเงาของต้นยาง แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเสียงปรบมือต้อนรับจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่กระตือรือร้นที่สุดของครอบครัวเธออย่างชาวไร่ชาวนาในจังหวัดอุดรธานี 

ตัวเต็งนายกรัฐมนตรีวัย 36 ปีรายนี้นั่งบนพื้นหญ้าท่ามกลางกลุ่มผู้สนับสนุนบอกว่าจังหวัดอุดรธานีเป็น “เมืองหลวงของพรรคในภาคอีสาน” และพูดย้อนไปถึงพ่อของตัวเองว่า “ตอนเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเศรษฐกิจดีขึ้น เราจะเอาเวลานั้นกลับมาอีกครั้ง” 

ในขณะที่บรรดานักการเมืองส่งรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในสัปดาห์นี้ ผู้ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลสมัยหน้าต่างพยายามเสนอนโยบายแจกเงินและเงินสนับสนุนต่างๆ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครมีข้อเสนอใหม่ๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่และฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 

ในภาคอีสานนั้น ดูเหมือนว่าหลายคนต้องการย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาที่ดีในวันเก่าๆ ก่อนที่จะมีการรัฐประหารไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2014 

Nikkei Asia  ระบุว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว แต่ก็กระตุ้นให้ชาวนาละทิ้งคุณภาพมาเน้นปริมาณแทน นโยบายนี้ซึ่งคิดโดยทักษิณถูกวิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและทำให้ไทยเสียตำแหน่งผู้นำตลาดโลกให้กับอินเดียและเวียดนาม 

ตอนนี้แพทองธารพูดกับชาวนาเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่แม่นยำปรับปรุงผลผลิตข้าวและการหาตลาดใหม่ๆ สำหรับการเกษตรไทย 

ชาวนาวัย 58 ปีรายหนึ่งที่มีหนี้สินจากปีที่แล้วเนื่องจากราคาข้าวตกต่ำ สวนทางกับราคาเชื้อเพลิงและปุ๋ย แสดงความเชื่อมั่นในตัวคนหน้าใหม่อย่างแพทองธารว่า “เธอจะเป็นเหมือนพ่อของเธอ” 

ภาคอีสานจะเป็นกุญแจสำคัญของตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ด้วยจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 133 จาก 400 ที่นั่ง แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความล้มเหลวในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในวงกว้างอาจทำให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยตกต่ำลงได้ 

เพื่อไทยสัญญาว่าจะรีเซ็ตประเทศไทยหลังจากต้องเสียเวลาไปเป็นสิบปีภายใต้ระบอบการปกครองที่เชื่อมโยงกับกองทัพของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเคยพูดไว้เมื่อเดือนมีนาคมระหว่างหาเสียงว่า “ใครบริหารประเทศตอนมีโควิดล่ะเราถึงได้มีวันนี้ แม้ว่าเราจะเจอวิกฤต เราก็ยังสบายดี การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น” 

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า ปีที่แล้วหลายประเทศ รวมทั้งจีน อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่นรับปากว่าจะเข้ามาลงทุนในไทยรวมกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนไหลไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลทหารเมื่อปี 2017 ใน 3 จังหวัดระหว่างกรุงเทพฯ และอ่าวไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0  

Nikkei Asia ระบุต่อว่า ประยุทธ์ต้องการสร้างเขตอุตสาหกรรมเพิ่มเติมใน 4 ภูมิภาค เช่นเดียวกับเพื่อไทย โดยพรรครวมไทยสร้างชาติเพิ่งตั้งทีมเศรษฐกิจที่มาจากภาคพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และการผลิต 

“ยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทยในการก้าวไปข้างหน้าคือการดูแลทุกคน ทุกระดับของเศรษฐกิจ ทั้งสถาบัน รากหญ้า ชาวนา” ประยุทธ์กล่าว “เราต้องทำให้พวกเขามีความสุข” 

แต่ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูงมายาวนาน โดยไม่สามารถทำให้แรงงานของประเทศขยับไปสู่งานบริการที่มีค่าตอบแทนสูงหรือการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มได้ เศรษฐกิจเติบโตไม่ถึง 5% มาตั้งแต่ปี 2012 ตามหลังเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว 

หลังรัฐบาลปัจจุบันปิดฉากลง ปัญหาทางโครงสร้างกำลังทวีคูณขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ การเก็บออมและการลงทุนต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง  

อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เผยกับ Nikkei Aisa ว่า “ดูเหมือนว่ารัฐบาลก่อนของพลเอกประยุทธ์ที่เปิดตัวไทยแลนด์ 4.0 จะยอมรับว่ามีปัญหา แต่ไม่เคยนำมาสู่การแก้ปัญหาสำหรับกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นโยบายส่วนใหญ่อยู่ในแนวคิดของยุคอุตสาหกรรมเก่า” 

Nikkei Asia ระบุว่า แม้ว่าเงินกระตุ้นจากรัฐบาลมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย จะช่วยพยุงรายได้ครัวเรือนตลอดช่วงที่โควิด-19 ระบาด แต่ภาวะเงินเฟ้อตลอดปีที่ผ่านมากลับเกินกว่าค่าจ้างที่ปรับตามเงินเฟ้อ อัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 เหลือ 1.15% แต่กลุ่มคนอายุน้อยหรือแรงงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ยังคงตกงานหรือการทำงานต่ำกว่าระดับ (underemploymented) 

ผู้ลงคะแนนกลุ่มนี้ ซึ่งไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคตและถูกถอดออกจากกลุ่มเก่า เช่น การเกษตรและการท่องเที่ยว กลายเป็นกลุ่มสำคัญของการเมืองทางเลือก ซึ่งป็นผลดีกับฝ่ายค้านอีกกลุ่มหนึ่งนั่นคือ พรรคก้าวไกล ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอุตสาหกรรมรอบๆ  

ชาวแหลมฉบังรวมตัวกันในคืนวันศุกร์ของเดือนมีนาคมเพื่อฟังการปราศรัยของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยเจ้าตัวกล่าวว่า “ผมอายุ 45 ถ้าเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 45 ปีที่แล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันกับไทยอยู่ในระดับเดียวกัน แต่วันนี้รายได้ต่อหัวของไต้หวันต่อคนสูงกว่าของคนไทย 6 เท่า คำตอบอยู่ที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ไต้หวันกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัย...ในนิคมอุตสาหกรรม สิ่งที่เราต้องทำนี่นี่คือการรับคำสั่งจากญี่ปุ่นและตะวันตก หากเราไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ไม่มีทางที่ประเทศเราจะร่ำรวย มีแค่เหตุผลเดียวที่พวกเขาไม่ต้องการให้ไทยก้าวหน้า เพราะโครงสร้างทางสังคมนี้ใช้ประโยชน์จากคนส่วนใหญ่ และพวกเขาก็ได้รับประโยชน์จากมัน” 

แม้พรรคก้าวไกลจะได้รับความสนใจจากผู้ลงคะแนนรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่อาจรับประกันตำแหน่งในรัฐบาลผสมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ 310 ที่นั่ง แต่อาจต้องลำบากหากจะชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดข่าวลือว่ามีการดีลกันระหว่างพรรคเพื่อไทยกับ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่พรรคก้าวไกลปฏิเสธร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคร่วมไทยสร้างชาติ 

ประยุทธ์และประวิตรกำลังแข่งขันกันเรื่องบัตรสวัสดิการรัฐ โดยพรรคไทยสร้างชาติต้องการเพิ่มเงินให้ชาวบ้านที่มีรายได้น้อยเป็น 1,000 บาท ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่มให้เป็น 700 บาท ประยุทธ์จะเดินหน้าจ่ายเงิน 1,000 บาทต่อเดือนให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่พรรคพลังประชารัฐจะจ่ายเพิ่มเป็น 5,000 บาทสำหรับผู้ที่อายุ 80 ปีขึ้นไป 

ตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลอัดฉัดเงิน 1.38 ล้านล้านบาททั้งในรูปแบบของเงินสดและการสนับสนุนค่าสิยค้าและบริการต่างๆ เงินอุดหนุนด้านพลังงานในวงกว้างได้เพิ่มการขาดดุลการคลัง เนื่องจากรัฐบาลต้องแบกรับผลกระทบด้านราคาพลังงานจากสงครามในยูเครน 

นักเศรษฐศาสตร์พากันวิพากษ์วิจารณารทำนโยบายประชานิยมของหลายๆ พรรค รายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า นโยบายต่างๆ ที่แต่ละพรรคเสนอมานั้นส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ “การแก้ปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะหน้าของประชาชน มันไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริง คือไม่ได้ช่วยเพิ่มทักษะให้กับคนทำงาน”  

นี่เป็นปัญหามายาวนานแล้ว แต่กำลังเกิดการผัดวันประกันพรุ่ง เพราะไทยกำลังข้าสู่ช่วงวิกฤตเพื่อรักษาตำแหน่งฮับของการผลิตแบตเตอรีและรถยนต์ไฟฟ้า แม้ว่าจะมีโซนเศรษฐกิจพิเศษอย่าง EEC แต่ไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับฉายาว่า ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ กำลังสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับอินโดนีเซียซึ่งมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์และดึงดูดบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการห้ามส่งออกนิกเกิล 

ภาคเอกชนเคยเตือนว่า การเสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติมจากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกลัว ข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า ขณะนี้ค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนของไทยสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว หลังจากรัฐบาลประยุทธ์เพิ่มค่าจ้างรายวันเฉลี่ย 5% เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

“เป้าหมายของทุกนโยบายคือการเพิ่มรายได้ของประชาชน” เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทยเผยกับ Nikkkei Asia “เราไม่ต้องการสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ต้องการสร้งระบบที่ประชาชนสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้” 

แล้วเงินจะมาจากไหนล่ะ? 

TDRI คาดการณ์ว่า นโยบายที่เสนอโดยพรรคต่างๆ ต้องการเงินราว 2-3 ล้านล้านบาทนอกเหนือจากงบประมาณในขณะนี้  

ประยุทธ์เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพื่อไทยรับปากจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยเร็วแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนก้าวไกลรับปากสิ่งเดียวกัน แต่จะแก้รัฐธรรมนูญก่อน 

แต่ TDRI เตือนถึงอันตรายของการไม่ปฏิบัติตาม  

ผู้เชี่ยวชาญของ TDRI ระบุว่า “หากหากรัฐบาลใหม่ไม่รวมนโยบายสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาลไว้ด้วย ประชาชนจะหมดศรัทธาในการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเพราะรู้สึกว่าถูกนักการเมืองหลอก ซึ่งจะส่งผลให้การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเป็นไปได้ยากขึ้น” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์