Time วิเคราะห์ เลือกตั้งจบแล้ว แต่การชิงความได้เปรียบกำลังเริ่ม

17 พ.ค. 2566 - 09:26

  • Time ระบุว่า ระหว่างที่รอ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ จะมีการเจรจากันอย่างดุเดือดระหว่าง 3 พรรค ที่ได้คะแนนมากที่สุด

  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ส.ว. และพรรคภูมิใจไทย อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกม

thailand-election-finished-but-politicking-is-just-beginning-SPACEBAR-Hero
บทความของนิตยสาร Time ระบุว่า การจับมือร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยจะเป็นการตบหน้าผู้มีอำนาจในประเทศไทยซึ่งยังมีอีกหลากหลายวิธีจัดการเพื่อให้ยังรักษาอำนาจไว้ได้ อย่างแรกคือ รัฐธรรมนูญฉบับทหารระบุว่า นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่งและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากทหารอีก 250 ที่นั่ง นั่นหมายความว่า เสียงโหวตของก้าวไกลและเพื่อไทยรวมกัน 292 เสียงยังไม่เพียงพอ 

นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีนี้ยังมีหน่วยงานอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญที่ต่างก็ทำตามใบสั่งของผู้มีอำนาจ พรรคที่เกี่ยวข้องกับทักษิณล้วนถูกยุบเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ 
หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น 
Time ระบุว่า ระหว่างที่รอ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 60 วันนั้น จะมีการเจรจากันอย่างดุเดือดระหว่าง 3 พรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด และอาจรวมถึง ส.ว.อย่างไม่ต้องสงสัย 

หลายอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ส.ว. เมื่อปี 2019 ส.ว. ลงคะแนนให้พรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากที่สุด และหากครั้งนี้จะทำแบบเดียวกันนี้อีกจะเป็นการเลือกทำในสิ่งที่จะส่งผลเสียกับตัวเองที่สุด เนื่องจากพรรคก้าวไกลทำแคมเปญอย่างเปิดเผยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดสภาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากท่าทีสิ้นหวังของบรรดาพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ส.ว.จะให้น้ำหนักกับใครอีกโดยไม่จุดประกายความโกรธแค้นของประชาชน และหาก ส.ว.สนับสนุนแคนดิเดตที่มาจากพรรคเสียงข้างน้อยที่อยู่ฝ่ายทหาร คนคนนั้นจะเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากในการผ่านร่างกฎหมาย เนื่องจาก ส.ว.ไม่มีบทบาทในรัฐสภา 

ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิชาการจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยกับ Time ว่า ทางเลือกหนึ่งคือ ส.ว.ไม่ลงคะแนนเสียงเลย อย่างไรก็ตาม “พวกเขา (ส.ว.) จะต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้งประชาชนและประชาคมนานาชาติไม่ให้ลงคะแนนเสียงที่ค้านกับความต้องการของประชาชน” 

บทบาทของ ส.ว. อาจลดลงขึ้นอยู่กับพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 3 นั่นคือ ภูมิใจไทย หากภูมิใจไทยเข้าร่วมกับก้าวไกลและเพื่อไทย 71 ที่นั่งของภูมิใจไทยอาจช่วยให้พรรคร่วมรัฐบาลขยับเข้าใกล้ 376 ที่นั่งที่จะต้องใช้ในการโหวตนายกฯ โดยไม่ต้องพึ่งพาเสียงจาก ส.ว. ซึ่งณพลเผยว่า “ผมมองว่าภูมิใจไทยคือคนกำหนดตัวนายกฯ” 

Time ระบุอีกว่า นั่นหมายความว่าภูมิใจไทยหันหลังให้กับฝ่ายผู้มีอำนาจที่เป็นพันธมิตรกันมาก่อน และต้องตัดความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัง ก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกุล เปิดใจกับ Time เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาซึ่งเจ้าตัวตัดความเป็นไปได้ในการจับมือกับพรรคที่ต้องการแก้ไขมาตรา 112 โดยบอกว่าสถาบันกษัตริย์ “เป็นสถาบันที่เป็นที่เคารพสูงสุดของพวกเรา” 

Time ระบุต่อว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ผลการลือกตั้งถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับพรรคเพื่อไทย ซึ่งณพลเผยว่าปัจจัยหนึ่งคือ บทบาทเบื้องหลังของทักษิณ “ไม่เพียงแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเบื่อหน่ายกับการแย่งชิงอำนาจระหว่างทักษิณกับฝ่ายอนุรักษนิยม ผู้คนกำลังรอสิ่งใหม่ๆ” 

Time ระบุว่า ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าทหารจะอยู่ในค่ายหรือไม่ ในประเทศที่ผ่านการทำรัฐประหารโดยทหารมา 12 ครั้งในช่วง 91 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่ทหารจะเข้ามาแทรกแซงมีอยู่มาก แต่ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่าเป็น “วิธีสุดโต่ง” หากพิจารณาถึงความท้าทายที่รัฐบาลทหารใหม่ต้องเจอ 

อย่างแรก บรรดานายพลต้องอธิบายเหตุผลของตัวเองให้ประชาคมโลกฟัง รวมทั้งต้องรับมือกับการประท้วงที่จุดประกายจากการพยายามยึดอำนาจ นอกจากนี้ยังต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากการประบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นงานที่ทหารพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตมาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา 

นอกจากนั้นยังต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และอาจต้องจัดการเลือกตั้งที่ให้ผลที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง แม้ว่าครั้งในจะมีทุกอย่างที่เอื้อกับตัวเองแต่ก็ยังพ่ายแพ้  

ธิตินันนท์เผยว่า “พวกเขาหลังพิงฝาแล้ว พวกเขาทำทุกอย่างที่ทำได้แล้วแต่ก็ยังแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ยับเยิน” 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์