สวรรค์ชาวหลากหลายทางเพศ! LGBTQ+ ชาวจีนแห่เที่ยว-ย้ายอยู่ไทยเพียบ

13 ก.ย. 2566 - 06:49

  • “นักท่องเที่ยว LGBTQ+ ถือเป็น ‘ผู้มีศักยภาพสูง’ เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้นและเดินทางบ่อยกว่านักท่องเที่ยวคนอื่นๆ”

  • แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว LGBTQ+ แต่จนถึงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวจีน 2.2 ล้านคนจากทั้งหมด 16 ล้านคน

thailand_lgbtq_community_draws_tourists_from_china_SPACEBAR_Thumbnail_ca17564121.jpeg
หลังจากที่ประเทศไทยจัดขบวนพาเหรดไพรด์ (Pride parade) เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากคนไทยที่ร่วมเดินขบวนแล้วก็ยังมีชาวต่างชาติ และหนึ่งในนั้นก็มีชาวจีนด้วย

เหวิน ซินอวี่ (Xinyu Wen) หญิงชาวจีนวัย 28 ปีก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมเดินพาเหรดดังกล่าว และได้ทำความรู้จักแลกเปลี่ยนเรื่องราวในกลุ่ม LBGTQ+ ด้วยกัน ทั้งยังตัดสินใจอยู่เที่ยวที่ไทยต่อเป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง

อย่างที่ใครหลายๆ คนอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่าชาว LGBTQ+ ในจีน ซึ่งมักจะถูกดูหมิ่นและถูกรังเกียจจากคนในประเทศ พากันเดินทางมายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากเพื่อปลดปล่อยอิสรภาพในการเป็นตัวของตัวเอง

เหวินกล่าวว่า ‘เมื่อเดินไปตามขบวนพาเหรดบนถนนในกรุงเทพฯ แล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในงานปาร์ตี้ใหญ่หรือสวนสนุกขนาดใหญ่’ “เราสามารถลืมเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดและรู้สึกสนุกสนานได้”

เหวินเผยว่าตัวเองเป็น ‘เควียร์’ (Queer) ซึ่งหมายความว่าคู่รักของเธอสามารถเป็นเพศใดก็ได้ และเธอสามารถเป็นเพศใดก็ได้ เหวินเล่าอีกว่าเธอมักจะถูกมองเหมือนถูกตัดสินจากการไว้ผมสั้นเหมือนผู้ชาย และครั้งหนึ่งช่างตัดผมของเธอถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคุณ?”

แต่ที่ขบวนพาเหรด ‘Bangkok Pride’ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหวินสังเกตเห็นผู้คนสวมสิ่งที่ต้องการอย่างมั่นใจ เธอรู้สึกตื่นเต้นที่สามารถแสดงออกต่อสาธารณะได้โดยที่ไม่ต้องพะวงว่าใครจะมองยังไง ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังบอกอีกว่า เธอประทับใจกิมมิคการประท้วงที่เกิดขึ้นในงานนี้ ซึ่งมีผู้คนถือป้ายที่เขียนด้วยภาษาจีนตัวเต็มพร้อมสโลแกน เช่น “จีนไม่มี LGBTQ” และ “เสรีภาพ คือ สิ่งที่เราสมควรได้รับ”

ขณะที่ อภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ เจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเผยในบทความของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ว่า “นักท่องเที่ยว LGBTQ+ ถือเป็น ‘ผู้มีศักยภาพสูง’ เนื่องจากพวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้นและเดินทางบ่อยกว่านักท่องเที่ยวคนอื่นๆ”

“การใช้ภาพถ่ายของบุคคล LGBTQ+ ในโฆษณาการท่องเที่ยวถือเป็นการให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” อภิชัยกล่าวเสริม

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เก็บข้อมูลนักท่องเที่ยว LGBTQ+ แต่จนถึงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวจีน 2.2 ล้านคนจากทั้งหมด 16 ล้านคน

โอเว่น จู ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ซึ่งขายบ้านให้กับลูกค้าชาวจีนเผยว่า มีหลายคนที่มาพักอาศัย และลูกค้าของเขาประมาณ 2/3 เป็น LGBTQ+ “ในหมู่เกย์ชาวจีน ประเทศไทยจะถูกเรียกว่าเป็น ‘สวรรค์ของเกย์’” เขากล่าว

ทั้งนี้ การเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในจีน แม้ว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียจะมีกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการรักร่วมเพศ (homosexuality) เช่น มาเลเซียก็ได้ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคมว่าใครก็ตามที่มีนาฬิกาธีม LGBTQ+ อาจถูกจำคุก 3 ปี ขณะที่ชาว LGBTQ+ ในประเทศจีนก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติตามซึ่งอาจทำให้การแสดงออกถึงตัวตนอย่างเสรีเป็นเรื่องยาก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์