‘สมรสเท่าเทียม’ บังคับใช้วันแรก! สื่อนอกตีข่าวไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน

23 ม.ค. 2568 - 08:15

  • กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (23 ม.ค.) คู่รัก LGBTQ+ ต่างพากันมาจดทะเบียนสมรสพร้อมกันทั่วประเทศในวันแรก

  • ไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย และเป็นประเทศที่ 38 ของโลกที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมกันสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน

  • SPACEBAR พาไปดูว่าสื่อต่างประเทศพูดถึงประเด็น ‘สมรสเท่าเทียมในไทย’ ว่าอย่างไรบ้าง...

thailand-marriage-equality-law-first-in-southeast-asia-SPACEBAR-Hero.jpg

กฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ (23 ม.ค.) คู่รัก LGBTQ+ ต่างพากันมาจดทะเบียนสมรสพร้อมกันทั่วประเทศในวันแรก ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย และเป็นประเทศที่ 38 ของโลกที่รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมกันสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน 

SPACEBAR พาไปดูว่าสื่อต่างประเทศพูดถึงประเด็น ‘สมรสเท่าเทียมในไทย’ ว่าอย่างไรบ้าง...

CNN

ร่างกฎหมายสำคัญนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของคู่รัก LGBTQ+ ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการสมรสเท่าเทียมมานานกว่าทศวรรษ คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสพร้อมสิทธิทางกฎหมาย การเงิน และการแพทย์อย่างสมบูรณ์ รวมถึงสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมและการสืบทอดมรดกด้วย

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเตือนว่าประเทศไทยอาจเป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียที่จะรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในอีกสักระยะหนึ่ง 

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัย Pew ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 30 แห่งทั่วโลกที่ยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป อเมริกา และออสตราเลเซีย 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่ยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน รองจากไต้หวันในปี 2019 และเนปาลในอีก 4 ปีต่อมา

Bloomberg

ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ มาช้านาน เพราะผู้คนส่วนใหญ่ค่อนข้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งไทยยังมีกฎหมายคุ้มครองกลุ่ม LGBTQ+ จากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบตั้งแต่ปี 2015

ตามข้อมูลของ Agoda ระบุว่า กฎหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.7 หมื่นล้านบาท) ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้

AFP

ประเทศไทยมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติมายาวนานในเรื่องการยอมรับกลุ่มคน LGBTQ+ และผลสำรวจความคิดเห็นที่รายงานในสื่อท้องถิ่นแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากประชาชนต่อประเด็นการสมรสเท่าเทียม

นักเคลื่อนไหวชาวไทยได้ผลักดันสิทธิการสมรสเท่าเทียมของคู่รักเพศเดียวกันมานานกว่าทศวรรษแล้ว แต่การสนับสนุนของพวกเขากลับหยุดชะงักลงเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศที่มักเกิดการรัฐประหาร และการประท้วงบนท้องถนนบ่อยครั้ง 

คู่รักเลสเบี้ยน สุมาลี สุดสายเนตร วัย 64 ปี และ ธนพร วัย 59 ปี เป็นคู่แรกที่เข้าพิธีแต่งงานที่เขตบางรัก “เรามีความสุขมาก เราเฝ้ารอวันนี้มา 10 ปีแล้ว” ธนพร บอก ขณะที่ สุมาลี บอกว่า “การทำให้การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมายช่วยยกระดับศักดิ์ศรีของเรา มันทำให้เราได้รับสิทธิต่างๆ เท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ วันนี้ฉันมีความสุขมากจนไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดยังไง”

TIME

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภา โดยมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วยการเปลี่ยนคำว่า “ชายและหญิง” และ “สามีและภรรยา” เป็น “บุคคล” และ “คู่สมรส” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดทางให้คู่รัก LGBTQ+ เข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย การเงิน และการแพทย์ได้อย่างเต็มที่

ประเทศไทยมีชื่อเสียงในด้านการยอมรับและการมีส่วนร่วม อีกทั้งผู้คนหลายพันคนจากทั่วโลกก็ยังเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมงานพาเหรดประจำปี ‘Bangkok Pride’

BBC

นับเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์สำหรับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศนอกรีตในเอเชียที่ยอมรับความเสมอภาคในการสมรส และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคู่รักสูงอายุที่ต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะละทิ้งความคิดเก่าๆ ที่ว่าชายรักชายจะไม่สามารถมีความรักที่แท้จริงได้ เราสองคนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรารักกันจริงๆ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว เราพร้อมจะดูแลกันมาตั้งแต่วันแรกที่คบกัน เราก็ไม่ต่างอะไรจากคู่รักต่างเพศ” จักรกฤษณ์ วัฒนวิระ กล่าว จักรกฤษณ์ และปริญญ์ ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันมาเป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว

The Guardian

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกลุ่ม LGBTQ+ ที่มีชีวิตชีวาและโดดเด่น ถือเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่ต้อนรับผู้คนอย่างอบอุ่นที่สุด แต่สำหรับนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์เพื่อการสมรสเท่าเทียมกันนั้นเผยว่า “มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน”

นอกจากนี้ การนำเสนอในสื่อก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมีชื่อเสียงจากละครชายรักชาย หญิงรักหญิง มากขึ้น 

“สำหรับตอนนี้ เป็นเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง เราภูมิใจที่เป็นชาวไทย LGBTQ+ ฉันภูมิใจมาก...ฉันไม่รู้มาก่อนว่าวันนี้จะมาถึง และจะมีโอกาสได้อยู่กับคนที่ฉันอยากอยู่ด้วย” รุจญา นิลละกานต์ วัย 45 ปี บอก

Reuters

นักวิเคราะห์ทางกฎหมายมองว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับใหม่จะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มคน LGBTQ+ เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีชื่อเสียงมายาวนานในการจัดงานไพร์ดพาเหรดแบบคาร์นิวัล และการยอมรับความแตกต่าง

อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบอื่นๆ เช่น การสร้างครอบครัวที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายยังคงเป็นความท้าทายสำหรับคู่รักบางคู่ 

“กฎหมายนี้แสดงให้เห็นว่าคู่รัก LGBTQ+ จำนวนมากต้องการใบรับรองการสมรส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมกัน การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น” ผู้จัดงาน Bangkok Pride กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์