ในวันที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องเลือกกับหนทางที่ต้องแลก และผลกระทบระดับชาติ

15 กันยายน 2566 - 09:37

thailand-turbulence-implications-for-region-and-world-SPACEBAR-Thumbnail (1)
  • นอกจากความไว้วางใจของประชาชนที่เสียไป เพื่อไทย (อาจ) สูญเสียอะไรไปอีกบ้าง? ในการจัดตั้งรัฐบาลผสมกับกลุ่มพรรคอนุรักษนิยมและกองทัพ

  • และที่แย่ไปกว่านั้นอาจกระทบถึงบทบาทระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกระทบความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ อีกด้วย

ในวันที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องเลือก และผลกระทบระดับชาติ!

การปฏิบัติที่เป็นธรรม คือ เสาค้ำที่มั่นคงของรัฐบาล

จอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ กล่าวไว้

ช่วงเวลานี้คงไม่มีอะไรร้อนยิ่งไปกว่าแวดวงการเมืองไทยอีกแล้ว ในเวลาไม่ถึงเดือนภายใต้รัฐบาล ‘เศรษฐา ทวีสิน’ กำลังถูกจับจ้อง ทั้งยังเผชิญกับกระแสโจมตีว่านโยบายส่วนใหญ่ไม่เหมือนกับที่เคยหาเสียงไว้ และบางนโยบายก็ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า? 

ทว่าการก้าวขึ้นสู่อำนาจของเศรษฐานั้นอาจกลายเป็นว่ามีนัยซ่อนอยู่เบื้องหลังการกลับมาของอดีตนายกฯ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือไม่? ขณะที่สื่อต่างชาติต่างวิเคราะห์ว่า ‘การเมืองไทยในห้วงเวลานี้กำลังปั่นป่วนและอาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาค’ 

สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ระบุว่า “คนไทยจำนวนมากสงสัยว่าการที่ทักษิณกลับมาหลังจากลี้ภัยนานถึง 17 ปีนั้นหมายความว่า ‘เขาอาจทำข้อตกลงกับกลุ่มอำนาจนิยมและสร้างแนวร่วมอนุรักษนิยม’ แม้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีอาญา แต่ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษจำคุกเหลือเพียง 1 ปี” 

“ฉันคิดว่าทักษิณจะมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยและยังคงมีความสำคัญต่อไป เขาจะเป็นผู้เล่นที่ทรงอำนาจในการเมืองอีกครั้ง แต่เขาจะไม่เป็นแนวหน้าอีกต่อไปและจะมีบทบาทสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าว 

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตเผยว่า “ทักษิณสามารถทำงานเบื้องหลังต่อไปได้เหมือนกับที่เขาทำมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าอย่างไรเราจะได้เห็นบทบาททางการเมืองของทักษิณตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แต่คราวนี้บทบาทของเขาจะถูกต้องตามกฎหมาย”  

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บางคนยังคาดการณ์ด้วยว่า ‘ทักษิณจะเป็นอีกคนหนึ่งที่คอยชักใยเพื่อไทย’

การเดินหน้าประเทศโดยปราศจาก ‘พรรคก้าวไกล’

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3Ndeezn7ZHIVFNyOdnr5dT/416e4d4e063882af7a9ecc4bff68cf58/thailand-turbulence-implications-for-region-and-world-SPACEBAR-Photo03__1_
Photo: Lillian SUWANRUMPHA / AFP
“บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดในนิยายประโลมโลก (ในเชิงการเมืองหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างมิตรกับศัตรูที่ต้องแย่งชิงอำนาจ) หลังการเลือกตั้งนี้ก็คือ ความเสียหายต่อความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล” มาร์ค เอส. โคแกน รองศาสตราจารย์ด้านการศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งแห่งมหาวิทยาลัยคันไซไกไดของญี่ปุ่นกล่าว 

โคแกนเผยกับ TIME อีกว่า “ตอนนี้ชัดเจนว่าเพื่อไทยกำลังคิดมากเกินไปในระยะสั้น ในขณะที่พรรคก้าวไกลซึ่งมีอุดมการณ์มากกว่านั้นกำลังนึกถึงระบอบการเมืองในระยะยาวของขบวนการที่ก้าวหน้ามากขึ้น” 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพรรคก้าวไกลถูกผลักให้ไปเป็นฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และดูเหมือนว่าช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เปิดประเด็นอภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาลเศรษฐาในสภากันอย่างดุเดือดเลยทีเดียว 

แม้จะได้รับความนิยมในการเลือกตั้ง และมีจำนวนที่นั่ง ส.ส.ในสภามากที่สุด แต่ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยซึ่งผิดหวังกับทางเลือกใหม่ของพรรค 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเวลาจะช่วยให้พรรคก้าวไกลแข็งแกร่งขึ้น “มีความเป็นไปได้มากว่าถ้าหากประเทศไทยมีการเลือกตั้งอีกครั้ง พรรคก้าวไกลก็น่าจะได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้น ซึ่งแม้ว่าก้าวไกลจะพ่ายแพ้ในระยะสั้น แต่ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็จะได้รับชัยชนะ” โคแกนกล่าว 

รัฐบาล (อาจ) สั่นคลอน…

 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6DDpkbTX9LftUQZikzDpRY/c1a219da47f0d06010b783e5611c0129/thailand-turbulence-implications-for-region-and-world-SPACEBAR-Photo04__1_
Photo: Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP
ย้อนกลับไปครั้งหนึ่งในช่วงหาเสียงซึ่งเศรษฐาเคยกล่าวไว้ว่า “ผมนึกภาพไม่ออกเลยถ้าต้องทำงานร่วมกับผู้นำกองทัพในรัฐบาลเดียวกัน และต้องอยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดเดียวกัน…” แต่เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขากลับแย้งว่า “การดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อร่วมมือกับทั้ง 2 ฝ่าย (กองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยม) มีความจำเป็นต่อการดำเนินตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย” 

“ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาระบบที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้เกิดผลลัพธ์นี้ มันก็เป็นแนวทางเชิงปฏิบัติในการกอบกู้ ‘รัฐบาลกึ่งประชาธิปไตย’ ซึ่งกระทรวงหลักๆ ไม่ได้ถูกควบคุมโดยกลุ่มอนุรักษนิยม…แต่ในทางกลับกัน เพื่อไทยก็ต้องรู้ว่านี่เป็นการพนันกับอนาคต เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงที่จงรักภักดีจะปฏิเสธผู้นำพรรคที่ผูกมิตรกับศัตรู” โคแกนกล่าว 

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘รัฐบาลสมานฉันท์’ กลับได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนไม่ค่อยดีนัก โดยยพบว่า 64.5% ในการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับรัฐบาลผสมดังกล่าว 

“ในการปรับตัวให้สอดคล้องกับกลุ่มพรรคอนุรักษนิยมและกองทัพ พรรคเพื่อไทยต้องเสียทั้งความน่าเชื่อถือในฐานะพรรคที่สนับสนุนเสรีนิยมและสนับสนุนประชาธิปไตยซึ่งต่อต้านการปกครองของทหาร…แนวร่วมรัฐบาลทำให้พรรคเพื่อไทยมีข้อจำกัดอย่างมากในการปฏิบัติตามคำสัญญาที่ให้ไว้ตอนหาเสียง รวมถึงการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในอนาคตด้วย” ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยรับเชิญจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak แห่งสิงคโปร์กล่าวกับ TIME 

คงต้องรอดูกันต่อไปว่ารัฐบาลที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีผลประโยชน์ต่างกันอย่างมากมาย (ซึ่งมักจะขัดแย้งกัน) จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีเพียงใด? ทั้งนี้ ณพลอธิบายว่า “หากวัดประสิทธิผลในแง่ของความสามารถในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่เคยหาเสียงไว้และการดำเนินนโยบาย…ผมเชื่อว่ารัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะไม่เกิดประสิทธิผลมากนัก

วิกฤตการณ์การเมืองกำลังกระทบต่อบทบาทระดับภูมิภาคและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1IL7sYYsKHOc9zZj73pO7X/05e59a38c949bf3acc840ff74f15f16d/thailand-turbulence-implications-for-region-and-world-SPACEBAR-Photo05__1_
วิกฤตการณ์การเมืองดังกล่าวไม่เพียงแต่บ่อนทำลายประชาธิปไตยในประเทศให้อ่อนแอลง แต่ยังกระทบต่อบทบาทในระดับภูมิภาคของไทยด้วย และอาจรวมถึงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนเริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้นทุกที

ความวุ่นวายเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด 20 ปีในไทย ณ ขณะนี้จะขัดขวางกรุงเทพซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นมหาอำนาจหลักในอาเซียนจากการเป็นผู้นำในภูมิภาค 

อย่างไรก็ดี สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามในการสร้างสันติภาพในเมียนมาร์ หรือแม้แต่ขับไล่รัฐบาลเผด็จการที่นั่น เช่นเดียวกับความพยายามที่จะจัดการกับความรุนแรงที่ (อาจ) เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้ 

ความไม่มั่นคงของไทยจะทำให้สหรัฐฯ เห็นว่าไทยอ่อนแอและเป็นพันธมิตรที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ กังวลมากขึ้นว่า ‘หากเกิดความขัดแย้งเหนือไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ จะยังสามารถไว้ใจไทยได้หรือไม่?’ 

แล้วคุณล่ะ? คุณคิดว่าการเมืองไทยนับจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน? จะดีขึ้นกว่าเดิม หรือจะดิ่งลงเหว? แล้วเรายังเรียกร้องและถามหาความเป็นประชาธิปไตยจากรัฐบาลนี้ได้อีกหรือไม่? 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์