บทวิเคราะห์ต่างชาติชี้ เลือกตั้งไทยยังถูกผีการเมืองเก่าหลอกหลอน

3 พฤษภาคม 2566 - 03:29

thailands-upcoming-election-is-haunted-by-the-ghosts-of-politics-past-SPACEBAR-Thumbnail
  • ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? หรือจะเป็นการเปิด ‘วงจรอุบาทว์’ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องแกว่งไปแกว่งมาระหว่างรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนและเผด็จการทหาร?

บทวิเคราะห์จาก East Asia Forum โดย เกรก เรย์มอนด์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียพูดถึงการเลือกตั้งของไทยว่า ผีจากการเลือกตั้งในอดีตกำลังตามหลอกหลอนการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ซึ่งขับเคี่ยวกันบนสมรภูมิของนโยบายที่ต้องใช้เงินมหาศาล 

หากพรรคที่เป็นตัวแทนของทหารถูกกันออกจากอำนาจ จะทำให้ท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งที่มั่นคงซึ่งถูกบ่อนทำลายโดยการรัฐประหารของทหารเมื่อปี 2006 และ 2014 หรือไม่? หรือจะเป็นการเปิด “ วงจรอุบาทว์” ที่ทำให้ประเทศไทยต้องแกว่งไปแกว่งมาระหว่างรัฐบาลที่ผ่านการเลืกตั้งจากประชาชนและเผด็จการทหาร? 

เมื่อปี 2019 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากซึ่งเคยภักดีต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคของตระกูลชินวัตร อดกลั้นความรู้สึกภายในใจของตน และต้องการให้ "สงครามสี" ยุติลงระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุน "เสื้อแดง" กับ "เสื้อเหลือง" ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม เลือกโดยใช้นโยบายเป็นหลัก พวกเขาถูกดึงดูดด้วยสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความมั่นคงในรูปแบบของพรรคที่เป็นตัวแทนของทหารอย่างพลังประชารัฐและผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพรรคนั่นคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐประหาร รวมทั้งสวัสดิการที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ 

ปี 2023 ความแตกแยกทางการเมืองดูเหมือนจะโดดเด่นน้อยกว่า อย่างน้อยก็ภายนอก ด้วยการกลับมาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการห้ามพูดถึงการปฏิรูปกษัตริย์ การหาเสียงเลือกตั้งจึงถูกเรื่องของเศรษฐกิจจึงครอบงำ และในช่วงหลายปีที่ยากลำบากของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จนเกิดภาวะตกต่ำในช่วงปี 2020-2022 ความทรงจำอย่างลึกซึ้งของพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่ง ทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีในการกลับมาเป็นรัฐบาล 

บทความนี้ระบุอีกว่า โอกาสการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากความระส่ำระสายของฝั่งอนุรักษนิยม ประยุทธ์คือนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีอำนาจ อารมณ์บูดบึ้ง พูดจาหยาบคายกับสื่อ และไม่ยอมดีเบต ที่แย่ไปกว่านั้นคือ หากได้รับเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง ประยุทธ์ก็เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้นจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ 

ทว่ามีหลายเหตุผลที่บ่งชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่เพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แม้พรรคจะประกาศว่าจะแลนด์สไลด์ก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทำนายยากว่าใครจะเป็นรัฐบาล และที่สำคัญคือ ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป 

ระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไปนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2019 ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบถูกนำกลับมาใช้คือ แบบแบ่งเขตและแบบปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ๆ และทำให้พรรคเล็กเสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกล อีกทั้งโพลล์ของไทยมักไม่ค่อยน่าเชื่อถือและการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอาจน้อยกว่าที่โพลล์บอก 

ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญปี 2017 กำหนดให้มีสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยในสภาทั้งสองสภาซึ่งมีทั้งหมด 750 ที่นั่ง ถือเป็นตัวแปรสำคัญ แม้เจตนาของ ส.ว.ยังคลุมเครือและบางคนเชื่อว่า ส.ว.เหล่านี้จะเคารพเสียงของประชาชน ที่สำคัญกว่านั้นคือ การแตกแยกกันในฝ่ายอนุรักษนิยมอาจหมายถึงว่า ส.ว. อาจไม่ได้โหวตเป็นเอกฉันท์ 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องยุ่งยากของการร่วมรัฐบาล ยังไม่มีผู้นำพรรคเพื่อไทยคนใดตัดความเป็นไปได้ในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ นั่นหมายความว่าความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง “ประชาธิปไตย” และ “เผด็จการ” ของการเมืองไทยที่ดำเนินมาหลังการเลือกตั้งปี 2019 อาจจางหายไป การรวมกันที่ไม่ตายตัวนี้หมายความว่า สมการการจับมือกันของพรรคต่างๆ ในแบบอื่นๆ ก็อาจเป็นไปได้ การเลือกนายกรัฐมนตรีอาจหมายถึงการต่อรองเมื่อแนวร่วมหล่านี้แข็งแกร่ง พรรคเล็กๆ อย่างภูมิใจไทย อาจกลายเป็นคนกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี 

หลายพรรคมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมากกว่า 1 คนในการหาเสียงเลือกตั้ง และแม้ว่า แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นแคนดิเดตพรรคเพื่อไทยที่มีความโดดเด่น แต่เธอยังมีแคนดิเดตที่มากด้วยประสบการณ์และวัยอาวุโสกว่าอีก 2 คนประกบอยู่ ดังนั้นเส้นทางของเธอจึงยังไม่แน่นอน 

บทความระบุว่า นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่ไม่คาดฝันได้อีก อาทิ บทบาทของวังและ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในนาทีสุดท้ายอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การถอดพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบัลรัตน์ออกจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2019  

หากพรรคเพื่อไทยกลับมา เมล็ดพันธุ์ของการรัฐประหารครั้งต่อไป ไม่ว่าจะด้วยกองทัพหรืออำนาจตุลาการ อาจถูกหว่านไว้แล้ว นโยบายประชานิยมของเพื่อไทย เช่น การแจก 10,000 บาทเข้าดิจิทัลวอลเล็ต อาจถูกใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาแทรกแซงเหมือนกับในปี 2014 สมัยที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้นโยบายรับจำนำข้าวที่รับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าราคาตลาดและถูกมองว่าไร้ความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ 

ความเป็นไปได้ที่ทักษิณจะเดินทางกลับไทยอาจทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่พอใจและกระตุ้นให้เกิดการลงถนนอีกครั้ง 

ความแตกแยกร้าวลึกทางสังคมและภูมิภาคยังคงอยู่ในการเมืองไทย ทำให้การเมืองไทยไม่แน่นอนเช่นเคย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์