สื่อนอกชี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็ว ประชากร ‘แก่ก่อนรวย’

23 ตุลาคม 2566 - 01:00

thais-are-getting-old-before-they-get-rich-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ปี 2021 คนไทยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง 14%

  • ปี 2021 ประเทศไทยมีจีดีพีต่อหัวเพียง 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 255,255 บาท)

  • การแก่ก่อนรวยเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

The Economist ระบุว่า การมีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องดี และตราบใดที่ตลาดแรงงานยังสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของคนหางานได้ ผลลัพธ์ต่อหัวก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยเพิ่มการออมและการลงทุนที่นำมาสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ แรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยกระดับการพัฒนา แต่สำหรับประเทศที่ไม่สามารถเพิ่มประชากรวัยทำงาน ผลลัพธ์อาจไม่น่าดูนัก อย่างที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศกำลังจะเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้  

The Economist ยกตัวอย่างประเทศไทยซึ่งเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ปี 2021 คนไทยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง 14% (อายุ 65 ปีคือเกณฑ์ที่ใช้กำหนดว่าสังคมใดสังคมหนึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ) โดยอีกไม่นานประเทศไทยก็จะเป็นเหมือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ที่ประชากรวัยทำงานลดลงโดยที่ไม่มีมาตรการพิเศษรองรับ ส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถในการผลิต 

ทว่าสิ่งที่ประเทศไทยไม่เหมือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือประเทศอื่นๆ คือ ไทยไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยในปี 2021 ประเทศไทยมีจีดีพีต่อหัวเพียง 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 255,255 บาท) ไทยจึงเป็นประเทศที่ “แก่ก่อนรวย” เทียบกับญี่ปุ่นตอนที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเท่ากับไทย ญี่ปุ่นรวยกว่าไทยในปัจจุบันประมาณ 5 เท่า 

The Economist ระบุว่า สิ่งนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณไปกับการสาธารณสุขและการจ่ายบำนาญเพื่อดูแลผู้สูงวัยซึ่งส่วนใหญ่ยากจน ทำให้ไทยลงทุนด้านทักษะที่จะส่งเสริมผลิตภาพและโครงสร้างพื้นฐานได้ยากขึ้น และสิ่งที่ประเทศไทยเผชิญ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก็จะเผชิญเช่นกัน 

ในเอเชีย ที่ปัญหาลุกลามมากที่สุด อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีแนวโน้มจะเป็นสังคมสูงวัยด้วยระดับรายได้ที่ต่ำกว่าประเทศร่ำรวย ขณะที่ศรีลังกาซึ่งรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าของไทย 1 ใน 3 จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยในปี 2028  

The Economist ระบุว่า ประเทศที่ “แก่ก่อนรวย” ล้มเหลวในการคว้าโอกาสทางประชากรศาสตร์ หรือเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วเกินไป หรือประสบกับทั้งสองปัญหา ระหว่างปี 1960-1996 (ก่อนเกิดวิกฤตทางการเงินในเอเชีย) เศรษฐกิจของไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5% แม้จะสูงมากแต่ก็ยังต่ำกว่าของญี่ปุ่นที่เติบโตในเลข 2 หลักในช่วงที่เศรษฐกิจบูมมากๆ  

ในขณะที่ด้วยอายุขัยที่เพิ่มขึ้นและปัจจัยอื่นๆ ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยขยับขึ้น 2 เท่าจาก 7% เป็น 14% ในเวลาเพียง 2 ทศวรรษเท่านั้น ในขณะที่ของญี่ปุ่นใช้เวลา 24 ปี สหรัฐฯ 72 ปี และประเทศยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ใช้เวลากว่าร้อยปี 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและเศรษฐกิจเติบโตช้าลงเกิดขึ้นแพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ชาวเวียดนามที่รวยเพียงครึ่งหนึ่งของคนไทยแต่กลับสูงวัยเร็วกว่า ส่วนเศรษฐกิจของอินเดียเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่ก็ไม่เร็วเท่ากับประเทศไทยในช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ในช่วงทศวรรษ 2010 เศรษฐกิจอินเดียเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปีที่ 6.6% 

ข้อสรุปของ The Economist คือ ประเทศที่มีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นควรอาศัยคนกลุ่มนี้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด อีกข้อหนึ่งคือ ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องเริ่มวางแผนสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบบำนาญ รวมทั้งการเพิ่มอายุเกษียณ การเอาใจใส่ดูแลตลาดการเงินและเสนอทางเลือกประกันแบบออมเงินและประกันสุขภาพในระยะยาว การสร้างเงื่อนไขการดูแลทางสังคมส่วนบุคคลที่มีการควบคุมอย่างดี และการพยายามมากขึ้นในการเพิ่มความมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกำลังแรงงาน (labour force)  

การมีผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้นจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนทางประชากรศาสตร์ และช่วยจัดการกับปัญหาที่ว่าผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่กลับมีเงินออมและบำนาญน้อยกว่า จึงมีความเปราะบางเมื่ออายุมากขึ้น 

ข้อสรุปสุดท้ายคือ ประเทศกำลังพัฒนาควรเรียนรู้จากความผิดพลาดของประเทศร่ำรวย โดยคำนึงถึงการย้ายถิ่นฐานอย่างจริงจัง แม้จะยากลำบากในทางการเมืองแต่ก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการก่อให้กิดการปลี่ยนแปลง ไซต์งานก่อสร้างในกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยแรงงานเมียนมาผิดกฎหมาย นักการเมืองไทยสามารถนำแรงงานเหล่านี้เข้าสู่บทบาทที่มีประสิทธิผลมากขึ้นได้โดยการทำให้แรงงานเหล่านี้ถูกกฎหมาย 

Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์