วินาทีเดียวก็มีค่า! ประเทศไหนบ้างที่ได้ชื่อว่ามี ‘ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว’ ดีที่สุด

1 เม.ย. 2568 - 10:26

  • มีหลายประเทศที่มีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว (earthquake warning system) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมหลบภัยล่วงหน้า แต่ส่วนใหญ่ระบบเตือนภัยดังกล่าวมักพบในประเทศที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อย

  • SPACEBAR พาสำรวจระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวในประเทศต่างๆ ที่ได้ชื่อว่ามี ‘ระบบเตือนภัย’ ที่ดีที่สุด

the-best-earthquake-early-warning-system-SPACEBAR-Hero.jpg

ความบกพร่องจากการส่งข้อความ SMS เตือนภัยแผ่นดินไหวล่าช้าเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมากลายเป็นประเด็นร้อนในหมู่คนไทยว่า ‘ทำไมไม่มีการแจ้งเตือนแต่อย่างใด’ หรือแม้แต่เกิดขึ้นแล้ว SMS ที่แจ้งให้ออกจากตึก หรือหลบภัยยังล่าช้า บางคนได้รับข้อความ 4 โมงเย็น บางคนได้รับข้อความให้กลับขึ้นตึกได้ก็ปาไป 3 ทุ่ม ถึงขนาดที่นายกฯ แพทองธาร ชินวัตรของไทยต้องมาไล่บี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าสั่งการไปแล้วหลังเกิดแผ่นดินไหวไม่นาน แต่ทำไม SMS แจ้งเตือนไม่ออกเดี๋ยวนั้น

“การเตือนล่วงหน้า 3 วินาทีอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บลงได้ 14% การเตือนล่วงหน้า 10 วินาทีอาจช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ 39% และการเตือนล่วงหน้า 20 วินาทีอาจลดอัตราการบาดเจ็บลงได้ 63%”

รายงานจากวารสาร ‘Northwest Seismology’ ในประเทศจีนระบุ

มีหลายประเทศที่มีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว (earthquake warning system) เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมหลบภัยล่วงหน้า แต่ส่วนใหญ่ระบบเตือนภัยดังกล่าวมักพบในประเทศที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อย 

SPACEBAR พาสำรวจระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวในประเทศต่างๆ ที่ได้ชื่อว่ามีระบบเตือนภัยที่ดีที่สุด 

- ญี่ปุ่น -

ญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ให้ความสำคัญกับการคาดการณ์ และประเมินสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างหน้า อีกทั้งยังพัฒนาระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าให้พลเมืองทราบเพื่อเตรียมหนี และหลบภัยได้ทันด้วย 

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) จะมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า (EEW) 2 ระบบ : 

  • ระบบหนึ่งสำหรับประชาชนทั่วไป 
  • อีกระบบหนึ่งสำหรับกรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งชาติ 

เมื่อตรวจพบคลื่น P (คลื่นไหวสะเทือน) จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว 2 เครื่อง (หรือมากกว่านั้น) จากทั้งหมด 4,235 เครื่องที่ติดตั้งทั่วญี่ปุ่น JMA จะวิเคราะห์และคาดการณ์ตำแหน่งโดยประมาณของศูนย์กลางแผ่นดินไหว วิธีนี้ทำให้ JMA สามารถแจ้งให้ผู้คนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบทราบทางทีวีและวิทยุหากคาดการณ์แล้วว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 

หากคาดการณ์ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3 ขึ้นไปตามมาตราแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ทางการจะออกประกาศพยากรณ์แผ่นดินไหวฉุกเฉินแก่กรมอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งชาติ แต่หากประเมินแล้วว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ขึ้นไปตามมาตราแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ทางการก็จะออกคำเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าเพื่อเตือนประชาชนทั่วไป 

ประสิทธิภาพของการเตือนขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้รับ หลังจากได้รับคำเตือนแล้ว บุคคลนั้นจะมีเวลาในการเตรียมตัวหนีตั้งแต่ไม่กี่วินาทีไปจนถึงหนึ่งนาที หรือมากกว่านั้น แต่พื้นที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนรุนแรงก่อนที่จะมีการออกคำเตือน 

ยกตัวอย่างกรณีเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่โทโฮกุเมื่อปี 2011 ระบบ EEW และระบบเตือนภัยสึนามิของญี่ปุ่นถือว่า ‘มีประสิทธิภาพ’ ทีเดียว แม้ว่าคลื่นสึนามิจะคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 10,000 คน แต่เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่านี้มากหากไม่มีระบบ EEW 

- จีน -

สำหรับประเทศจีน เดิมทีมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศซึ่งพัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ทว่าความเสียหายจากแผ่นดินไหวเสฉวนเมื่อปี 2008 ทำให้จีนต้องลงทุนกับระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวทั่วประเทศ (EEW) สถานีตรวจสอบ เซ็นเซอร์ และระบบวิเคราะห์จำนวนมากเพื่อปรับปรุงความแม่นยำ การตอบสนอง และครอบคลุมข้อมูลแผ่นดินไหว 

ในเดือนมิถุนายน 2019 สถาบันลดภัยพิบัติไฮเทคเฉิงตูซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ EEW แห่งชาติ ได้แจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.0 ในช่วง 10–27 วินาทีก่อนเกิดเหตุกับเมืองต่างๆ ได้สำเร็จ 

ในปี 2024 สำนักงานบริหารแผ่นดินไหวแห่งจีน (CEA) เผยว่า จีนประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าแห่งชาติสำเร็จ โดยเปิดตัวเครือข่ายเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสถานีตรวจสอบ 15,899 แห่งทั่วประเทศ มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการเตือนภัยแผ่นดินไหวและรายงานความรุนแรงของแผ่นดินไหวอย่างรวดเร็ว 

โครงการเครือข่าวดังกล่าวสามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาด 2.5 ขึ้นไปได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาด 2.0 ขึ้นไปได้ ส่วนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น วงแหวนเมืองหลวงและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีนั้นสามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาด 1.0 ขึ้นไปได้ 

นอกจากนี้ จีนยังได้พัฒนาโมเดล ‘DiTing’ ปัญญาประดิษฐ์ขนาดใหญ่รุ่นแรก เพื่อค้นข้อมูลจำนวนมากสำหรับช่วยคาดการณ์แผ่นดินไหว โมเดลดังกล่าวมีฐานจากชุดข้อมูลประเภทเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลก และสามารถใช้ในการระบุสัญญาณแผ่นดินไหว ตรวจสอบกิจกรรมแผ่นดินไหว และรองรับการตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อแผ่นดินไหว 

- ไต้หวัน -

ไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเนื่องจากแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์และยูเรเซียมุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ประกอบกับเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งนครฮวาเหลียนขนาด 7.8 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางในเมืองหลวงไทเปเมื่อปี 1986 จึงเกิดระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว (EEW) ที่พัฒนาโดยกรมอุตุฯ ไต้หวัน (CWB) ขึ้นในปี 1994 

หากระบบสามารถตรวจจับแผ่นดินไหวในภูมิภาคฮวาเหลียนได้ภายใน 20 วินาที ก็อาจมีเวลาเตือน 10 วินาทีสำหรับเขตมหานครไทเป 

หลังจากพัฒนาระบบมาหลายปี CWB ได้จัดตั้งระบบ EEW ทั่วประเทศในปี 2002 ปัจจุบัน ระบบ CWB สามารถออกคำเตือนได้เป็นประจำภายใน 20 วินาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีหน้าที่แจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวในไต้หวันผ่านข้อความ SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ และระบบกระจายเสียงโดยตรงในโรงเรียน ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค อีกทั้งยังออกคำเตือนไปยังสถานที่ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 40–60 กม. 

ส่วนระบบ EEW อีกระบบหนึ่งดำเนินการโดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมแผ่นดินไหวแห่งชาติ (NCREE) ประกอบด้วยเครื่องมือ 90 ชิ้นที่ติดตั้งในโรงเรียนประถมศึกษา ทำหน้าที่เป็นเครือข่ายในสถานที่และแบบไฮบริด  

- เกาหลีใต้ -

ในส่วนของประเทศเกาหลีใต้ สำนักงานอุตุฯ (KMA) ได้พัฒนาและเริ่มดำเนินการระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า (EEW) เพื่อบรรเทาความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2015 เพื่อตรวจจับแผ่นดินไหวที่กำลังเกิดขึ้น และส่งการแจ้งเตือนทันทีไปยังหน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินระดับชาติ สื่อมวลชน และหน่วยงานในพื้นที่ 

เมื่อตรวจพบคลื่น P จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว 6 เครื่องขึ้นไปจากทั้งหมด 150 เครื่องที่ติดตั้งอยู่ทั่วเกาหลี ระบบ EEW จะวิเคราะห์และคาดการณ์พื้นที่โดยประมาณของศูนย์กลางแผ่นดินไหวและขนาดของเหตุการณ์โดยอัตโนมัติ 

การคาดการณ์เหล่านี้ทำให้ KMA สามารถแจ้งเตือนผู้คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางโทรทัศน์และวิทยุหากคาดว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง โดยจะมีการแจ้งเตือนภัย EEW แก่ประชาชนทั่วไปในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวที่มีขนาด 5.0 ขึ้นไป 

- อิสราเอล -

อิสราเอลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในหุบเขาริฟต์แวลลีย์ระหว่างซีเรีย-แอฟริกา ประกอบกับประเทศที่มีขนาดเล็ก จึงทำให้พลเมืองส่วนใหญ่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวสูง แถมประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศนี้ประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเฉลี่ย 1 ครั้งในรอบศตวรรษ โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1927

ระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว (EEW) ของอิสราเอล หรือเรียกอีกอย่างว่าระบบ ‘TRUAA’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายแผ่นดินไหวอิสราเอล (ISN) ที่เริ่มใช้งานในปี 2022 มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมากกว่า 100 แห่งกระจายอยู่ตามระบบรอยเลื่อนอันตรายหลักของทะเลเดดซีและคาร์เมล-ซฟิราเป็นหลัก เพราะเป็นจุดที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 

ตัวเซ็นเซอร์ใน TRUAA ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และจะส่งข้อมูลดิจิทัลไปยังศูนย์ควบคุม 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มและเมืองลอด ห่างไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 46 กิโลเมตร (29 ไมล์) 

หากตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 4.5 ข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปยังศูนย์บัญชาการภายในประเทศ ซึ่งมีหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนถึงอันตรายผ่านเสียงไซเรน ข้อความ รวมถึงประกาศทางวิทยุและโทรทัศน์ แต่หากแผ่นดินไหวรุนแรงกว่า 6 จะมีการเตือนภัยทั่วประเทศ 

ระบบจะใช้เวลา 5-8 วินาทีในการรับแรงสั่นสะเทือน และใช้เวลาอีก 2 วินาทีในการแจ้งเตือน 

- สหรัฐฯ -

สำหรับสหรัฐฯ นั้นมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวที่เรียกว่า ‘ShakeAlert’ ซึ่งบริหารจัดการโดยสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ (USGS) ซึ่งก่อนหน้านี้ ทาง USGS ได้เริ่มการวิจัยและพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ มาก่อนแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2006 และระบบใช้งานได้จริงในเดือนสิงหาคม 2009 หลังจากนั้นก็มีการพัฒนาระบบมาเรื่อยๆ 

ShakeAlert เป็นระบบที่สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะส่งสัญญาณเตือนไปยังประชาชนได้ก่อนที่แผ่นดินไหวรุนแรงจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งยังเป็นระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าสาธารณะเพียงระบบเดียวของประเทศที่ให้บริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวกว่า 50 ล้านคนในรัฐแคลิฟอร์เนีย ออริกอน และวอชิงตัน 

หน้าที่ของ ShakeAlert คือตรวจจับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแล้วและประเมินตำแหน่ง ขนาด ความรุนแรงของแผ่นดินไหว หากแผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่พอที่จะถึงเกณฑ์การแจ้งเตือนของ USGS ระบบจะส่งข้อความออกไป จากนั้น หน่วยงานพันธมิตรทางเทคนิคที่ร่วมมือกับ USGS จะนำข้อมูลนี้ส่งการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมการหลบภัย 

Photo by : Shutterstock / Setyawan Utomo Hadi

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์