วิจัยใหม่เผยคนประเทศไหนทั้งกินทั้งสูด ‘ไมโครพลาสติก’ มากสุด! ไทยติดท็อป 20

3 มิ.ย. 2567 - 00:00

  • การศึกษาใหม่พบว่าประเทศที่สูดฝุ่นไมโครพลาสติกเข้าไปเยอะสุด 3 อันดับแรกได้แก่ จีน มองโกเลีย และสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 จากทั้งหมดที่ทำการศึกษา 109 ประเทศ

  • ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ในอันดับต้นๆ ของการบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปมากที่สุด

  • ทีมวิจัยทำการประเมินจากปริมาณพลาสติกที่ผู้คนทั่วโลกกินและหายใจโดยไม่รู้ตัว

the-countries-where-people-unwittingly-eat-inhale-the-most-microplastics-SPACEBAR-Hero.jpg

โลกนี้อยู่ยากขึ้นทุกทีไหนจะสงคราม ไหนจะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ที่ล้ำเกินจนกลายเป็นข้อกังวลว่ามันอาจเป็นตัวทำลายล้าง แล้วการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกล่ะ ทั้งร้อนจัด น้ำท่วมหนัก ฝุ่นหนา บางประเทศหนาวจัดอีก แต่นอกจากเรื่องพวกนี้แล้วยังมีอีกเรื่องที่เราต้องระแวดระวังด้วยนั่นก็คือ ‘การหายใจ’ และ ‘การรับประทานอาหาร’ 

เราอาจไม่รู้เลยว่าอากาศที่เราใช้หายใจอยู่ทุกวัน หรืออาหารที่กินเข้าไปแต่ละมื้อมีสิ่งแปลกปลอมอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ มันมี ‘ฝุ่นไมโครพลาสติก’ และตัว ‘ไมโครพลาสติก’ ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศและอาหาร 

‘ไมโครพลาสติก’ มักปนเปื้อนกับอะไร?

the-countries-where-people-unwittingly-eat-inhale-the-most-microplastics-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘ไมโครพลาสติก’ เป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอนุภาคเหล่านี้สามารถเข้าสู่อาหารของเราผ่านช่องทางต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ โดยพบว่าอาหารทะเลกลายเป็นแหล่งอันตราย เนื่องจากปลาและสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งมักจะกินไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนจากมหาสมุทรเข้าไป จากนั้นมันก็ถ่ายโอนตัวไมโครพลาสติกไปยังมนุษย์ตอนที่กินอาหารทะเลเข้าไป 

นอกจากนี้ เกลือสมุทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีมลพิษทางทะเลสูงก็พบว่ามีไมโครพลาสติสูงมากเช่นกัน ไหนจะน้ำดื่มบรรจุขวดที่มักปล่อยไมโครพลาสติกลงในน้ำที่เราดื่ม ส่วนบรรจุภัณฑ์อาหารนั้นจะปล่อยไมโครพลาสติกออกมามากใส่ในอาหารก็ตอนที่มันโดนความร้อน สำหรับพลาสติกที่ใช้ในการเกษตร เช่น ฟิล์มคลุมดิน ก็สามารถย่อยสลายและปนเปื้อนในพืชผลได้ด้วยเช่นกัน 

ไม่ใช่แค่ปนเปื้อนในอาหารเท่านั้น แต่ ‘อากาศ’ ที่ใช้หายใจก็ปนเปื้อนด้วย 

การศึกษาใหม่พบว่าประเทศที่สูดฝุ่นไมโครพลาสติกเข้าไปเยอะสุด 3 อันดับแรกได้แก่ จีน มองโกเลีย และสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 จากทั้งหมดที่ทำการศึกษา 109 ประเทศ โดยประเมินจากปริมาณพลาสติกที่ผู้คนทั่วโลกกินและหายใจโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งนี้มันเกิดจากการที่เศษพลาสติกที่ไม่ผ่านการย่อยสลายและกระจายตัวออกสู่สิ่งแวดล้อม

“การดูดซึมไมโครพลาสติกในระดับประเทศเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของมลพิษจากพลาสติกและความเสี่ยงด้านสาธารณสุข…”

เฝิงฉี โยว ศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมระบบพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนลกล่าว

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ‘Environmental Science & Technology’ กล่าวถึงพฤติกรรมการกินของแต่ละประเทศ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร อายุประชากร และอัตราการหายใจ ปัจจัยทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้เกิดความแตกต่างในวิธีที่ผู้อยู่อาศัยแต่ละประเทศบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไป 

ผลวิจัยระบุว่า ผู้คนในประเทศจีนและมองโกเลียหายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปในระดับที่สูงมากอยู่ที่ 2.8 ล้านอนุภาคต่อวัน ขณะที่ผู้คนในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์หายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 791,000 อนุภาคต่อวัน ทั้งนี้พบว่าในลอนดอนมีปริมาณไมโครพลาสติกในอากาศสูงโดยเฉพาะไมโครไฟเบอร์จากสิ่งทออะคริลิก  

ในทางกลับกันนักวิจัยกลับพบว่าผู้อยู่อาศัยในสหรัฐฯ นั้นหายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปน้อยประมาณ 300,000 อนุภาคต่อวัน (อันดับที่ 6 จาก 10 อันดับ) ขณะที่มีเพียงผู้อยู่อาศัยในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและภูมิภาคใกล้เคียงเท่านั้นที่หายใจเอาอนุภาคไมโครพลาสติกเข้าไปน้อยลง เช่น สเปน โปรตุเกส และฮังการี ซึ่งผู้คนหายใจเอาอนุภาคเข้าไปประมาณ 60,000-240,000 อนุภาคต่อเดือน 

ผู้คนรับประทาน ‘ไมโครพลาสติก’ มากน้อยเพียงใด

ประเทศไหนบริโภค-‘ไมโครพลาสติก’.jpg
Photo: ภาพโดย : กนกวรรณ หิรัญกวินกุล

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ในอันดับต้นๆ ของการบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปมากที่สุด 

นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในหมวดหมู่ย่อยของกลุ่มอาหารหลักๆ เช่น ผลไม้ ผัก โปรตีน ธัญพืช นม เครื่องดื่ม น้ำตาล เกลือ และเครื่องเทศ 

นอกจากนี้ แบบจำลองยังใช้ข้อมูลที่ระบุรายละเอียดปริมาณอาหารเหล่านั้นที่บริโภคในประเทศต่างๆ ตัวอย่างเช่น การบริโภคเกลือต่อหัวในอินโดนีเซียและสหรัฐฯ นั้นเท่ากัน แต่ความเข้มข้นของไมโครพลาสติกในเกลือของอินโดนีเซียกลับสูงกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 100 เท่า 

  • โดยรวมแล้ว การศึกษาพบว่าชาวมาเลเซียรับประทานไมโครพลาสติกประมาณ 15 กรัมต่อเดือน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ และพบว่าอนุภาคพลาสติกส่วนใหญ่มาจากแหล่งน้ำ เช่น อาหารทะเล  
  • ขณะที่อินโดนีเซียบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปประมาณ 13 กรัมต่อเดือน 
  • แต่สำหรับการบริโภคไมโครพลาสติกของสหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 กรัมต่อเดือน  
  • ส่วนสหราชอาณาจักรบริโภคไมโครพลาสติกโดยเฉลี่ยประมาณ 1.6 กรัมต่อเดือน  
  • และประเทศที่บริโภคไมโครพลาสติกต่ำสุดคือ ‘ปารากวัย’ ที่ 0.85 กรัมต่อเดือน 

“การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ได้นำไปสู่การเพิ่มการบริโภควัสดุพลาสติก การสร้างของเสีย และการดูดซึมไมโครพลาสติกของมนุษย์ ในทางกลับกัน ประเทศอุตสาหกรรมก็กำลังเผชิญกับการกลับตัวของแนวโน้ม โดยได้รับการสนับสนุนจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในการลดและกำจัดเศษพลาสติก” ผู้ร่วมเขียนวิจัยกล่าว 

ผลการศึกษายังบอกอีกว่าการลดขยะพลาสติกในน้ำลง 90% สามารถลดการบริโภคไมโครพลาสติกได้อย่างมาก โดยมากถึง 51% ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และ 49% ในภูมิภาคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสูง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์