แกมเบียประเทศที่ใช้ ‘ก้อนหิน’ ลงคะแนนเลือกตั้งไล่ผู้นำเผด็จการ

11 เมษายน 2566 - 08:36

he-gambia-marbles-ballot-voting-system-SPACEBAR-Thumbnail
  • แกมเบียวิธียุคโบราณลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยก้อนหิน หมดปัญหาบัตรเสีย แถมสามารถไล่ผู้นำเผด็จการได้สำเร็จ

ปี่กลองการเมืองดังขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบ 8 ปีของประเทศ บรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละพรรคการเมืองต่างก็ได้รับ ‘เบอร์’ ไว้สำหรับการหาเสียงซึ่งจะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนเมษายนนี้ ก่อนที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขียนจะมีขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม จากนั้นก็จะเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งจริงในวันที่ 14 พฤษภาคม 

สิ่งที่อาจจะกลายเป็นปัญหาสำหรับการเลือกตั้งในรอบนี้ก็คือ ‘บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ’ การเลือกตั้ง 2566 คือบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ในบัตรจะมีเพียงมีหมายเลขผู้สมัคร (เบอร์) และช่องสำหรับกากบาท โดยไม่มีชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรค ซึ่งบัตรแบบแบ่งเขตนี้ อธิบายง่ายๆ คือการเลือกคนที่เราต้องการให้เป็นตัวแทนเขตเราเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ

ส่วนแบบที่สองคือ เลือกพรรคที่ชอบให้เข้าสภาฯ เป็นบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีหมายเลขผู้สมัคร (เบอร์) มีสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง บัตรทั้งสองแบบนี้จะมีปัญหาที่อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชนคือ “หมายเลขผู้สมัครและพรรคไม่เหมือนกัน เบอร์ผู้สมัคร ส.ส. เขตในบัตรใบแรกไม่เหมือนกับเบอร์ในใบที่สอง” และต่อให้มาจากพรรคเดียวกัน แต่ผู้สมัคร ส.ส. เขตแต่ละคนก็อาจจะคนละเบอร์ 

นั่นหมายความว่า หากประชาชนเดินเข้าคูหาเลือกต้้ง 2566 หมายเลขผู้สมัคร ส.ส. เขตในบัตรใบแรก และหมายเลขพรรคในบัตรใบที่สอง ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นผู้สมัคร ส.ส. A อาจจะจับฉลากได้หมายเลข 2 ในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่พรรคที่ผู้สมัคร ส.ส. A สังกัด อาจจับฉลากได้หมายเลข 5 นั่นทำให้ประชาชนที่ต้องการเลือก ‘ทั้งคนทั้งพรรค’ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการกากบาทในช่องหมายเลขที่ไม่เหมือนกันในบัตรใบแรกและบัตรใบที่สอง แทนที่จะเป็นหมายเลขเดียวกันเพื่อให้สะดวกในการจดจำและลงคะแนน เรื่องนี้จะสร้างความสับสนให้ประชาชนได้ โดยเฉพาะบัตรใบแรกที่ไม่ปรากฏโลโก้พรรค 

เอาเข้าจริงๆ ระบบการเลือกตั้งของไทยในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ก็จะใช้วิธีการกากบาทลงในบัตรลงคะแนน ซึ่งเป็นรูปแบบที่หลายประเทศใช้กัน จะมีบางประเทศที่ทันสมัยหน่อยด้วยการใช้ ‘เครื่องลงคะแนน’ อย่างเช่นในบางมลรัฐของสหรัฐอเมริกาที่มีการใช้เครื่องลงคะแนนช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีอยู่หนึ่งประเทศที่ใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแปลกๆ ซึ่งถูกที่ใช้มาตั้งแต่สมัย 60 ปีก่อน แต่กลับได้ผลอย่างน่าเหลือเชื่อทำให้หมดปัญหา ‘บัตรเสีย’ ทั้งยังไม่สร้างความสับสนให้กับผู้ลงคะแนนในการเลือกผู้สมัครที่ตนเองชื่นชอบ ด้วยวิธีการใช้ ‘ลูกแก้วหิน’ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ประเทศแกมเบีย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6gQZVm4Jlog3ANiSxpRArK/56dfac34342281efd5b13ce038835ea9/he-gambia-marbles-ballot-voting-system-SPACEBAR-Photo01
Photo: เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งเทหินออกจากถังระหว่างการนับคะแนนในเมืองบันจูล วันที่ 4 ธันวาคม 2021 / JOHN WESSELS / AFP

ประชาธิปไตยยุคก่อนอาณานิคม

แกมเบีย หรือ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐแกมเบีย เป็นประเทศขนาดเล็กในแอฟริกาตะวันตก จัดเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในแผ่นดินใหญ่ของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ราว 11,300 ตร.กม. พร้อมประชากรเพียง 2.4 ล้านคน แต่กลับมีวิธีการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เหมือนใครซึ่งอาจทำให้หลายคนประหลาดใจในโลกสมัยใหม่ แม้จะมีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ แกมเบียยังคงใช้ก้อนหินในการลงคะแนนเสียง   

ประวัติศาสตร์การใช้ก้อนหินลงคะแนนเสียงในแกมเบีย อาจต้องย้อนไปถึงช่วง คศ.13 ที่พบหลักฐานว่าชาว Mandinka ชนพื้นเมืองซึ่งอาศัยในแถบตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ตามประเพณีพวกเขาจะใช้หินในการเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้าน โดยหินแต่ละก้อนเป็นตัวแทนของคะแนนเสียงสำหรับผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง  

เมื่ออาณาจักรของกลุ่ม Mandinka มีขนาดและอำนาจเพิ่มขึ้น การใช้หินลงคะแนนเสียงก็แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รับเอาประเพณีที่แตกต่างกันไป ระบบนี้ใช้สำหรับการตัดสินในเรื่องส่วนร่วมเกือบทุกอย่างตั้งแต่การตัดสินใจเกี่ยวกับกฎของหมู่บ้านไปจนถึงการเลือกผู้นำ 

เมื่อแกมเบียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ระบบดั้งเดิมนี้ถูกแทนที่ด้วยการเลือกตั้งแบบตะวันตก สำหรับการเลือกผู้แทนในรัฐสภาและหัวหน้ารัฐบาล อย่างไรก็ตาม ก็ติดปัญหาตรงที่ ชาวพื้นเมืองแกมเบียหลายคนขาดความรู้ในหนังสือ ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เหมือนชาวตะวันตก บรรดาผู้ปกครองชาวอังกฤษก็มองว่า ระบบการเลือกตั้งแบบใช้หินลงคะแนนเสียง ก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการเลือกตั้งในท้องถิ่นทั้งยังให้ผลลัพธ์คะแนนเสียงตามแบบประชาธิปไตย ทางการอังกฤษอนุญาตให้ชาวแกมเบียใช้ก้อนหินต่อไปเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งบางรายการ 

เมื่อแกมเบียได้รับเอกราชจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษในปี 1965 การใช้หินลงคะแนนได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ ที่ยังคงถูกใช้จนถึงในปัจจุบัน อีกทั้งชาวแกมเบียจำนวนไม่น้อยมองว่าวิธีการโบราณเหล่านี้ เป็นหนึ่งในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง 

แม้จะมีแรงกดดันจากประเทศตะวันตกให้ใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ แต่รัฐบาลยังคงใช้หินลงคะแนน โดยว่าเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดต้นทุนในการรับรองการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 

ด้วยความที่แกมเบีย ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาและระบบการขนส่งที่ยากลำบาก รัฐบาลแกมเบียจึงมองว่าแม้ผ่านมาหลาย 60 ปี การใช้หินลงคะแนนเสียงก็ยังคงเป็นรูปแบบที่เหมาะสม ขณะเดียวกันวิธีนี้ได้ฝังรากลึกในวัฒนธรรมและประเพณีของชาวแกมเบีย และถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาติ 

หนึ่งในเหตุผลสำคัญสำหรับความสำคัญทางวัฒนธรรมของการลงคะแนนเสียงคือ แนวคิดของการมีส่วนร่วมของชุมชน แนวทางปฏิบัตินี้ทำให้มั่นใจได้ว่าทุกคนในชุมชนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งผู้นำ โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งที่ตั้งหรือสถานะทางสังคม ความรู้สึกไม่แบ่งแยกและการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย จึงยิ่งมีส่วนทำให้เกิดการยอมรับและใช้บัตรลงคะแนนหินอย่างกว้างขวาง 

ปัจจัยทางวัฒนธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แนวคิดเกี่ยวกับมรดกของบรรพบุรุษ สำหรับชาวแกมเบียหลายๆ คน การใช้หินในการลงคะแนนเป็นการแสดงถึงความเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษและมรดกทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับชนพื้นเมือง Mandinka ทั้งยังถูกมองเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นเอกลักษณ์แม้โลกสมัยใหม่จะใช้การลงคะแนนแบบกาบัตรเลือกตั้งก็ตาม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/48FuzVKGnfYvERalTXqJRD/31339ed4307761ed4cfcf1be14b91f59/he-gambia-marbles-ballot-voting-system-SPACEBAR-Photo02
Photo: อาสาสมัครทำความสะอาดหน่วยลงคะแนนภายในโรงเรียนในย่าน Manjai Kunda ก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในเมืองบันจูล วันที่ 3 ธันวาคม 2021 / JOHN WESSELS / AFP

หินลงคะแนนอย่างไร

แกมเบีย ได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเมื่อ 4 ธันวาคม 2021 เมื่อมาถึงหน่วยเลือกตั้ง ชาวแกมเบียจะยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน จากนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะถูกนำทางไปยังกลองชุดหนึ่งซึ่งวาดด้วยสีประจำพรรคของผู้สมัครที่แตกต่างกัน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ยื่นก้อนหินกลมใสที่มีลักษณะคล้ายลูกแก้วให้คนละหนึ่งลูก 

ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะหย่อนก้อนหินใสลงในถังเหล็กที่แบ่งตามสี โดยด้านบนถังจะติดภาพของผู้สมัครไว้ ถังลงคะแนนจะมีลักษณะปิดถัง มีปากปล่องด้านบนไว้สำหรับให้ผู้ลงคะแนนเสียงหย่อนหิน ลงในถังของผู้สมัคร ภายในถังก้อนหินที่ถูกหย่อนจะมีเสียงกระดิ่งดัง เพื่อเป็นสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งทราบว่าได้หย่อนหินเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันผู้ลงคะแนนเสียงลักลอบหย่อนหินมากกว่าหนึ่งลูก  

เมื่อการเลือกตั้งหมดเวลา ลูกหินจากแต่ละถังจะถูกนับโดยถาดไม้ที่ถูกทำมาพิเศษโดยมีที่มีหลุมตามจำนวนหิน ถาดหนึ่งอาจจะมี 200 หรือ 500 หลุม ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่นับจำนวนคะแนนได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำนับบัตรลงคะแนน วิธีการนี้แม้จะโบราณ แต่ก็ทำให้ไร้ปัญหา ‘บัตรเสีย’ โดยปริยาย  

การใช้หินลงคะแนนเสียงยังช่วยให้แน่ใจว่ากระบวนการลงคะแนนนั้นโปร่งใสและยุติธรรม หินแต่ละก้อนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรูปร่าง ขนาด และสีที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่มีใครสามารถปลอมแปลงหรือลอกเลียนแบบได้  

Alieu Momarr Njai ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแกมเบีย เคยกล่าวในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2016 ว่า การลงคะแนนด้วยหินนี้ นอกจากสะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้ว ยังโปร่งใส น่าเชื่อถือ และยุติธรรมมากขึ้น ทำให้พลเมืองที่ไม่รู้หนังสือของประเทศสามารถลงคะแนนเสียงได้ เป็นวิธีที่เรียบง่าย ธรรมดา และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าระบบใหม่...มันค่อนข้างน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม แม้ในสายตาของคนแกมเบียจะดูว่าระบบนี้ดูน่าเชื่อถือ แต่อีกมุมหนึ่งในสายตาของหน่วยงานระดับนานาชาติที่จับตาการเมืองในแกมเบีย มองว่าวิธีการนี้ยังไม่สะท้อนความโปร่งใสในแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

แม้จะดูเหมือนมีข้อดีในแง่เหมาะสมกับพื้นที่ธุรกันดารและประชาชนที่ไม่รู้หนังสือ ให้ง่ายต่อการลงคะแนน แต่การลงคะแนนรูปแบบนี้ก็ยังมีข้อเสีย เนื่องจากใช้เวลานาน ในกระบวนการการนับคะแนน โดยเฉพาะในการเลือกตั้งใหญ่ สิ่งนี้อาจทำให้การประกาศผลล่าช้าและทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงที่อยากรู้ผลการเลือกตั้งเกิดความไม่พอใจ ตลอดจนอาจจำไปสู่การโกงหรือการเกิดข้อผิดพลาดในการนับคะแนน 

นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนอาจหย่อนหินลงคะแนนผิดกองโดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา ขณะเดียวการคะแนนแบบหินไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้ง่ายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการลงคะแนนหรือการแนะนำผู้สมัครใหม่ การขาดความยืดหยุ่นนี้อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตยในระยะยาว  

อีกข้อกังวลหลักคือ ปัญหาการข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ซึ่งผู้นำแบบดั้งเดิมอาจใช้อิทธิพลที่ไม่เหมาะสมเหนือกระบวนการลงคะแนนเสียง 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6FP4VEXJA3wiYlJc72GcuU/9cc58854e21c0cb012a44c460648d394/he-gambia-marbles-ballot-voting-system-SPACEBAR-Photo03
Photo: ยะยาห์ ชัมเมห์ ขณะแถลงผ่านโทรทัศน์ อ้างการเลือกตั้งผลเป็นโมฆะ เมื่อ 2 ธันวาคม 2016 / Handout / GRTS - Gambia Radio and Television Services / AFP

โหวตด้วยหิน ไล่ผู้นำเผด็จการ

แม้ระบบลงคะแนนด้วยหินซึ่งถูกนำมาใช้ในการลงคะแนนเสียงทางการเมืองตั้งแต่ยุค 1960 เพื่อให้ทุกคนในประเทศที่มีอัตรากรไม่รู้หนังสือสูง มีสิทธิลงคะแนนเสียงอย่างเท่าเทียมกัน จะมีข้อกังขาในบางประการ แต่ระบบนี้เคยเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า มันมีประสิทธิภาพพอที่จะขับไล่ผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมานานถึง 21 ปี 

ย้อนไปในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2017 ยะห์ยา ชัมเมห์  (Yahya Jammeh) ประธานาธิบดีแกมเบียผู้ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1996 ถูกขับไล่ลงจากตำแหน่งหลังพ่ายแพ้ผลการเลือกตั้งให้ อดาม่า บาร์โรว์ (Adama Barrow) 

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญหนึ่งของการที่ทำให้ชัมเมห์ ถูกขับลงจากตำแหน่งเนื่องจากในเวลานั้นเกิดวิกฤตรัฐธรรมแกมเบียขึ้นในช่วงปี 2016-2017 โดยในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือนธันวาคม 2017 ยะห์ยา ชัมเมห์ ได้พยายามใช้การข่มขู่บรรดาผู้ลงคะแนนเสียงให้โหวตลงคะแนนให้เขาด้วยหลายวิธีการ ตั้งแต่พยายามส่งทหารไปขัดขวางการลงคะแนนบางหน่วยเลือกตั้ง ดักปล้นลูกแก้วที่ลงคะแนนเสียง ปิดปากนักการเมืองและนักกิจกรรมฝ่ายตรงข้าม จนถึงการพยายามทำลูกแก้วหินปลอมเพื่อเพิ่มคะแนนเสียงให้ตนเอง  

แต่ท้ายที่สุดผลโหวตก็ทำให้ชัมเมห์ ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งในที่สุด แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะเขาพยายามไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จนถึงขั้นที่ อดาม่า บาร์โรว์ ผู้ท้าชิงที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องลี้ภัยในสถานทูตแกมเบียในกรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล พร้อมสาบานตนเข้ารับตำแหน่งภายในสถานทูต 

บาร์โรว์ ได้เรียกร้องให้กองกำลังประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) เข้าแทรกแซงความพยายามของชัมเมห์ในการล้มการเลือกตั้ง กระทั่งกองกำลังผสมของ ECOWAS จากเซเนกัล ไนจีเรีย และกานา เข้าแทรกแซงทางทหารจากบรรดากลุ่มทหารที่ภักดีต่อชัมเมห์ จนท้ายที่สุดชัมเมห์ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ และอดาม่า บาร์โรว์ เดินทางกลับประเทศในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของแกมเบีย ส่วนชัมเมห์ปัจจุบันก็ยังคงหลบลี้หนีภัยอยู่ต่างประเทศ 

แม้แกมเบียจะสามารถเปลี่ยนตัวผู้นำด้วยวิธีลงคะแนนจากยุคโบราณ แต่ต้องยอมรับว่าระบบองคาพยพหลายประการในประเทศ เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้หลุดพ้นจากผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมานาน 20 ปี ขณะที่ยังมีเสียงในแกมเบียที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง  

นักเคลื่อนไหวบางคนโต้แย้งว่าการลงคะแนนด้วยหินนั้นล้าสมัยและใช้งานไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ และแกมเบียควรลงทุนในเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่อื่นๆ แต่ก็มีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยที่แนะนำว่าการลงคะแนนด้วยหินสามารถปรับปรุงให้ทันสมัยได้โดยใช้กล้องหรือเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อปรับปรุงความโปร่งใสและความแม่นยำในการลงคะแนน  

ท้ายที่สุด ไม่ว่าแกมเบียจะเลือกที่จะยึดติดกับหินหรือยอมรับวิธีการที่ทันสมัยกว่า มรดกของประเพณีการลงคะแนนเสียงที่ไม่เหมือนใครก็ได้รับการพิสูจน์ในโลกสมัยใหม่แล้วว่า ประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้มีสิทธิลงคะแนน แต่คือการหาระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ลงคะแนนได้อย่างเท่าเทียมมากที่สุด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์