ครั้งหนึ่งลอนดอนเคยเผชิญ ‘หมอกควันครั้งใหญ่’ ขนาดที่ว่าคนเดินถนนมองไม่เห็นเท้าตัวเอง

27 ม.ค. 2568 - 07:29

  • ครั้งหนึ่งกรุงลอนดอนเคยเผชิญ ‘หมอกควันครั้งใหญ่’ (Great Smog of London) เมื่อปี 1952 ถึงขนาดที่ว่าคนเดินบนถนนมองไม่เห็นเท้าตัวเอง

  • แม้แต่วัวก็ยังหายใจไม่ออก อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ตามปัจจุบันว่าอาจมีผู้เสียชีวิตเป็นหมื่นรายทีเดียว

the-great-smog-of-1952-london-SPACEBAR-Hero.jpg

ครั้งหนึ่งลอนดอนก็เคยประสบปัญหาหมอกควันแผ่ปกคลุมเมืองอย่างหนักจนทำให้ผู้คนเสียชีวิตหลายพันราย ปรากฏการณ์ในครั้งนั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1950 เรียกว่า ‘หมอกควันลอนดอนครั้งใหญ่’ (Great Smog of London) เกิดขึ้นเป็นเวลา 4 วันตั้งแต่วันที่ 5-9 ธันวาคม 1952 

หมอกควันครั้งนั้นเลวร้ายแค่ไหน...

เมื่อ 72 ปีที่แล้ว...ลอนดอนต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายหมอกควันครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทำให้ผู้คนต้องเผาถ่านหินจำนวนมากในบ้านเพื่อให้ความอบอุ่นส่งผลให้มีควันมหาศาลฟุ้งกระจายในอากาศ 

ภายใต้สภาวะปกติ ควันจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและกระจายออกไป แต่ในสภาวะนี้ไม่ปกติ เนื่องจากระบบความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมประเทศอยู่ บรรยากาศเคลื่อนตัวลงมาด้านล่าง ประกอบกับพายุไซโคลนพัดผ่านเมืองจึงเกิดการผกผันของอากาศทำให้อากาศเย็นถูกกักไว้ใต้ชั้นอากาศอุ่น (ลมร้อน) ที่อยู่สูงขึ้นไป ส่งผลให้มลพิษจากเมือง เช่น ควันไอเสียจากเตาผิงในบ้านและปล่องไฟของโรงงานปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศไม่ได้ และถูกกักไว้ใกล้ระดับพื้นดิน 

เมื่อมลพิษสะสมใกล้พื้นดินมากขึ้นเป็นเวลาหลายวัน ชั้นหมอกควันจึงกลายเป็นพิษ และมีความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้ทัศนวิสัยในบางส่วนของเมืองแย่มากจนคนเดินถนนมองไม่เห็นเท้าของตัวเอง ยิ่งในตอนกลางคืนยิ่งมองไม่เห็นทาง อีกทั้งการเดินทางยังหยุดชะงักไปหลายวัน ผู้คนต้องทิ้งรถไว้บนถนน และอาชญากรรมบนท้องถนนก็เพิ่มมากขึ้นด้วย  

ทั้งนี้พบว่าในห้วงเวลานั้น ความเข้มข้นของซัลเฟอร์ไดออกไซด์เฉลี่ยรายวันอยู่ในช่วง 3,000-4,000 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรติดต่อกัน 3 วัน ขณะที่วัดความเข้มข้นของควัน (ฝุ่นละอองขนาดเล็ก) รายวันได้ 490 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 1952 และเพิ่มขึ้นเป็น 4,460 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในวันที่ 7 และ 8 ธันวาคม 1952  

มีรายงานว่าสภาพอากาศเลวร้ายครั้งนั้นทำให้ผู้คนเสียชีวิตจากสภาวะหมอกควันประมาณ 4,000 คน (ตามการคาดการณ์ของรัฐบาลปี 1952) แต่ตามการคาดการณ์ในปัจจุบันพบว่าอาจมีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 10,000-12,000 รายเลยทีเดียว ผู้คนจำนวนมากประสบกับปัญหาทางเดินหายใจ โรคปอดบวมและหลอดลมอักเสบ นอกจากนี้ ควันพิษยังทำให้วัวที่อาศัยอยู่ในเขตสมิธฟิลด์ขาดอากาศหายใจด้วย 

หลังจากนั้น หมอกควันก็เริ่มจางหายไปในวันที่ 9 ธันวาคม 1952 เนื่องจากสความกดอากาศสูงสลายตัวลง ทำให้ระบบอากาศในมหาสมุทรแอตแลนติกและอากาศบริสุทธิ์จากมหาสมุทรสามารถกระจายอากาศเข้ามาทำให้ผู้คนหายใจออกได้อีกครั้ง 

นำไปสู่การตรากฎหมายปรับปรุงคุณภาพอากาศ!

เหตุการณ์หมอกควันร้ายแรงครั้งนั้นนำไปสู่การตรากฎหมายปรับปรุงคุณภาพอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์นี้ซ้ำอีกด้วยการผ่านพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในปี 1956 และ 1968 ในอังกฤษโดย ‘ห้ามปล่อยควันดำ อีกทั้งผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองและผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงไร้ควัน’ ขณะที่สหรัฐฯ ก็ผ่านพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในปี 1970 ด้วยเช่นเดียวกัน  

อย่างไรก็ดี แม้พระราชบัญญัติปี 1956 จะมีผลบังคับใช้ ถึงกระนั้น ผู้คนต้องใช้เวลาปรับตัวกับระเบียบใหม่ไประยะหนึ่ง ในปี 1962 เกิดสภาพอากาศหมอกควันขึ้นอีกครั้งทำให้มีผู้คนเสียชีวิต 750 ราย แต่สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเหมือนหมอกควันครั้งใหญ่ปี 1952 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายควบคุมมลพิษและการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ 

แม้ว่ากฎหมายเหล่านี้และกฎหมายอื่นๆ จะช่วยลดมลภาวะทางอากาศในหลายพื้นที่ แต่หมอกควันยังคงเป็นปัญหาทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูร้อน มลภาวะทางอากาศพุ่งสูงขึ้นทั่วทวีปยุโรปเนื่องจากอุณหภูมิสูงที่ทำลายสถิติ และไฟป่า ทั้งนี้พบว่า ปริมาณมลพิษในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ และทางเหนือของฝรั่งเศสยังเกินขีดจำกัดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด 

ที่ผ่านมาอังกฤษเจอปัญหาหมอกควันมานานแล้ว

the-great-smog-of-1952-london-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Shutterstock

ในความเป็นจริงแล้ว อังกฤษประสบสภาพอากาศเลวร้ายจากหมอกควันมาเป็นเวลานานแล้ว และรุนแรงมากขึ้นหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปลายทศวรรษปี 1700 เนื่องจากโรงงานต่างๆ ปล่อยก๊าซและอนุภาคฝุ่นจำนวนมหาศาลสู่ชั้นบรรยากาศ อีกทั้งมลพิษเหล่านี้ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดหมอกควันได้อีกด้วย  

เมื่อสารเคมีบางชนิดผสมกับน้ำและอากาศ สารเคมีเหล่านั้นอาจกลายเป็นกรดซึ่งอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง และกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ หมอกควันพิษดังกล่าวจะค่อนข้างหนา มีกลิ่นเหม็น สีเหลืองสกปรก หรือสีน้ำตาล ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับหมอกขาวสะอาดในพื้นที่ชนบท 

ธันวาคม 1813 มีรายงานว่า กรุงลอนดอนถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันหนาทึบที่มีกลิ่นเหมือนน้ำมันถ่านหินเป็นเวลาหลายวันจนมองไม่เห็นฝั่งถนนอีกฝั่งหนึ่ง ต่อมาในเดือนธันวาคม 1873 ก็เกิดหมอกควันในลักษณะเดียวกันนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในลอนดอนเพิ่มขึ้น 40% จากปกติ 

นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากเกิดหมอกควันหนาในเดือนมกราคม 1880, กุมภาพันธ์ 1882, ธันวาคม 1891, ธันวาคม 1892 และพฤศจิกายน 1948 สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดของกรุงลอนดอนมักเป็นบริเวณอีสต์เอนด์ ซึ่งมีโรงงานและบ้านเรือนหนาแน่นมากกว่าที่อื่นในเมืองหลวง พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ต่ำ ทำให้หมอกควันไม่สามารถกระจายตัวออกไปได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์