จะนานไปไหน! ‘สิ่งก่อสร้าง’ บรรลือโลกใช้เวลาสร้างหลายสิบปีกว่าจะเสร็จ

28 กุมภาพันธ์ 2567 - 10:47

the-longest-projects-in-modern-construction-SPACEBAR-Hero.jpg
  • แม้โลกจะเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ก็ใช่ว่า ‘สิ่งก่อสร้าง’ ในยุคนี้จะสร้างเสร็จตามกำหนดเวลาเสมอไป

  • เปิดเรื่องราว ‘สิ่งก่อสร้าง’ ยุคศตวรรษที่ 19-21 ที่ใช้เวลาในการสร้างน้านนาน

กรุงโรมไม่ได้เสร็จในวันเดียวฉันใด ถนนพระราม 2 ก็ฉันนั้น แต่จะนานเกินไปไหม เพราะสร้างตั้งแต่ปี 1972 จนตอนนี้ 52 ปีแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จเมื่อใด แม้แต่พีระมิดอียิปต์ที่ต้องใช้คนหลายหมื่นคนสร้างยังใช้เวลาแค่ 26 ปี เหตุไฉนถึงเป็นเช่นนี้? 

ว่ากันว่ากำแพงเมืองจีนใช้เวลาสร้างมากกว่า 2,000 ปี สโตนเฮนจ์ใช้เวลาสร้างมากกว่า 1,500 ปี ส่วนมหาวิหารต่างๆ นั้นคาดว่าใช้เวลาสร้างระหว่าง 500-800 ปีเลยทีเดียวล่ะ แต่ในปัจจุบันไม่ต้องรอสร้างถึง 100 ปีหรอกนะ เพราะเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างมากทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องจักรกล มันเลยทำให้โครงการก่อสร้างต่างๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้นกว่าสมัยก่อนมาก  

แต่ก็ไม่เสมอไปนะ เพราะยังมีบางโครงการที่สร้างในช่วงศตวรรษที่ 19-21 ใช้เวลานานมากทีเดียวกว่าจะแล้วเสร็จ และนี่คือหนึ่งในตัวอย่างโครงการก่อสร้างที่ยาวนานที่สุดในยุคโลกาภิวัฒน์ 

ท่าอากาศยานเบอร์ลินบรันเดินบวร์ค / 2006 - 2020 / 14 ปี

the-longest-projects-in-modern-construction-SPACEBAR-Photo01.jpg

‘ท่าอากาศยานเบอร์ลินบรันเดินบวร์ค’ ของเยอรมนีอาจกลายเป็นโครงการก่อสร้างสนามบินที่ยาวนานที่สุดด้วยระยะเวลา 14 ปีเพราะประสบปัญหาตั้งแต่การวางแผน ความผิดพลาดทางเทคนิค ไปจนถึงการคอร์รัปชันในบอร์ดบริหาร จากในตอนแรกที่คาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน 9 ปี 

กระบวนการวางแผนและการดำเนินการใช้เวลาหลายปี และหลังจากการก่อสร้างเริ่มขึ้นก็เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่รับผิดชอบการวางแผนการก่อสร้างถูกฟ้องล้มละลาย เรื่องความปลอดภัยจนต้องเลื่อนการเปิดใช้งานออกไป และถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง ไหนจะประเด็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคของสนามบินถูกกล่าวหาว่ารับสินบน ประกอบกับสมาชิกคณะกรรมการคนอื่นๆ ก็พากันลาออก  

ทว่าสนามบินนี้ยังคงประสบกับปัญหาไม่จบไม่สิ้นเมื่อซีอีโอคนใหม่ถูกไล่ออกข้อหาติดสินบนและคอร์รัปชัน หลังจากที่คนก่อนหน้าประกาศลาออก แต่ในท้ายที่สุดอุปสรรคทั้งหมดก็คลี่คลายจนได้รับอนุญาตให้เปิดใช้งานสนามบินได้ในปี 2020 

โรงอุปรากรซิดนีย์ / 1958 - 1973 / 15 ปี

‘โรงอุปรากรซิดนีย์’ ถือเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญและแลนด์มาร์กที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย ซึ่งได้รับการออกแบบโดย ‘เยิร์น อุตซอน’ สถาปนิกชาวเดนมาร์ก หลังจากที่เขาชนะการแข่งขันการออกแบบโรงละครโอเปร่าแห่งใหม่ของซิดนีย์ในปี 1957 และได้รับอนุญาตให้เริ่มงานในปี 1958 

แต่ทว่าการก่อสร้างดังกล่าวกลับประสบปัญหามากมาย 

ทั้งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การเกินกำหนดเวลา และการลาออกของสถาปนิก ทำให้เกิดความล่าช้าจนต้องเสียค่าใช้จ่าย 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.6 พันล้านบาท) ซึ่งงบประมาณเดิมสำหรับโครงการนี้อยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (ราว 252 ล้านบาท) และคาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลา 4 ปีจึงจะแล้วเสร็จ แต่ความล่าช้าทั้งหมดได้ลากยาวไปนานถึง 15 ปี จนนำไปสู่การเปิดโรงละครโอเปร่าแห่งใหม่ในปี 1973  

โรงแรมรยูกย็อง, เกาหลีเหนือ / 1987 - 2013 / 26 ปี

the-longest-projects-in-modern-construction-SPACEBAR-Photo02.jpg

‘โรงแรมรยูกย็อง’ หรือโรงแรมรูปทรงพีระมิดแก้วขนาดใหญ่เป็นหนึ่งในโรงแรมที่หรูที่สุดในเกาหลีเหนือ เริ่มต้นสร้างขึ้นในปี 1987 โดยมีแผนที่จะสร้างสูงกว่า 1,000 ฟุต 105 ชั้น มีห้องพัก 3,000 ห้อง และร้านอาหารบนหอคอย 5 ร้าน (revolving restaurants) ซึ่งมีกำหนดจะเปิดภายในปี 1989  

แต่ทว่าแผนก่อสร้างดังกล่าวกลับผิดพลาดไป…

ในปี 1992 พบว่าพวกเขาก่อสร้างสูงถึง 1,000 ฟุตแต่ก็ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีหน้าต่างแม้แต่บานเดียวเลย และถูกปล่อยร้างอยู่อย่างนั้นต่อไปอีก 16 ปีจนผู้คนเริ่มเรียกโรงแรมแห่งนี้ว่า ‘โรงแรมวินาศ’ (Hotel of Doom) ต่อมาในปี 2008 ก็เริ่มต้นการสร้างอีกครั้งจนมีกำหนดเปิดในปี 2013  

เชื่อกันว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ตึกยังไม่ถูกใช้งานก็เพราะโครงสร้างทำจากคอนกรีตทั้งหมดแทนที่จะเป็นเหล็ก ดังนั้นการติดตั้งสายไฟและประปาจึงเป็นงานที่ยากกว่ามาก นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าอาจสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม 

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เวลาก่อสร้างนานได้แก่ 

  • ป้อมโบยาร์ด, ฝรั่งเศส / 1804 – 1857 / 53 ปี ส่วนใหญ่ประสบปัญหาแผนก่อสร้างถูกระงับ 
  • คลองปานามา / 1881 – 1914 / 33 ปี หยุดชะงักการก่อสร้างไปเพราะโรคระบาด

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์