ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เราจะเห็นการแข่งขันแทบจะทุกวงการไม่ว่าจะวงการบันเทิง เวทีนางงาม การโฆษณาชวนเชื่อ วงการกีฬาหลากหลายทัวร์นาเมนต์ หรือแม้กระทั่งการเมือง แต่บ่อยครั้งที่คนส่วนใหญ่มักจะเลือกเชียร์และสนับสนุนทีม หรือบุคคลที่เป็นรองมากกว่าอีกฝั่งที่เก่งกว่า หรือได้รับความนิยมมากกว่า
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ อย่างการแข่งขันแบตมินตันชายเดี่ยวในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงกันในเวลานี้สำหรับแมตช์ที่ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ มือวางอันดับ 8 จากไทย ต้องมาดวลกับ ฉือ หยู่ฉี มือวางอันดับ 1 ของโลกจากจีน แม้ดูจากสถิติที่ผ่านมาฝั่งกุลวุฒิจะดูเป็นรอง แต่ท้ายที่สุดเขาก็สามารถเอาชนะมือหนึ่งของโลกไปได้ 2 เกมรวด สร้างเสียงฮือฮาและเสียงปรบมือจากคนเชียร์ทั้งสนาม
หากมองในมุมการเมือง ตอนนี้คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งดูเหมือนว่าเกมจะพลิกไปพลิกมา หลังจากเหตุลอบยิง โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็กลายเป็นว่าทรัมป์กลับมาได้คะแนนนิยมอย่างท่วมท้นขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าทรัมป์จะชนะเพราะคะแนนความสงสาร แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ โจ ไบเดน ประกาศถอนตัวและเป็น กมลา แฮร์ริส ที่ตอนนี้แม้เป็นรองมากกว่าทรัมป์ แต่ดูเหมือนว่าเธอจะเรียกคะแนนนิยมได้มากทีเดียว
วิทยาศาสตร์มีคำอธิบายว่า ‘ทำไมเราเชียร์คน / ทีมที่เป็นรอง?’

จากการศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งด้วยการสมมุติทีมบาสเก็ตบอลขึ้นมา 2 ทีมที่แข่งขันกันทั้งหมด 7 เกม โดยให้ผู้คนอ่านคำบรรยายของทั้ง 2 ทีม พบว่า ผู้คนส่วนใหญ่เชียร์ทีมที่เป็นรองถึง 88.1% แต่เมื่อผู้คนเหล่านี้ได้รับแจ้งว่าทีมรองแพ้อย่างคาดไม่ถึงใน 3 เกมแรก พวกเขาก็เปลี่ยนใจไปเชียร์ทีมเต็งไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ยังพบในหมู่ผู้ที่รับชมการแข่งขันบาสเก็ตบอลจริงอีกด้วย
ในการศึกษาวิจัยอีกกรณีหนึ่ง นักศึกษาอเมริกันรับชมการแข่งขันระหว่างทีมจากยุโรป และได้รับข้อมูลมาว่าทีมใดทีมหนึ่งจะเป็นฝ่ายชนะใน 15 เกมหลัง แต่พวกเขายังคงเชียร์ให้ทีมที่เป็นรองพลิกสถานการณ์กลับมาชนะให้ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทีมใดก็ตาม
ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังได้รับการบันทึกไว้นอกวงการกีฬาด้วย ในการศึกษาวิจัยครั้งหนึ่งในปี 1980 ซึ่งดำเนินการในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีพบว่า ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สนับสนุน โรนัลด์ เรแกน หลังได้รับแจ้งว่า จิมมี คาร์เตอร์ มีคะแนนนำในผลสำรวจความคิดเห็น และสนับสนุนคาร์เตอร์หลังได้รับแจ้งว่า เรแกนมีคะแนนนำ
ทฤษฎีที่ 1: เราเชียร์ทีมที่เป็นรองเพราะ ‘ความสะใจ’?
ทฤษฎีหนึ่งที่เสนอโดย นาดาฟ โกลด์ชมิด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก (UC San Diego) คือ ความรักที่เรามีต่อทีม / คนที่เป็นรองนั้นเป็นการแสดงออกถึงความสะใจซึ่งเป็นความสุขที่เราสัมผัสได้จากความโชคร้ายของผู้อื่น เรารู้สึกไม่พอใจทีมที่แข็งแกร่งชนะทุกปี ดังนั้น เราจึงหวังให้พวกเขาพ่ายแพ้
ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล แต่หลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้ยังคงคลุมเครือ ในการทดลองของโกลด์ชมิดพบว่า จริงๆ แล้ว ผู้เข้าร่วมเชียร์ทีมที่เป็นรองน้อยลงเล็กน้อยหลังได้รับแจ้งว่าชัยชนะของพวกเขาจะทำให้ทีมที่เป็นตัวเต็งตกรอบตัดเชือก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมชอบที่จะเชียร์ทีมเป็นรองให้ได้รับชัยชนะแบบไม่คาดคิดมากกว่า
ทฤษฎีที่ 2: เราต้องการให้โลกมีความยุติธรรม!
อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ ลึกๆ แล้ว เราต้องการให้โลกนี้มีความยุติธรรม แล้วมันเกี่ยวอะไรกัน? ทีมบางทีมอาจทุ่มเงินเพื่อชัยชนะได้มากกว่า แต่คนส่วนใหญ่ต้องการให้ทุกคนทุกทีมมีโอกาสเท่าเทียมกัน
มีการทดลองซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข่งขันเชิงสมมติฐานระหว่าง 2 ทีม โดยทีมหนึ่งมีโอกาสชนะสูง และอีกทีมมีโอกาสชนะต่ำ แต่ในบางกรณี นักวิจัยบอกกับผู้เข้าร่วมว่า จริงๆ แล้วทีมที่มีโอกาสชนะต่ำนั้นใช้เงินมากกว่าทีมที่มีโอกาสชนะสูงมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้คนจะไม่เรียกทีมเหล่านั้นว่า ‘ทีมที่เป็นรอง’ อีกต่อไป และไม่เชียร์ให้พวกเขาชนะ ดูเหมือนว่าความเป็นรองจะเกี่ยวกับความคู่ควรที่จะชนะแม้ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย หากคุณมีเงินมากกว่าแต่ยังมีโอกาสชนะน้อย คนทั่วไปก็คิดว่านั่นเป็นความผิดของคุณเอง
ทฤษฎีที่ 3: เราไม่อยากตั้งความหวังมากเกินไป...
นักจิตวิทยามักพบว่า ผู้คนมีความสุขมากกว่าเมื่อประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดฝัน และมักจะประสบกับความเจ็บปวดมากกว่าเมื่อล้มเหลวอย่างคาดไม่คาดถึงด้วยเช่นกัน นักวิจัยบางคนชี้ให้เห็นว่านี่อาจเป็นเหตุผลที่ดีที่จะเชียร์ทีมที่เป็นรองกว่า เพราะหากทีมแพ้ คุณจะเสียเปรียบน้อยกว่า และได้ประโยชน์มากกว่าหากทีมพลิกสถานการณ์กลับมาชนะได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครศึกษาแนวคิดนี้โดยเฉพาะว่ามันเกี่ยวข้องกับการเชียร์ทีมที่เป็นรองกว่าหรือไม่ และยากที่จะบอกได้ว่าแนวคิดนี้ใช้ได้จริงหรือเปล่า การคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดที่คำนวณมาอย่างดีและมีเหตุผลในการรับมือกับเกม และความรักที่คนจำนวนมากมีต่อการพลิกสถานการณ์นั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกและไม่สามารถควบคุมได้