ใครหลายคนอาจมองว่าการเดินทางไปในอวกาศเป็นเรื่องที่เจ๋งสุดๆ ไปเลยใช่ไหม จริงๆ แล้วมันก็ส่วนหนึ่ง แต่กว่าทีมนักวิทยาศาสตร์จะประสบความสำเร็จในการเดินทางแต่ละครั้งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยล่ะ นอกจากการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อม รวมถึงทดลองปล่อยยานนับครั้งไม่ถ้วน พวกเขายังต้องเตรียมสภาพร่างกายจิตใจให้ดี เพราะบนอวกาศมันก็คือนอกโลกที่ไร้แรงโน้มถ่วง พวกเขาต้องฝึกใช้ชีวิตซึ่งมันยากและเสี่ยงมากๆ ด้วยย รวมทั้งยังต้องยอมรับสภาพที่ว่าร่างกายพวกเขาจะเปลี่ยนไปหลังไปใช้ชีวิตที่นั่น
‘สก็อตต์ เคลลี’ นักบินอวกาศของ NASA อีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จครั้งสำคัญเนื่องจากอยู่ในอวกาศนานกว่าชาวอเมริกันคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ถึง 383 วัน หรือ 1 ปี 18 วัน เพราะโดยปกติแล้วนักบินอวกาศจะถูกจำกัดการเดินทางในอวกาศเป็นเวลา 6 เดือน แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับเคลลี่ ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ก็ทำการศึกษาว่าร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในระหว่างการบินในอวกาศระยะยาว
การทดลองดังกล่าวได้ปูทางไปสู่การเดินทางระยะยาวไปยังดาวอังคาร แต่ก็ไม่เหมาะกับคนใจปลาซิวเท่าใดนัก เพราะนักวิทยาศาสตร์รู้ดีอยู่แล้วว่าการใช้ชีวิตในอวกาศและสภาวะไร้น้ำหนักนั้นจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายมนุษย์เมื่อเวลาผ่านไป และต่อไปนี้เป็นผลข้างเคียงที่นักบินอวกาศต้องเผชิญ
1. ส่วนสูงเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ!
เมื่อนักบินอวกาศอยู่นอกโลกจะพบว่าพวกเขาสามารถสูงขึ้นได้ถึง 3% ในอวกาศ ยกตัวอย่างนักบินอวกาศที่สูง 6 ฟุตก็จะสามารถขยายเพิ่มได้อีก 2 นิ้ว
การสูงขึ้นแบบพุ่งพรวดนั้นเกิดจากสภาวะไร้น้ำหนักซึ่งทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังผ่อนคลายและขยายได้ โดยจะต้องใช้เวลา 2-3 เดือนในการกลับสู่ความสูงปกติหลังจากที่พวกเขากลับมายังโลก
ในกรณีของเคลลีก็เป็นไปได้ว่าเขาจะสูงมากกว่านักบินอวกาศทั่วไป เพราะเขาใช้เวลาอยู่ในอวกาศนานกว่าคนอื่นๆ
2. กล้ามเนื้อ ‘หดตัว’ และกระดูกที่ ‘บางลง’
ทันทีที่ยานอวกาศออกจากโลก กล้ามเนื้อที่พยุงตัวเหล่านักบินอวกาศแทบจะไม่จำเป็นเลยในสภาพแวดล้อมที่ไร้น้ำหนัก เพราะกล้ามเนื้อของพวกเขาจะเริ่มหดตัว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงมีโรงยิมบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนักสามารถช่วยให้นักบินอวกาศสามารถรักษามวลกล้ามเนื้อของพวกเขาเมื่อกลับมายังโลก
ตามข้อมูลของ NASA ระบุว่า โดยปกติแล้วนักบินอวกาศจะออกกำลังกายประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการยกน้ำหนัก วิ่งบนลู่ ใช้เครื่องปั่นจักรยาน เป็นต้น
นอกจากนี้ นักบินอวกาศยังอาจสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกประมาณ 1% ในทุกๆ เดือนที่พวกเขาอยู่ในอวกาศหากไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำอีกด้วย ซึ่งถ้าพวกเขากลับมายังโลกก็มีแนวโน้มว่ากระดูกจะเปราะและหักได้ง่ายคล้ายกับคนที่เป็นโรคกระดูกพรุน ดังนั้น นักบินอวกาศจำเป็นต้องออกกำลังกายและได้รับโภชนาการที่ดีเพราะมันจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นได้
3. อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับ ‘การมองเห็น’
การศึกษาในปี 2013 ได้ทำการสำรวจสายตาของนักบินอวกาศ 27 คนที่ใช้เวลาอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติโดยเฉลี่ย 108 วัน ซึ่งนักวิจัยของ NASA พบว่า ‘หลายคนมีความผิดปกติของดวงตาหลังจากกลับจากอวกาศ’ โดยการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แสดงให้เห็นว่านักบินอวกาศ 9 คนมีอาการขั้วประสาทตาบวม ส่วนอีก 6 คนมีปัญหากับลูกตา
ตามรายงานของ NASA ระบุว่า นี่เป็นผลข้างเคียงสาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวลอย่างมาก และมีความเสี่ยงที่สภาวะไร้น้ำหนักอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการมองเห็นอย่างถาวร ทั้งนี้ นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหาการมองเห็น และ NASA กำลังดำเนินการศึกษาติดตามผลที่ครอบคลุมมากขึ้น
4. ระบบภูมิคุ้มกัน ‘รวน’
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2014 ระบุว่าการใช้ชีวิตในอวกาศสามารถกดระบบภูมิคุ้มกันของนักบินอวกาศได้ “สิ่งต่างๆ เช่น การแผ่รังสี จุลินทรีย์ ความเครียด สภาวะไร้น้ำหนัก วงจรการนอนหลับที่เปลี่ยนแปลง และความโดดเดี่ยว ล้วนส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของลูกเรือได้”
“หากสถานการณ์นี้ยังคงมีอยู่ในภารกิจห้วงอวกาศที่ยาวนานขึ้น ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะภูมิไวเกิน หรือเกิดความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย” ไบรอัน ครูเชียน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาทางชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาของ NASA ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยกล่าวในแถลงการณ์
นั่นหมายความว่านักบินอวกาศอาจมีแนวโน้มที่จะป่วยมากขึ้น ทั้งนี้ การศึกษายังพบว่าระบบภูมิคุ้มกันต่ำของนักบินอวกาศอาจแฝงไวรัสเก่าไว้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น โรคอีสุกอีใสอาจถูกปลุกให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าจะไม่แสดงอาการใดๆ ในขณะที่นักบินอวกาศอาศัยอยู่ในอวกาศก็ตาม
5. วงจรการนอนหลับ ‘แย่ลง’
เนื่องจากนักบินอวกาศต้องมัดตัวเองไว้ในถุงนอนทุกคืน ทำให้พวกเขาไม่คุ้นชินกับท่านอนเพราะศีรษะจะโค้งไปข้างหน้าและแขนจะลอยขึ้นตอนหลับ “บางครั้งเมื่อคุณตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วเห็นแขนลอยมาข้างหน้าคุณ แล้วคุณมักจะคิดว่า “โอ๊ะ นั่นอะไรน่ะ?” จนกว่าคุณจะรู้ว่านั่นเป็นแขนของคุณ” มาร์ชา ไอวินส์ นักบินอวกาศชาวอเมริกันบอก
นอกจากท่านอนแล้วก็ยังมีสิ่งรบกวนอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้การนอนหลับในอวกาศเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะแสงวูบวาบเวลาที่รังสีคอสมิกผ่านจอประสาทตาซึ่งมันทำให้พวกเขานอนหลับยาก แม้นักบินอวกาศจะมีฝักนอนส่วนตัวที่ช่วยบังแสงแดดและรังสี แต่การศึกษาพบว่านักบินอวกาศส่วนใหญ่นอนหลับเพียงประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น แม้ว่าตามตารางงานจะกำหนดให้พวกเขานอน 8 ชั่วโมงครึ่งก็ตาม
6. ประสาทสัมผัสก็ ‘รวน’ ไปด้วยเหมือนกัน

นับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีลูกเรือบนยานอวกาศ เหล่านักบินอวกาศก็เคยบอกว่าการรับประทานอาหารในสภาวะไร้น้ำหนักนั้นมีรสชาติผิดแปลกไป หลายคนบอกว่ารสชาติอาหารจืดชืด จนพวกเขาต้องการอาหารรสเผ็ดและมีรสเปรี้ยวมากกว่าที่พวกเขาต้องการบนโลกมากเพื่อชดเชยรสชาติจืดชืด
วิคกี โคลเอริส ผู้จัดการระบบอาหารของ ISS ที่ศูนย์อวกาศจอห์นสันในฮิวสตันเผยว่า “มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพียงเล็กน้อยที่จะสนับสนุนคำกล่าวอ้างของนักบินอวกาศที่ว่ารสชาติเปลี่ยนแปลงไปในอวกาศ แม้ว่าจะมีการศึกษาจำนวนมากตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะไร้น้ำหนักต่อการรับรู้รสและกลิ่นก็ตาม”
ในกรณีนี้มันคล้ายความดันเปลี่ยนแปลงในอวกาศ ซึ่งทำให้ของเหลวเคลื่อนตัวไปทั่วร่างกายจากส่วนล่างไปยังส่วนบนของร่างกายเนื่องจากสภาวะไร้น้ำหนัก และแน่นอนว่ามันส่งผลให้ใบหน้าและร่างกายส่วนบนของนักบินอวกาศบวม ซึ่งทำให้เกิดการคัดจมูกอย่างมีนัยสำคัญ
และเนื่องจากกลิ่นมีความสำคัญต่อการรับรู้รสชาติ ดังนั้น การรับรู้รสชาติจึงลดลง แต่อาจมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เสียรสชาติ เช่น กลิ่นจากระบบสิ่งแวดล้อมและระบบความร้อนที่ต่างกันบนยานอวกาศซึ่งนักวิจัยมองว่ามันก็ทำให้การรับรู้ทางประสาทสัมผัสรวนด้วย
“มันก็เหมือนกับการเป็นหวัดหรือภูมิแพ้ อาการคัดจมูกทำให้ประสาทสัมผัสการรับกลิ่นลดลงอย่างมาก และส่งผลให้ประสาทการรับรสของคุณลดลงด้วย” สก็อตต์ ปาราซินสกี นักบินอวกาศและแพทย์บอก
7. ร่างกายเสี่ยงได้รับอันตรายจาก ‘รังสีคอสมิก’
ปกติแล้วชั้นบรรยากาศของโลกจะทำหน้าที่เป็นสนามพลังที่ปกป้องเราจากรังสีคอสมิก (Cosmic radiation) ถึง 99% แต่นักบินอวกาศไม่ได้รับการปกป้องแบบเดียวกันในอวกาศ ซึ่งทางองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ระบุว่าความเสี่ยงจากรังสีเพิ่มขึ้นประมาณ 30 เท่า
ทว่าปริมาณรังสีคอสมิกนั้นสามารถทำลาย DNA ของนักบินอวกาศได้ และความเสียหายนั้นอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็ง ต้อกระจก หรือโรคอื่นๆ ด้วย
8. ผลข้างเคียงต่อสภาพจิตใจ
รู้หรือไม่ว่ากว่านักบินอวกาศจะขึ้นบินแต่ละครั้งได้ พวกเขายังต้องผ่านการตรวจคัดกรองทางจิตวิทยาอย่างเข้มงวดก่อนที่จะเริ่มการฝึกใช้ชีวิตในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว การต้องอยู่ในที่แคบๆ การอดนอน การขาดแรงโน้มถ่วง ตลอดจนการเผชิญกับประสาทสัมผัสรวนนั้นถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่
นักบินอวกาศหลายคนอธิบายว่า ‘สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่พวกเขาเคยทำมา’
มันเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องรับมือให้ได้ นั่นเป็นสาเหตุที่นักบินอวกาศต้องผ่านการฝึกอบรมและผ่านการประเมินทางจิตวิทยาอย่างเข้มงวด