สนามบินปราบเซียนแลนดิ้งยากสุดในโลก มีนักบินเพียง 50 คนเท่านั้นที่บินได้

1 ม.ค. 2568 - 03:00

  • สนามบินนานาชาติพาโรของภูฏานขนาบข้างด้วยยอดเขาสูงกว่า 18,000 ฟุต

  • นักบินที่จะขึ้นลงที่สนามบินแห่งนี้จะต้องผ่านการฝึกพิเศษจึงจะบินไปที่นั่นได้ และต้องลงจอดด้วยตัวเองโดยไม่มีเรดาร์ช่วย

this-airport-landing-so-challenging-only-50-pilots-qualified-to-do-SPACEBAR-Hero.jpg

ทางตะวันออกของเทือกเขาเอเวอเรสต์และเทือกเขาหิมาลัยมีสนามบินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และผู้โดยสารมักจะปรบมือให้กัปตันหลังล้อเครื่องบินลงแตะสนามบินได้อย่างปลอดภัย 

สนามบินที่ว่านี้คือ สนามบินนานาชาติพาโร (PBH) ของภูฏาน ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสนามบินที่เครื่องบินลงจอดยากที่สุดในโลก การเคลื่อนตัวบนรันเวย์สั้นๆ ที่ขนาบข้างด้วยยอดเขาสูงกว่า 18,000 ฟุตต้องใช้ทั้งความรู้ทางเทคนิคและทักษะที่ยอดเยี่ยม 

สภาพการบินที่เป็นเอกลักษณ์ในการบินขึ้นลงที่สนามบินนานาชาติพาโรแห่งนี้หมายความว่า เครื่องบินลำใหญ่ๆ หมดสิทธิ์ลงจอดไปโดยปริยาย แต่ความยากความท้าทายนี้กลับทำให้ภูฏาน ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้านี้มีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก  

ทว่าสำหรับกัปตันที่มีประสบการณ์การบินให้กับสายการบิน Druk Air สายการบินแห่งชาติของภูฏานมากว่า 25 ปีอย่าง ชิมิ ดอร์จิ สนามบินพาโร “ยากแต่ไม่อันตราย...มันท้าทายความสามารถของนักบิน แต่ไม่อันตราย เพราะถ้ามันอันตรายผมคงไม่ได้บิน” 

อะไรทำให้สนามบินพาโรมีเอกลักษณ์ 

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ผสมผสานกันไม่เพียงทำให้สนามบินพาโรและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูฏานสวยงามตระการตา ยังทำให้การบินเข้าและออกจากสนามบินนานาชาติแห่งเดียวในประเทศกลายเป็นทักษะเฉพาะทางขั้นสูง 

สนามบินพาโรถูกจัดอยู่ในสนามบินประเภท C หมายความว่า นักบินจะต้องผ่านการฝึกพิเศษจึงจะบินไปที่นั่นได้ และต้องลงจอดด้วยตัวเองโดยไม่มีเรดาร์ช่วย กัปตันดอร์จิบอกว่า นักบินจำเป็นต้องรู้ภูมิประเทศรอบๆ สนารมบิน หากคำนวณผิดไปแม้เพียงนิ้วเดียวก็อาจกลายเป็นว่าคุณลงจอดบนหลังคาบ้านของใครสักคนแถวนั้น 

“ที่สนามบินพาโร คุณจำเป็นต้องมีทักษะท้องถิ่นและความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ท้องถิ่นเป็นอย่างดี เราเรียกมันว่าการฝึกอบรมความสามารถในพื้นที่ หรือการฝึกอบรมในพื้นที่ หรือการฝึกอบรมเส้นทางจากการบินจากที่ใดก็ได้ไปยังพาโร” ดอร์จิเผยกับ CNN Travel 

ภูฏานซึ่งตั้งอยู้ระหว่างจีนและอินเดียมีภูเขามากกว่า 97% ของพื้นที่ กรุงทิมพูตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,350 เมตร ส่วนเมืองพาโรต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 2,250 เมตร 

Quote “ในพื้นที่สูงๆ อากาศจะเบาบางกว่า ดังนั้นเครื่องบินต้องบินผ่านอากาศให้เร็วขึ้น ความเร็วของเครื่องบินที่ผ่านไปในอากาศจะเท่าเดิม แต่ความเร็วของเครื่องบินเมื่อเทียบกับพื้นดินจะเร็วกว่ามาก การลงจอดจึงยากขึ้น” ชิมิ ดอร์จิ กัปตันสายการบินแห่งชาติ Druk Air

“ในพื้นที่สูงๆ อากาศจะเบาบางกว่า ดังนั้นเครื่องบินต้องบินผ่านอากาศให้เร็วขึ้น ความเร็วของเครื่องบินที่ผ่านไปในอากาศจะเท่าเดิม แต่ความเร็วของเครื่องบินเมื่อเทียบกับพื้นดินจะเร็วกว่ามาก การลงจอดจึงยากขึ้น”

ชิมิ ดอร์จิ กัปตันสายการบินแห่งชาติ Druk Air

this-airport-landing-so-challenging-only-50-pilots-qualified-to-do-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Photo by Shutterstock/zakir1346

ปัจจัยต่อมาคือ สภาพอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้  

ที่สนามบินพาโรจะบินกันเฉพาะตอนกลางวันเท่านั้น จะไม่มีการขึ้นบินในช่วงกลางคืนเด็ดขาดไม่ว่าจะในฤดูไหน เพราะไม่สามารถใช้เรดาร์ในการขึ้นหรือลง ทำให้เสี่ยงต่อการชนยอดเขาสูงใกล้สนามบิน และเครื่องบินทุกลำต้องลงจอดก่อนเที่ยง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดเนื่องจากสภาพลมแรง และกระแสลมพัดขึ้น (updrafts ทำให้เครื่องบินถูกดันให้ลอยสูงขึ้น) ยังทำให้การลงจอดยากขึ้น

“เราพยายามเลี่ยงการบินหลังเที่ยงวัน เพราะลมจะแรง อุณหภูมิสูง และฝนยังไม่ตก ดังนั้นพื้นดินจะแห้ง และคุณจะเจอเรื่องพวกนี้โดยไม่คาดฝัน ไหนจะลมที่พัดขึ้นเขาลมที่พัดลงเขาในช่วงบ่าย ช่วงเช้าจะสงบกว่ามาก”

ชิมิ ดอร์จิ กัปตันสายการบินแห่งชาติ Druk Air

นอกจากนี้ยังต้องปรับตัวในช่วงฤดูมรสุมซึ่งจะอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พายุฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งลูกเห็บขนาดเท่าลูกกอล์ฟถือเป็นเรื่องปกติ 

“มรสุมก่อตัวในอ่าวเบงกอล จะมีลมจากตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือที่เข้ามาจากจีน และคุณจะมีช่วงเวลาที่ฝนตกหลายวัน” ดอร์จิเผย และเล่าต่อว่า การฝึกอบรมนักบินไม่เพียงแค่รู้วิธีบิน แต่ยังต้องรู้ว่าเมื่อใดไม่ควรบิน และต้องตัดสินใจได้ว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ ปลอดภัยสำหรับการขึ้นบินหรือยัง 

ปัจจัยสุดท้ายในระดับความยากของสนามบินพาโรคือ สิ่งที่ดอร์จิเรียกว่า "อุปสรรค" นั่นก็คือ ภูมิประเทศภูเขาที่ล้อมรอบสนามบิน รันเวย์ของสนามบินแห่งนี้ยาวเพียง 2,265 เมตร และยังตั้งยู่ระหว่างภูเขาสูง 2 ลูก นักบินจึงมองเห็นรันเวย์จากอากาศได้เฉพาะเมื่อกำลังจะลงจอดเท่านั้น 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงมีนักบินเพียง 50 คนทั่วโลกเท่านั้นที่มีคุณสมบัติในการลงจอดที่สนามบินพาโร ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมพิเศษ เนื่องจากรันเวย์ขนาดเล็กของสนามบินและไม่มีเรดาร์นำทาง 

Photo by Shutterstock/Matej Hudovernik

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์