ถอดบทเรียนกำจัดปลาเอเลี่ยนสปีชีส์สุดเจ๋งบาฮามาสใช้ ‘หุ่นยนต์จับปลาสิงโต’

26 ก.ค. 2567 - 09:55

  • ปลาสิงโต เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวร้ายของบาฮามาสที่เป็นภัยคุกคามระบบนิเวศในท้องถิ่น

  • ทางการออกมาตรการกำจัดปลาสิงโตมากมาย แต่เหมือนจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก

  • โคลิน แองเกิล ประธานกรรมการบริหารของไอโรบอท (iRobot) จึงพัฒนา ‘หุ่นยนต์จับปลาสิงโต’ ขึ้นมา โดยรุ่นใหม่สามารถดำน้ำลึกได้ถึง 200-500 ฟุต

this-fish-zapping-robot-hunting-invasive-lionfish-in-coral-reefs-SPACEBAR-Hero.jpg

ในเวลานี้ปัญหาน่านน้ำไทยกำลังเป็นประเด็นร้อนให้รัฐบาลถึงกับต้องกุมขมับ หลัง ‘ปลาหมอคางดำ’ เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวร้ายแพร่กระจายไปทั่วจนต้องออกมาตรการกำจัดเพราะมันทำลายระบบนิเวศในน้ำ 

รัฐบาลจึงออกมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำ ดังนี้ : 

  • ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำ 
  • ปล่อยปลานักล่าปลาหมอคางดำ 
  • สนับสนุนให้จับปลาหมอคางดำ 
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ 
  • CPF ประกาศรับซื้อปลาหมอคางดำ 
  • วิจัยหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว 

จะได้ผลหรือไม่คงต้องรอดูกันอีกที 

ที่บาฮามาสก็เจอปัญหาเอเลี่ยนสปีชีส์ ‘ปลาสิงโต’ เหมือนกัน...

แน่นอนว่าปัญหาปลาเอเลี่ยนสปีชีส์มีอยู่แทบทุกแหล่งน้ำทั่วโลก แต่ที่นี่ ‘บาฮามาส’ ผุดแนวคิดสุดเจ๋งประดิษฐ์หุ่นยนต์มาใช้ในการกำจัด ‘ปลาสิงโต’ (lionfish) โดยเฉพาะ ซึ่งมีชื่อเสียงในเรื่องปลาวายร้ายที่คุกคามชีวิตสัตว์ทะเลท้องถิ่น 

แม้ทางการจะออกมาตรการกำจัดปลาสิงโต แต่เหมือนจะไม่เป็นผล เช่น : 

  • อนุญาตให้จับปลาสิงโตโดยใช้อุปกรณ์ดำน้ำ ฉมวก และตาข่าย 
  • ส่งเสริมการจับและขายปลาสิงโต (เพื่อบริโภค) ในเชิงพาณิชย์ 
  • ห้ามเลี้ยงปลาสิงโตเป็นสัตว์เลี้ยงในตู้ปลา 
  • จำกัดการครอบครองหรือการขนส่งปลาสิงโตที่มีชีวิต 

สายพันธุ์ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในอินโด-แปซิฟิกและทะเลแดง ซึ่งไม่มีปลานักล่าท้องถิ่นในมหาสมุทรแอตแลนติก ปลาชนิดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องครีบยาวที่มีพิษและความอยากอาหารที่ไม่รู้จักพอ ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ปลาสิงโตอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร แถมยังเป็นภัยคุกคามต่อระบบแนวปะการังที่เปราะบางอยู่แล้วด้วย

“ที่นี่ไม่มีอะไรหยุดยั้งพวกมันได้ ปลาท้องถิ่นไม่ได้มองว่าปลาสิงโตเป็นภัยคุกคาม จึงมักจะว่ายน้ำเข้าใกล้พวกมันและถูกกินเข้าไปอย่างง่ายดาย ไม่มีปลานักล่าตัวไหนเต็มใจที่จะกินพวกมัน ไม่มีปลาตัวไหนที่ไม่ถูกพิษของพวกมัน พวกมันกินทุกสิ่งทุกอย่างที่มีขนาดถึงครึ่งหนึ่งของขนาดตัวมันเอง”

อดัม แคนเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ ‘RSE’ (Robots in Service of the Environment) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่แองเกิลก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานในโครงการนี้ กล่าว

ในบาฮามาสเพียงแห่งเดียว ปลาสิงโตจะกินปลาชนิดอื่นๆ ถึง 72 สายพันธุ์ ซึ่งมากกว่าปลานักล่าในท้องถิ่นอื่นๆ มาก ปลาสิงโตเพียงตัวเดียวในแนวปะการังสามารถลดจำนวนปลาแนวปะการังพื้นเมืองลงได้ถึง 79%  

ปัจจุบันร้านอาหารบางแห่งจะนำปลาสิงโตออกมาขายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับปลา แต่ปลาสิงโตไม่ตอบสนองต่อเหยื่อล่อและใช้ตาข่ายจับได้ยากมาก 

หุ่นยนต์จับ ‘ปลาสิงโต’ ของบาฮามาส

โคลิน แองเกิล ประธานกรรมการบริหารของไอโรบอท (iRobot) และผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ดูดฝุ่นรูมบา (Roomba) แองเกิลจึงพัฒนา ‘หุ่นยนต์จับปลาสิงโต’ ขึ้นมาหลังจากที่ได้ยินวีรกรรมการทำลายล้างของปลาสิงโตในระบบนิเวศท้องถิ่น 

หุ่นยนต์ของ RSE ตัวนี้ถูกควบคุมจากแล็ปท็อปและตัวควบคุมเกม จากนั้นหุ่นยนต์จะดำน้ำลงไป แล้วช็อตปลาด้วยไฟฟ้าก่อนที่จะดูดปลาเข้าไปในเครื่องผ่านท่อ แต่ก่อนหุ่นยนต์รุ่นเก่าซึ่งใช้พลังงานผ่านสายโยงจะไม่สามารถลงไปบริเวณน้ำลึกได้ 

แต่ตอนนี้หุ่นยนต์จับปลาสามารถลงไปได้ลึกกว่าที่นักดำน้ำจะว่ายได้อย่างปลอดภัยไปจนถึงระดับความลึกที่ปลาสิงโตจะเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งอยู่ระหว่าง 200-500 ฟุตใต้ผิวน้ำ นอกจากนี้ หุ่นยนต์รุ่นใหม่พัฒนามีที่จับแล้วทำให้ง่ายต่อการจับปลา และจับได้มากขึ้นอีกด้วย ซึ่งรุ่นเก่าไม่มีจึงเป็นปัญหาต่อการจับปลาขึ้นมา 

“ตอนนี้หุ่นยนต์ของเราดำน้ำได้ลึกกว่านี้แล้ว แน่นอนว่าคุณต้องจับปลาได้มากขึ้นก่อนที่หุ่นยนต์จะต้องกลับไปที่เรือ” แคนเตอร์กล่าว  

นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังช่วยแก้ปัญหาการใช้งานบางประการได้ เช่น ตอนนี้หุ่นยนต์มีที่จับแล้ว แต่รุ่นเก่าไม่มี ซึ่งปัญหาก็คือหุ่นยนต์เต็มไปด้วยปลามีพิษและไม่มีวิธีง่ายๆ ที่จะจับมันขึ้นมา 

ในเวลานี้ หุ่นยนต์ต้องถูกควบคุมจากมนุษย์เพื่อให้แน่ใจว่าหุ่นยนต์จะจับปลาสิงโตเท่านั้น ไม่ใช่ปลาที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น ปลาหมาป่า (อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ควรจะสามารถระบุปลาสิงโตได้เอง) “เราคาดหวังว่าหุ่นยนต์เพียงไม่กี่ตัวในจุดสำคัญๆ จะสามารถปกป้องแนวปะการังรอบๆ ได้” แคนเตอร์กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์