อังกฤษล้างบาง ‘ตำรวจเลว’ ไล่ออกแล้วกว่า 1,000 นาย

19 ก.ย. 2566 - 09:00

  • ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ Met ประมาณ 1,000 นายแล้วที่ถูกพักงานหรือถูกจำกัดหน้าที่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้เวลานานทีเดียวในการกวาดล้างกองกำลัง

  • “เจ้าหน้าที่ประมาณ 60 นายอาจเผชิญหน้ากับการถูกไล่ออกในแต่ละเดือนอย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า และประมาณ 30 นายอาจต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีประพฤติมิชอบ…”

thousand_met_police_officers_sack_for_wrongdoing_wake_of_scandals_SPACEBAR_Hero_563c2ff72f.jpg

อังกฤษออกมาตรการกำจัด ‘ตำรวจเลว’

‘ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งข้อง’ เมื่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์บางรายทำผิดจนอาจทำให้ประชาชนไม่เหลือความไว้วางใจให้พวกเขาอีก ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลอังกฤษ (Metropolitan Police / Met) ถูกไล่ออกราว 60 นายต่อเดือนเพราะกระทำผิด เนื่องจากผู้บังคับบัญชาพยายามคัดนายตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่ดีออกหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวหลายครั้ง 

และขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ Met ประมาณ 1,000 นายแล้วที่ถูกพักงานหรือถูกจำกัดหน้าที่ ซึ่งดูเหมือนว่าจะใช้เวลานานทีเดียวในการกวาดล้างกองกำลัง 

สต๊วร์ต คันดี รองผู้ช่วยผู้บัญชาการเผยว่า ‘ต้องใช้เวลาหลายปีในการกำจัดเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนมาตรฐาน ไม่ผ่านการตรวจคัดกรอง หรือทุจริต’ 

“เจ้าหน้าที่ประมาณ 60 นายอาจเผชิญหน้ากับการถูกไล่ออกในแต่ละเดือนอย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า และประมาณ 30 นายอาจต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีประพฤติมิชอบ และการพิจารณาถึงประเด็นการขาดคุณสมบัติและไร้ความสามารถขั้นต้นราว 30 รายการ” คันดีกล่าว 

กระบวนการคัดนายตำรวจออกดังกล่าวจะพิจารณาถึงกรณีเจ้าหน้าที่ซึ่งเคยเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวหรือทางเพศ รวมถึงการกวาดล้างระบบคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูลระดับชาติของตำรวจเพื่อหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง 

ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจอังกฤษเผชิญหน้ากับเรื่องอื้อฉาวที่บาดใจหลายครั้ง ไม่ว่าจะกรณีของอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ‘เวยน์ คูเซ่นส์’ ที่ข่มขืนและสังหาร ซาราห์ เอเวอร์ราร์ด ผู้บริหารการตลาด และ ‘เดวิด คาร์ริก’ อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกเปิดโป่งว่าเป็นผู้ต้องหาคดีข่มขืนต่อเนื่อง 

ปัจจุบัน กองกำลัง Met มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 34,000 นาย โดย 201 นายถูกพักงาน และประมาณ 860 นายอยู่ในภาวะจำกัดการปฏิบัติหน้าที่ “ถ้าคุณรวมตัวเลขทั้งสองเข้าด้วยกัน ก็เท่ากับตำรวจมากกว่า 1,000 นาย และนั่นเกือบจะเท่ากับกองกำลังตำรวจเล็กๆ ในสถานที่อื่นๆ ในประเทศ…มันเป็นจำนวนที่มีนัยสำคัญ” คันดีกล่าวเสริม 

หลังคาร์ริกถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากคดีข่มขืนหลายสิบคดี ก็มีการทบทวนคดีต่างๆ 1,600 คดีที่คาร์ริกถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงในครอบครัวหรือใช้ความรุนแรงทางเพศตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ  

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีการสอบสวนไปแล้วประมาณ 450 คดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ Met ยังให้ข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับกระบวนการลงโทษทางวินัยดังนี้ 

  • เจ้าหน้าที่ 100 นายถูกไล่ออกเนื่องจากการประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรงในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้น 66% จากอัตราปกติ 
  • ขณะนี้เจ้าหน้าที่ 201 นายถูกพักงาน โดยเพิ่มขึ้นจาก 69 นายในเดือนกันยายนปีที่แล้ว 
  • มีเจ้าหน้าที่รอการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรง 275 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง เมื่อเทียบกับ 136 รายในปีที่แล้ว 
  • จำนวนรายงานจากสาธารณชนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาประพฤติมิชอบเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

ทั้งนี้ กองกำลังยังได้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ทั้งหมดด้วยการเทียบกับบันทึกในคอมพิวเตอร์แห่งชาติของตำรวจ โดยพบ 11 คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติม และอีก 5 คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนการประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่อีก 14 นายที่อยู่ภายใต้การสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น และอาจมีเพิ่มอีกด้วย 

ถึงกระนั้นก็พบด้วยว่า คดีที่ร้ายแรงที่สุดนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘คดีข่มขืน’ 

เมื่อวันจันทร์ (18 ก.ย.) ที่ผ่านมา ซูเอลลา บราเวอร์แมน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยก็ได้ประกาศแผนการที่จะทำให้ผู้บังคับบัญชาไล่เจ้าหน้าที่อันธพาลได้ง่ายขึ้น ซึ่งระบุว่า การพิพากษาลงโทษในความผิดบางประการ รวมถึงอาชญากรรมทางเพศนั้นหมายถึงการประพฤติมิชอบอย่างร้ายแรงโดยอัตโนมัติ โดยประธานการพิจารณาคดีประพฤติมิชอบจะตกเป็นของผู้บังคับบัญชา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์