ใครที่ยังคิดว่า ‘ปลาทองความจำสั้น’ อยู่ บอกเลยว่า ‘เป็นเรื่องไม่จริงสุดๆ’ เรามักเคยได้ยินคำกล่าวว่า ‘ปลาทองมีความจำสั้นแค่ 3 วินาที’ แต่จริงๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์ออกมาบอกแล้วมันไม่ใช่!!!
“ปลาทองและปลาชนิดอื่นๆ เกือบทั้งหมดมีความจำที่สมบูรณ์แบบเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ หรือแม้แต่ลักษณะเฉพาะของเพื่อนๆ ของมันด้วย”
ศาสตราจารย์ คูลัม บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความฉลาดของปลาจากมหาวิทยาลัยแมคควอรี่ ในซิดนีย์ บอก
ศาสตราจารย์บราวน์กล่าวในรายการ ‘Naturebang’ ของช่องวิทยุ BBC Radio 4 ว่า “ผมกล้าพูดได้เลยว่าไม่ว่าสัตว์ใดก็ตามไม่มีทางที่จะมีความจำแค่นั้น ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือสัตว์อื่นๆ ก็คงดำรงชีวิตอยู่ได้ไม่นานในโลกแห่งความเป็นจริง”
ปลาทองมักถูกบูลลี่ว่ามีความจำและทักษะการรับรู้ที่ไม่ดี ไม่ว่าจะที่ไหนในโลก ผู้คนก็มักคิดว่าปลาทองมีความจำที่แย่มาก แต่ศาสตราจารย์บราวน์แย้งว่า “หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ปลาก็คงไม่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ๆ หรือเรียนรู้วิธีปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมได้”
แม้ว่าความเชื่อนี้จะแพร่หลายเพียงใด แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ก็ทราบมานานหลายปีแล้วว่า ‘ปลามีความสามารถในการเรียนรู้ที่น่าทึ่ง’
เพื่อพิสูจน์ว่าปลาทองทอง หรือปลาทั่วๆ ไปไม่ได้ความจำสั้นอย่างที่ใครหลายคนเชื่อ ศาสตราจารย์บราวน์จึงออกแบบการทดลองเพื่อแสดงให้เห็นว่าปลาเรียนรู้ที่จะหนีจากเงื้อมมือของเรือประมงได้อย่างไร
ในการทดลอง ศาสตราจารย์บราวน์ได้เอาปลาสีรุ้ง (rainbow fish) มาใส่ไว้ในตู้ปลาที่มีตาข่ายอวนลากจำลองขนาดเล็ก โดยเขาได้เจาะรูไว้เพียงรูเดียวเพื่อใช้เป็นทางหนีของปลา ระหว่างที่ทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายครั้ง เขาก็สังเกตเห็นว่าปลาสายรุ้งสามารถหาทางหนีจากตาข่ายได้เร็วขึ้น
“เมื่อสิ้นสุดการทดลอง 4-5 ครั้ง พวกมันจะว่ายน้ำได้อย่างสงบนิ่งอยู่หน้าตาข่าย และเมื่อมันว่ายไปได้ประมาณครึ่งทางของตู้ปลา พวกมันจะหันตัวกลับและว่ายน้ำผ่านรูนั้นโดยตรง ผมรู้สึกว้าวมาก มันเหลือเชื่อจริงๆ” ศาสตราจารย์บราวน์ เล่า
สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ เมื่อเขานำปลากลับลงไปใส่ในตู้ปลาที่มีอวนตาข่ายจำลองอีกครั้งในอีก 11 เดือนต่อมา พวกมันก็ยังสามารถหาช่องทางหนีเจอ นั่นหมายความว่า พวกมันสามารถจดจำเส้นทางหนีจากอวนลากจำลองได้นานถึง 1 ปี
นี่ไม่ใช่การศึกษาเพียงครั้งเดียวที่แสดงให้เห็นว่า ‘ปลา’ มีหน่วยความจำที่ ‘ดี’ ไม่เหมือนกับคำล่ำลือว่า ‘มันความจำสั้น’
ในปี 2022 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้ฝึกปลาทอง 9 ตัวให้ว่ายน้ำผ่านตู้ปลาให้ได้ระยะ 70 ซม. พอดี ซึ่งนักวิจัยก็พบว่า ปลาทองสามารถใช้ลายทางบนผนังตู้ปลาเพื่อสร้างแผนที่สภาพแวดล้อมได้ในลักษณะเดียวกับที่ปลาใช้หินและสาหร่ายในธรรมชาติเป็นจุดสังเกต
จากบ้านเกิดมานานก็จำทางว่ายกลับมาได้!!!

ในทำนองเดียวกัน ศาสตราจารย์บราวน์ก็ชี้ให้เห็นว่าปลาหลายชนิดสามารถว่ายน้ำกลับสู่แหล่งเพาะพันธุ์ของพวกมันได้ แม้ว่าพวกมันจะออกไปใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลนานหลายปีก็ตาม
“เราทุกคนต่างรู้ดีว่าปลาเทราต์และปลาแซลมอนจะว่ายกลับมายังแหล่งเพาะพันธุ์เดิมเพื่อวางไข่ทุกปี ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่รู้กันดีในบรรดาชาวประมงและนักตกปลาในพื้นที่ มีหลักฐานที่น่าทึ่งบางอย่างเกี่ยวกับรูปแบบการอพยพ พฤติกรรมการวางไข่ รวมถึงแหล่งหากินของชาวประมงที่ถ่ายทอดเป็นวัฒนธรรมจากตัวหนึ่งสู่อีกตัวหนึ่ง และจากรุ่นสู่รุ่น” ศาสตราจารย์บราวน์ กล่าวเสริม
ตัวอย่างเช่น สหราชอาณาจักรเป็นถิ่นอาศัยของปลาแซลมอนแอตแลนติกซึ่งวางไข่ในกรวดของลำธารน้ำจืดตามแนวชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ หลังจากฟักออกมาแล้ว ลูกปลาแซลมอนจะใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในน้ำจืดก่อนที่จะว่ายลงสู่ทะเล
ในขณะที่ปลาแซลมอนเติบโตเต็มวัย มันอาจอยู่ในทะเลได้นานถึง 6 ปีก่อนที่จะว่ายน้ำกลับขึ้นไปตามลำธารในช่วงฤดูใบไม้ร่วง “ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณลองแยกย่อยดูจะพบว่า พฤติกรรมส่วนใหญ่ของสัตว์ที่ปรับตัวได้ดีก็เพราะเรียนรู้จากความจำ” ศาสตราจารย์บราวน์ กล่าว พร้อมเสริมว่า “ปลาสามารถจดจำกันและกันได้ และเลือกที่จะอยู่กับปลาที่เคยเจอกันมาก่อนโดยเฉพาะ”
“เมื่อมองย้อนกลับไป ความเชื่อที่ว่า ‘ความจำของปลาสั้น’ นั้นเป็นเพียง ‘ความคิดที่บ้าบอ’...”
ศาสตราจารย์บราวน์ สรุป
ปลาทองไม่ได้มีความจำแค่ 3 วินาทีนะ! หยุดบูลลี่!!!!