ในช่วงกลางเดือนมกราคมมีการรวมตัวเล็กๆ ของฝูงชนบริเวณฐานทัพของเมียนมา หนึ่งในนั้นมีพระภิกษุ โปกกอตอว์ ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร มินอ่องหล่าย ก้าวลงจากตำแหน่งและให้รองนายกฯ เข้ารับตำแหน่งแทนท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชนที่เห็นด้วย
หลังจากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จนถึงวันนี้ก็ครบรอบ 3 ปีแล้วและพบว่า มินอ่องหล่าย อยู่ในภาวะที่ ‘อ่อนแอที่สุด’ นับตั้งแต่โค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของ อองซานซูจี ท่ามกลางการตั้งคำถามจากฝ่ายสนับสนุนผู้นำวัย 67 ปีรายนี้ว่าควรจะลาออกไหม? หลังจากความพ่ายแพ้ในสมรภูมิรบหลายครั้ง
ตามการรายงานของสื่อ ‘Myanmar Peace Monitor’ ระบุว่า “จนถึงขณะนี้ รัฐบาลเผด็จการทหารได้สูญเสียการควบคุมเมืองไปแล้วอย่างน้อย 35 เมือง แม้ว่าการหยุดยิงที่จีนเป็นสื่อกลางได้หยุดยั้งการปะทะใกล้ชายแดนจีนแล้วก็ตาม แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินต่อไป” ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเผด็จการทหารไม่ได้ระบุรายละเอียดเฉพาะเกี่ยวกับการพ่ายแพ้ในสนามรบ แต่ยอมรับว่าสูญเสียการควบคุมดินแดนบางส่วน
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันพุธ (31 ม.ค.) ก่อนวันครบรอบรัฐประหาร มินอ่องหล่าย ได้ขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน โดยอ้างว่า ‘เพื่อให้กองทัพสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการนำประเทศเข้าสู่สภาวะปกติของเสถียรภาพและสันติภาพ’
“มีความคับข้องใจอย่างลึกซึ้งเกิดขึ้นภายในกองทัพ ซึ่งรวมถึง มินอ่องหล่าย ด้วย บางคนคงอยากเห็นเขาลงจากตำแหน่งอย่างแน่นอน…นอกจากนี้ กองทัพยังดิ้นรนในการรับสมัครทหารและบังคับบุคลากรที่ไม่ใช่หน่วยรบเข้าสู่แนวหน้า ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ มินอ่องหล่าย ถูกโจมตี”
นักการทูตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เปิดเผยชื่อบอกกับ Reuters
แน่นอนว่าความสูญเสียของกองทัพในสนามรบอาจไม่นำไปสู่การล่มสลาย และไม่มีความชัดเจนว่า มินอ่องหล่าย จะถูกขับออกไปหรือไม่อย่างไร หรือใครจะเข้ามาแทนที่เขา รวมถึง โซวิน รองผู้บัญชาการทหารคนปัจจุบันของเขาด้วย
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำลายจุดยืนของ มินอ่องหล่าย และของกองทัพเมียนมา หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ตะมะดอ’ ซึ่งสหประชาชาติกล่าวหาว่า ‘กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบในประเทศ’
“การรบของกองทัพที่ย่ำแย่ในสนามรบถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าละอายในหมู่ผู้รักชาติและผู้สนับสนุนทหารคนอื่นๆ ที่ออกมาวิจารณ์ต่อสาธารณะอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของผู้บัญชาการทหารสูงสุดอย่าง มินอ่องหล่าย”
ริชาร์ด ฮอร์ซี ที่ปรึกษาอาวุโสเมียนมาขององค์กรไครซิสกรุ๊ป (Crisis Group) กล่าว
ขณะที่ สกอต มาร์เซียล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเมียนมากล่าวว่า “กองทัพถูกกดดันจากหลายแนวรบ สูญเสียดินแดนอันกว้างขวางและการควบคุมเมืองไปจำนวนหนึ่ง และดูเหมือนจะได้รับความทุกข์ทรมานจากขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ รวมถึงความเป็นผู้นำที่ย่ำแย่”
สถานการณ์ตอนนี้ (ยัง) ยากที่จะ ‘คาดเดา’
ในแผนงานที่ประกาศหลังรัฐประหาร รัฐบาลทหารได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนสิงหาคม 2023 แต่เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศลุกลามจนควบคุมไม่ได้ ทำให้กองทัพพยายามปราบปรามอย่างรุนแรง ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธทั่วประเทศจึงลุกฮือต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของเมียนมาที่ ‘อ่อนแอ’ อยู่แล้วภายหลังการปกครองของรัฐบาลทหารมานานหลายทศวรรษก็ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนจากต่างชาติเริ่มลดน้อยลงนับตั้งแต่รัฐประหารและการคว่ำบาตรจากตะวันตก
นักวิเคราะห์ทางการเงินไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า “ภาวะไฟฟ้าดับ อุปทานสินค้าโภคภัณฑ์หลักพุ่งกระฉูดบ่อยครั้ง รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาที่พุ่งสูงขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อครอบครัวทั่วไป…ผู้คนจากทุกสาขาอาชีพเริ่มรู้สึกเจ็บปวด”
ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุดจากทางฝั่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งประกอบด้วยบุคคลากรจากพรรคของซูจี พร้อมด้วยกลุ่มกบฏ 3 กลุ่มก็กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ (31 ม.ค.) เช่นเดียวกันว่า ‘พวกเขาเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับกองทัพ หากรัฐบาลดังกล่าวบรรลุเงื่อนไข 6 ประการ ซึ่งรวมถึงการนำกองทัพมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน และการยุติการมีส่วนร่วมของทหารในการเมือง’
“ขณะนี้มีโอกาสอย่างแท้จริงที่กลุ่มกบฏจะเอาชนะกองทัพ อย่างน้อยก็ในแง่ของการบังคับให้กองทัพยอมสละอำนาจทางการเมืองอันมหาศาล แต่เป็นการยากที่จะคาดเดาว่าสิ่งนี้อาจใช้เวลานานเท่าใด”
มาร์เซียล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าว
Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP