‘โทมัส เอดิสัน’ ไม่ใช่นักประดิษฐ์ แต่คือนักธุรกิจคิดขายไฟฟ้า

21 เม.ย. 2566 - 07:37

  • โทมัส เอดิสัน ประสบความสำเร็จจากการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ของตนเอง พัฒนาสู่ธุรกิจจนทำให้เขานับว่าเป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจพลังงานเป็นคนแรกๆ ของโลก

tomas-edison-the-rich-creator-from-the-power-electricity-system-SPACEBAR-Thumbnail
อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะสิ้นสุดเดือนเมษายน อันได้ชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเจออากาศร้อนที่สุดของปี แต่สิ่งที่หลายคนตอนนี้กลับรู้สึกหนาวคือ 'บิลค่าไฟฟ้า' ที่พุ่งสูงกว่าเท่าตัว จากหลายปัจจัยทั้งต้นทุนค่าพลังงานที่แพงขึ้น ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบค่า FT หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ตามที่ปรากฏในบิลค่าไฟ 
 
อย่างไรก็ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงนี้ที่หลายคนออกมาแชร์ประสบการณ์เจอบิลค่าไฟพุ่งนั้น เป็นการเรียกเก็บในเดือนเมษายน ยังไม่ใช่เดือนพฤษภาคมซึ่งตามกำหนดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ประกาศเมื่อ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา อาจจะมีการปรับสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับการเรียกเก็บในเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ซึ่งหมายความว่า ประชาชนอาจจะเจอบิลค่าไฟเดือน พ.ค.-ส.ค. ขึ้นที่ระดับ 98.27 สตางค์/หน่วย เพิ่มจากเดือน  ม.ค. - เม.ย. 2566 ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย
 
ตามการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกของฟอร์บส์ 2023 ระบุว่า บุคคลที่ร่ำรวยจากธุรกิจพลังงานที่สุดคือ โล ตั๊ก กวง (Low Tuck Kwong) มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซียผู้เป็นเจ้าของบริษัทเหมืองแร่ถ่านหิน Bayan Resources อันดับต่อมาคือ เลโอนิด มิเคลสัน (Leonid Mikhelson) มหาเศรษฐีผู้ค้าพลังงานชาวรัสเซีย 
 
การจัดอันดับของฟอร์บส์หลายปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามหาเศรษฐีจากฝั่งเอเชีย และรัสเซียหลายราย มีความร่ำรวยจากธุรกิจพลังงานมากขึ้น ฝั่งอินเดียก็อย่าง มูเกซ อัมบานี เป็นต้น 
 
แต่หากย้อนกลับไปช่วงต้นยุค 1900 เราจะเห็นว่า มีมหาเศรษฐีชาวอเมริกันจำนวนมากที่ร่ำรวยจากธุรกิจพลังงาน อาทิ จอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ แห่งสแตนดาร์ดออย หรือ เจ. พอล เก็ตตี้ แห่งเก็ตตี้ออย ซึ่งยุคหนึ่งเคยรวยติดอันดับท็อปลิสต์ของโลก 
 
ย้อนกลับมาที่เรื่องค่าไฟ หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าคนที่เรียกว่ามีคุณูปการต่อระบบไฟฟ้าของโลก ก็มีชื่อที่เราคุ้นเคยอยู่ไม่กี่ชื่ออย่าง ไมเคิล ฟาราเดย์ ผู้สร้างกระแสไฟฟ้าสลับสำเร็จเป็นคนแรก, นิโคลา เทสลา ผู้สร้างไฟฟ้ากระแสตรง และ โทมัส เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟจนสำเร็จเป็นครั้งแรก 
 
หากย้อนกลับไปดูบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์เหล่านี้ มีเพียงโทมัส เอดิสัน คนเดียวที่เรียกว่าประสบความสำเร็จจากการต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ของตนเอง พัฒนาสู่ธุรกิจจนทำให้เขานับว่าเป็นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจพลังงานเป็นคนแรกๆ ของโลก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/NshwsEUCoeCDjqbreRADm/b720d12f118b2a91c06de56904082994/tomas-edison-the-rich-creator-from-the-power-electricity-system-SPACEBAR-Photo01
Photo: ภาพวาดจำลองไดนาโมกำเนิดไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า Pearl Street นิวยอร์กซิตี้

โรงไฟฟ้าแห่งแรกของโลก 

เป็นที่ทราบกันดีว่า โทมัส เอดิสัน เป็นที่รู้จักวงกว้างในฐานะผู้ประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จเป็นครั้งแรกช่วง 1879 ซึ่งในเวลานั้นเอดิสันเข้าใจดีว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาสามารถปฏิวัติวิถีชีวิตของผู้คนให้เปลี่ยนไปตลอดกาล จากการให้พลังงานแสงสว่างในยามค่ำคืน 
 
แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การสร้างวิธีการกระจายกระแสไฟฟ้าสู่มวลชน เอดิสันตระหนักถึงศักยภาพของไฟฟ้าในฐานะอุตสาหกรรมใหม่ นั่นทำให้เขามองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า 
 
ด้วยแนวคิดนี้ เมื่อสามารถสร้างหลอดไฟได้สำเร็จ เอดิสันจึงต่อยอดด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกของโลกเพื่อจัดจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 
 
 ในเดือนมกราคม 1882 เอดิสันได้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของโลก ชื่อว่า Edison Electric Light Station ชานกรุงลอนดอน โครงการนี้มีขึ้นภายหลัง  3 ปีจากที่เอดิสันประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จ 
 
โรงไฟฟ้าแห่งนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบไอน้ำขนาด 93 กิโลวัตต์ (125 แรงม้า) ซึ่งขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 27 ตัน ผ่านการใช้ถ่านหินต้มน้ำจนเกิดไอความร้อนไปปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใช้วิธีการจ่ายกระแสไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟผ่านท่อระบายน้ำ Edison Electric Light Station ซึ่งไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตถูกใช้ตามเสาไฟท้องถนนในที่สาธารณะ และโรงละครใจกลางกรุงลอนดอน แต่ด้วยหลายปัจจัยทั้งการจ่ายไฟให้กับสาธารณะโดยที่ไม่ได้สร้างรายได้มากนัก ประกอบกับการแข่งขันด้านต้นทุนราคาจากโคมไฟที่ใช้แก๊สซึ่งมีราคาถูกกว่า ท้ายที่สุดทำให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถูกปิดในปี 1886 
 
หลังเอดิสันเปิดโรงไฟฟ้าแห่งแรกเดือนมกราคม 1882 เดือนกันยายนของปีเดียวกันนี้ เอดิสันได้เปิดโรงไฟฟ้าแห่งที่สอง ตั้งอยู่ในย่านเพิร์ลสตรีทของแมนฮัตตัน สถานีนี้ใช้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง และจ่ายกระแสไฟฟ้าตรง 110 โวลต์(DC) ให้กับลูกค้า 85 รายภายในรัศมีหนึ่งไมล์ สถานีนี้ประสบความสำเร็จในทันที 
 
ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยลูกค้าถึง 508 ราย จ่ายกระแสไฟให้แสงสว่างแก่โคมไฟกว่า 10,164 ดวง  และความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยกระแสตอบรับที่ดีมาก ทำให้ช่วงปี 1889 โทมัส อัลวา เอดิสัน มีผลประโยชน์ทางธุรกิจในบริษัทเกี่ยวกับไฟฟ้าหลายแห่ง รวมทั้งบริษัท Edison Lamp ผู้ผลิตหลอดไฟในรัฐนิวเจอร์ซีย์, Edison Machine Works ผู้ผลิตไดนาโมและมอเตอร์ไฟฟ้า, Bergmann & Company ผู้ผลิตโคม ไฟฟ้า เต้ารับและอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่างอื่นๆ และบริษัทเอดิสัน อิลลูมิเนติ้ง (Edison Illuminating Company) ซึ่งเป็น บริษัท ผู้ถือสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับไฟฟ้า  ทำหน้าที่รับผลิตสายไฟฟ้า สร้างโรงไฟฟ้าและวางระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดล้วนได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก JP Morgen และครอบครัวแวนเดอร์บิลท์  (Vanderbilt) 
 
ต่อมาด้วยธุรกิจไฟฟ้าของเอดิสัน ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และภายในเวลาไม่กี่ปี ก็มีโรงไฟฟ้าหลายร้อยแห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่รัฐแถบตะวันออกของประเทศ ส่งผลให้ปี 1890 บริษัททั้ง 4 แห่งข้างต้น รวมเป็น Edison General Electric Company ต่อมาปี 1892 Edison General Electric Company ได้ควบรวมกับบริษัทไฟฟ้าThomson-Houston Electric Company กลายมาเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ

General Electric หรือบริษัท GE ที่เรารู้จักในปัจจุบัน 


ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฎในภูมิหลังประวัติของบริษัท GE จะปรากฎชื่อผู้ก่อตั้ง 3 คนนั้นคือ ชาลส์ เอ. คอฟฟิน (เจ้าของบริษัท Thomson-Houston Electric) โทมัส เอดิสัน (เจ้าของ Edison General Electric Company) และ เจพี มอร์แกน นายธนาคารดังผู้เป็นแหล่งทุนในฐานะผู้สนับสนุนการควบรวมกิจการ  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3agML4CFIS8nilNWd5XD4d/1a5e02a6777462e067d5d6d5df2f9b84/tomas-edison-the-rich-creator-from-the-power-electricity-system-SPACEBAR-Photo02
Photo: โลโก้ของ GE Energy (General Electric) ซัพพลายเออร์ชั้นนำของโลกด้านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าและการส่งพลังงาน ในเมืองเบลฟอร์ต ทางตะวันออกของฝรั่งเศส Photo by AFP

ไฟฟ้า vs แก๊ส

นอกจากประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์หลอดไฟดวงแรก จนสามารถขยายสู่การสร้างธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าแบบครบวงจรภายใต้บริษัท GE ระบบขายไฟฟ้าของเอดิสันอิงตามรูปแบบธุรกิจที่กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “รูปแบบสาธารณูปโภค” หรือ “ยูทิลิตี้” ภายใต้โมเดลนี้โรงไฟฟ้าแบบรวมศูนย์จะผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งจากนั้นจะจ่ายให้กับลูกค้าผ่านเครือข่ายสายไฟและหม้อแปลงไฟฟ้า ลูกค้าชำระค่าไฟฟ้าที่ใช้เป็นรายเดือนตามปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ 
 
รูปแบบธุรกิจของเอดิสันนับว่าเป็นนวัตกรรมด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรก เป็นครั้งแรกที่ให้มีการกระจายไฟฟ้าจำนวนมากไปยังผู้บริโภค ทำให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับบ้าน ธุรกิจ และเมืองได้ 
 
ประการที่สอง มันสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เมื่อบริษัทต่างๆ ผุดขึ้นเพื่อสร้างและดำเนินการสถานีไฟฟ้าและเครือข่ายการกระจาย ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ขยายตัวทั่วสหรัฐอย่างรวดเร็ว ประการที่สาม สร้างแหล่งพลังงานที่เชื่อถือได้และราคาไม่แพงสำหรับผู้บริโภค ซึ่งช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนนับล้านในช่วงเวลานั้น
 
อย่างไรก็ตาม แม้โมเดลธุรกิจจะไปได้สวย แต่ความท้าทายจากการแข่งขันของการจำหน่ายไฟฟ้าของเอดิสันคือ การต่อต้านจากบริษัทก๊าซ ซึ่งมองว่าไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจของพวกเขา เนื่องจากในยุคนั้น ผู้คนแค่แสวงหาสิ่งที่สามารถให้แสงสว่างยามค่ำคืนได้ ซึ่งโคมไฟแบบแก๊สก็ตอบโจทย์ในแง่ที่สามารถให้แสงสว่างได้เช่นกัน 
 
เวลานั้นมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทผลิตไฟฟ้าและบริษัทก๊าซ ช่วงนั้น บริษัทก๊าซเป็นผู้จัดหาพลังงานหลักสำหรับให้การแสงสว่างและความร้อนแก่ภาคครัวเรือน จึงไม่แปลกที่บรรดาบริษัทก๊าซจะต่อต้านการเพิ่มขึ้นของบริษัทพลังงานไฟฟ้า 
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทด้านพลังงานไฟฟ้าอย่าง Edison Electric Light Company และ Westinghouse Electric Corporation ได้ส่งเสริมเทคโนโลยีของตนอย่างจริงจังว่าปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น จนสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ 
 
เพื่อแข่งขันกับบริษัทก๊าซ บริษัทพลังงานไฟฟ้าของเอดิสันได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่และกลยุทธ์ทางการตลาด ตัวอย่างเช่นได้เปิดตัวแคมเปญเพื่อแสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งรวมถึงการสาธิตการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างในที่สาธารณะเมื่อเทียบกับการส่องสว่างด้วยโคมไฟจากแก๊ส 
 
พวกเขายังส่งเสริมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เตารีดไฟฟ้าและเตา เพื่อแสดงความสะดวกและประโยชน์ของพลังงานไฟฟ้า ขณะเดียวกันเมื่อเทียบต้นทุนการผลิตและการจัดส่งกระแสไฟแล้ว บริษัทพลังงานไฟฟ้ายังแข่งขันกันโดยเสนอราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและสายส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและส่งไฟฟ้า ทำให้กระไฟฟ้าได้รับความนิยมแซงหน้าความสว่างจากแก๊สในที่สุด
 
สรุปแล้ว โทมัส เอดิสัน ไม่ใช้เป็นเพียงแค่นักประดิษฐ์ผู้คิดค้นหลอดไฟแบบไส้จนสำเร็จเท่านั้น แต่เขายังนับเป็นนักธุรกิจที่มีแนวคิดเป็นนวัตกรรมที่ก้าวล้ำซึ่งเป็นรากฐานสำหรับระบบกริดไฟฟ้าสมัยใหม่ที่มรดกของเขายังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ 
 
นิตยสารฟอร์บส์เคยประเมินว่าก่อนเอดิสันจะเสียชีวิตในปี 1931 เขามีมูลค่าทรัพย์สินไม่น้อยกว่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 170 ล้านดอลลาร์หากเทียบกับมูลค่าเงินในปัจจุบัน นี่ยังไม่นับรวมมูลค่าหุ้นในบริษัท GE ที่เอดิสันครอบครอง มูลค่าประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ในช่วงเวลาที่เขาเสียชีวิต ซึ่งนั่นเทียบเท่ากับหุ้นของ GE ในมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน      

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์