เบื้องหลังอัตราภาษีศุลกากรใหม่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คือการกำจัดการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทุกประเทศ แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่านั่นไม่ใช่เกณฑ์วัดคุณภาพความสัมพันธ์การค้าที่ดีนัก
อัตราภาษีศุลกากรที่สูงลิบซึ่งมีผลบังคับใช้กับประเทศคู่ค้ากว่า 60 ประเทศคำนวณจากการขาดดุลการค้า หรือช่องว่างระหว่างสินค้าที่สหรัฐฯ ขายให้แต่ละประเทศ และสินค้าที่สหรัฐฯ ซื้อ
ทรัมป์มองว่าช่องว่างดังกล่าวคือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ถูกประเทศอื่น “โกง” ทรัมป์อ้างว่า การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของประเทศอื่นทำให้การค้าบิดเบือน และว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องผลิตสินค้าที่ตัวเองต้องบริโภคได้มากกว่านี้
แต่นักเศรษฐศาสตร์กลับแย้งว่านี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่บกพร่อง เนื่องจากการขาดดุลการค้าเกิดขึ้นจากหลายเหตุผลนอกเหนือจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ดานี โรดริก นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาด้านโลกาภิวัฒน์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพูดถึงการเน้นไปที่การขาดดุลการค้าของทรัมป์ว่า “มันโง่เขลาสิ้นดี ไม่มีคำไหนดีกว่านี้อีกแล้ว มันไม่สมเหตุสมผล”
แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเห็นด้วยกับรัฐบาลทรัมป์ที่ว่าการขาดดุลการค้าโดยภาพรวมของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ พึ่งพาการผลิตจากที่อื่นมากเกินไป รวมทั้งจีน ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ พุ่งไปแตะ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วย และนักเศรษฐศาสตร์เกือบทุกคนบอกว่า การให้ความสำคัญกับความไม่สมดุลในแต่ละประเทศอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ เกินดุลการค้ากับ 116 ประเทศทั่วโลก และขาดดุลการค้ากับ 114 ประเทศตามข้อมูลของธนาคารโลก
ความสัมพันธ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากการหลั่งไหลเข้ามาของการค้า แต่ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านการค้าโดยรวม
แมทธิว ไคลน์ ที่เขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ให้ The Overshoot ชี้ว่า สหรัฐฯ มีดุลการค้าเกินดุลกับออสเตรเลียเพราะส่งออกเครื่องจักร อุปกรณ์ขนย้ายเครื่องจักร และสารเคมีจำนวนมาก ส่วนออสเตรเลียมีดุลการค้าเกินดุลจากจีนเพราะส่งออกสินแร่เหล็ก ก๊าซธรรมชาติ และทองคำ และจีนมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ จากการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และแบตเตอรี
สหรัฐฯ ยังมีดุลการค้าเกินดุลกับเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์ ไม่ใช่เพราะคนเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์บริโภคสินค้าจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่เป็นเพราะทั้งเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์เป็นท่าเรือหลักที่นำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ขนถ่ายสินค้าสหรัฐฯ ในท่าเรือของตัวเองแล้วส่งไปทั่วยุโรปสู่ผู้บริโภคคนอื่นๆ สิงคโปร์ก็ทำแบบเดียวกันนี้ในเอเชีย แต่ดุลการค้าคำนวณจากประเทศที่สินค้าไปถึงเป็นประเทศแรก ไม่ใช่ประเทศจุดหมายปลายทางสุดท้าย
นักเศรษฐศาสตร์ยังวิพากวิจารณ์ภาษีของทรัมป์ที่มุ่งเป้าไปที่การค้าต่างประเทศทั้งหมดโดยขาดการพิจารณา โดยไม่คำนึงถึงว่าสินค้าจะมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ หรือไม่
การที่ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการขาดดุลการค้าหมายความว่า แม้แต่พันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐฯ อย่างแคนาดา เม็กซิโก และยุโรป ก็ถูกมองเป็นศัตรูเมื่อพูดถึงการค้า เนื่องจากประเทศเหล่านี้ขายให้สหรัฐฯ มากกว่าซื้อจากสหรัฐฯ
สวิตเซอร์แลนด์ก็ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสวิตเซอร์แลนด์ส่งออกทองคำจำนวนมากไปยังสหรัฐฯ เช่นเดียวกับประเทศเล็กๆ อย่างเลโซโท ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ เลโซโทได้รับสิทธิพิเศษทางกาค้าภายใต้กฎหมายที่ผ่านเมื่อปี 2000 และตอนนี้ผลิตกางเกงยีนส์ให้คนอเมริกัน

ภาษีศุลกากรของทรัมป์คำนวณจากสูตรง่ายๆ คือ การหารยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศด้วยมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศเหล่านั้น สูตรนี้หมายความว่า ประเทศอื่นๆ จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจนกว่าการนำเข้าและส่งออกของสหรัฐฯ ไปยังทุกประเทศมีความสมดุล ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะส่งออกเทคโนโลยีล้ำสมัย ของเล่น เมล็ดโกโก้ หรือข้าวโพดให้สหรัฐฯ
การคำนวณนี้ไม่ได้พิจารณาแนวคิดที่ว่าบางประเทศอาจผลิตสินค้าบางชนิดได้เก่งกว่าประเทศอื่น หรือว่าการนำเข้าสินค้าบางชนิดอาจเป็นประโยชน์ต่อคนอเมริกัน และยังไม่รวมข้อมูลการค้าที่เป็นบริการ เช่น บริการทางการเงิน การท่องเที่ยว และการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ทำงานอยู่
แมรี ลัฟลี นักวิชาการอาวุโสจาก Peterson Institute for International Economics เผยว่า สูตรนี้ “ทำให้สิ่งที่เป็นเพียงแนวทางที่แต่งขึ้นมาดูเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น” ลัฟลีบอกอีกว่า สูตรนี้ตั้งสมมติฐานที่ไม่สมจริงหลายประการ รวมทั้งสมติฐานที่ว่าความต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ตอบสนองคล้ายคลึงกับการนำเข้าทั้งหมด
ลัฟลีบอกว่า การตอบสนองนั้น “ไม่สามารถเป็นเหมือนกันสำหรับสินค้าทั้งหมดจากทุกประเทศได้ อุปทานของสหรัฐฯ จะตอบสนองต่อภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับโกโก้และยางธรรมชาติจากโกตดิวัวร์อย่างไร? แบบเดียวกับที่ตอบสนองต่อภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นสำหรับเครื่องจักรจากยุโรปหรือไม่?”
ที่ปรึกษาของทรัมป์ออกมาปกป้องวิธีการคำนวณนี้ สตีเวน ไมรัน ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์ว่า ประธานาธิบดี “ชัดเจนมานานหลายทศวรรษแล้วว่าเขาคิดว่าการขาดดุลการค้าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวอเมริกัน”
ไมรันเผยว่า การขาดดุลการค้าอาจเป็น “ตัวแทนของนโยบายเศรษฐกิจโดยรวมที่ทำให้เกิดการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง” และว่า รับบาลทรัมป์วิเคราะห์สถานการณ์หลายครั้งมาก และประธานาธิบดีตัดสินใจว่าการแก้ปัญหา “เป็นหนทางที่ยุติธรรมที่สุดสำหรับคนงานอเมริกัน”
เจมีสัน เกรียร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ เผยต่อสภาคองเกรสโดยชี้ถึง นโยบายเลือกที่รักมักที่ชังในสหภาพยุโรป บราซิล และอินเดียที่นำมาสู่การขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น เกรียร์เผยว่า การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ “ขับเคลื่อนโดยเงื่อนไขไม่ต่างตอบแทนกันและกันเหล่านี้” และบอกว่าเป็น “การแสดงออกถึงการสูญเสียความสามารถในการผลิต การเติบโต และสร้างของประเทศ”
“มันอันตราย และประธานาธิบดีตระหนักถึงความเร่งด่วนในขณะนี้”
เจมีสัน เกรียร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ
นอกจากนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังดูเหมือนจะมองการมุ่งเน้นไปที่การขาดดุลการค้าเป็นหนทางในการเข้าถึงข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าจากจีนถูกส่งผ่านประเทศอื่นก่อนจะส่งต่อไปที่สหรัฐฯ หลังจากทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรจีนขณะดำรงตำแหน่งสมัยแรก โรงงานหลายแห่งพากันย้ายออกจากจีนเพื่อเลี่ยงภาษี แต่ยังคงพึ่งพาชิ้นส่วน วัตถุดิบ และเทคโนโลยีจากจีน
ด้วยสูตรคำนวณภาษีศุลกากรใหม่ของทรัมป์ ประเทศต่างๆ ที่เป็นจุดหมายปลายทางของโรงงานเหล่านี้ และมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
มาร์ก ดิพลาซิโด ที่ปรึกษานโยบายจาก American Cpmpass ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองเศรษฐกิจอนุรักษนิยมเผยว่า “เพราะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีรวมตัวกัน ประเทศต่างๆ สามารถเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านประเทศที่สามเพื่อเข้าสู่ตลาดของเรา” และว่า ขณะที่การขาดดุลการค้ากับจีนลดลง การขาดดุลการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับเพิ่มขึ้น
“ดังนั้นการพุ่งเป้าไปที่จีนอย่างเดียวจึงไม่พอ จึงจำเป็นต้องมีภาษีพื้นฐานหากเราต้องการเห็นการขาดดุลการค้าโดยรวมลดลง”
มาร์ก ดิพลาซิโด ที่ปรึกษานโยบายจาก American Cpmpass
รัฐบาลทรัมป์อาจจะถูกที่ว่า ในบางกรณีการกีดกันทางการค้าที่ต่างประเทศกำหนดขึ้นทำให้ปริมาณสินค้าที่สหรัฐฯ ส่งออกไปยังประเทศนี้น้อยลง และทำให้การขาดดุลทางการค้ารุนแรงขึ้น
และหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตในหลายทางซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ขายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่า ส่งผลให้สินค้าเดียวกันที่ผลิตในสหรัฐฯ ไม่คุ้มทุน และทำให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศเหล่านี้สูงขึ้น
ไมเคิล เพ็ตติส ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งเผยว่าภาษีศุลกากรใหม่นี้อาจเปลี่ยนเส้นทางของสินค้าที่ถูกส่งไปยังบางประเทศ แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนปริมาณการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
“พวกเขาให้ความสำคัญกับปัญหาผิด การขาดดุลการค้า”
ไมเคิล เพ็ตติส ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
เพ็ตติสมองว่า การขาดดุลการค้าโดยรวมของสหรัฐฯ เป็นปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะนั่นหมายความว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ สนับสนุนกิจกรรมการผลิตของประเทศอื่น เช่น ในจีน แทนที่จะเป็นสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี เพ็ตติสยืนยันว่า ความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ ไม่ได้สะท้อนถึงปัญหาเหล่านี้เสมอไป และการตั้งภาษีศุลกากรก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้มากนัก
ในมุมมองของเพ็ตติส นโยบายของรัฐบาลจีน เยอรมนี เกาหลีใต้ และไต้หวันกำลังผลักดันใหห้เกิดการค้าเกินดุลอย่างมาก เพราะทุกๆ การค้าที่เกินดุลจำเป็นต้องมีการขาดดุลเพื่อให้เกิดความสมดุล จึงส่งผลให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นในที่สุด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าในจีนและประเทศอื่นๆ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่
“มีปัญหาใหญ่ เราไม่เห็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหานั้น”
ไมเคิล เพ็ตติส ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
นักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดว่าการขาดดุลการค้าโดยรวมของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ จะเป็นปัญหาสำหรับสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์บางคนบอกว่า ปัจจัยอื่นๆ อาทิ การใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ และกระแสเงินลงทุน คือตัวขับเคลื่อนหลักของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ไม่ใช่ความต้องการสินค้า และพวกเขาบอกว่า หากภาษีศุลกากรของทรัมป์ลดการขาดดุลการค้าโดยรวมได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเพราะภาษีเหล่านั้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย หรือทำให้ผู้ลงทุนหันเหออกจากสหรัฐฯ โดยทำลายความเชื่อมั่นของโลกที่มีต่อเงินดอลลาร์สหรัฐและตลาดของสหรัฐฯ
โรดริก นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเผยว่า “ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการขาดดุลการค้าของประเทศกับผลการดำเนินงานของประเทศ” และยกตัวอย่างว่าทั้งเวเนซุเอลาและรัสเซียต่างก็มีดุลการค้าเกินดุล “สหรัฐฯ ต้องการเป็นแบบเวเนซุเอลาหรือรัสเซียจริงๆ หรือ?”