ญี่ปุ่นเตือนนักท่องเที่ยวอย่าใช้แท็กซี่เถื่อนห่วงเกิดอันตราย

20 พ.ย. 2566 - 08:10

  • ญี่ปุ่นแจกใบปลิวพร้อมคำเตือนที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและจีนที่สนามบินนาริตะในกรุงโตเกียวตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

  • นอกจากนี้ ใบปลิวยังแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงวิธีแยกความแตกต่างระหว่างแท็กซี่มีใบอนุญาตกับแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตด้วย

Tourists-tokyo-warned-against-using-unlicensed-taxis-SPACEBAR-Hero.jpg

รัฐบาลญี่ปุ่นออกคำเตือนนักท่องเที่ยวไม่ให้ใช้แท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาต เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลให้ความต้องการใช้แท็กซี่ในกรุงโตเกียวเพิ่มสูงขึ้น 

“เจ้าหน้าที่จากกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้แจกใบปลิวพร้อมคำเตือนที่พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและจีนที่สนามบินนาริตะในกรุงโตเกียวตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน” ไมนิจิ ชิมบุน รายงานเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา 

ใบปลิวระบุว่าแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตนั้นผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย รวมถึงผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บขณะโดยสารแท็กซี่เหล่านี้อาจไม่อยู่ภายใต้ประกันด้วย นอกจากนี้ ใบปลิวยังแจ้งให้สาธารณชนทราบถึงวิธีแยกความแตกต่างระหว่างแท็กซี่มีใบอนุญาตกับแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาต โดยแบบแรก (มีใบอุญาต) จะมีป้ายทะเบียนสีเขียวพร้อมกรอบสีเขียว ในขณะที่แบบหลัง (ไม่มีใบอนุญาต) จะมีป้ายสีขาว 

มิตสึเทรุ ยานาเสะ หัวหน้าสำนักงานกระทรวงในเมืองชิบะเผยว่า “เพื่อความปลอดภัยของการเดินทาง เราต้องการให้นักเดินทางใช้รถแท็กซี่และยานพาหนะที่ได้รับอนุญาตซึ่งมีการจัดการที่ดี” 

ในขณะที่บริษัทเรียกรถโดยสารอย่างอูเบอร์ (Uber) และแกร็บ (Grab) กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับแท็กซี่ในประเทศอื่นๆ แต่ญี่ปุ่นยังห้ามแท็กซี่ในรูปแบบบริการเรียกรถโดยสารเข้ามาให้บริการรถแท็กซี่แบบไม่เป็นทางการอยู่ 

แม้แอปฯ อูเบอร์จะมีให้บริการในญี่ปุ่น แต่ก็ใช้เพื่อจองเฉพาะแท็กซี่ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กระแสเรียกร้องจากพรรคเสรีประชาธิปไตยและอดีตนายกฯ โยชิฮิเดะ ซูกะ เสนอให้ขยายตลาดเรียกรถเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เนื่องจากการขาดแคลนรถแท็กซี่ในพื้นที่ชนบทและสถานที่ท่องเที่ยว 

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะเผยว่า “รัฐบาลจะหารือเกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัทเรียกรถโดยสารดำเนินการในญี่ปุ่น” 

แต่รายงานระบุว่า “อุตสาหกรรมรถแท็กซี่ไม่เห็นด้วยกับการนำแท็กซี่แบบเรียกผ่านแอปมาใช้ และกระทรวงคมนาคมยังคงระมัดระวัง โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดกฎเกณฑ์ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบด้านสุขภาพของผู้ขับขี่และการบำรุงรักษายานพาหนะ” 

Photo by TORU YAMANAKA / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์