เป็นไปตามคาดเมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” กับทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรหรือไม่ใช่พันธมิตรที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสงครามการค้าระดับนานาชาติจะรุนแรงขึ้นอีก และประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยจะเจอศึกหนักหลายด้าน
ทรัมป์เผยกับผู้สื่อข่าวจากห้องทำงานรูปไข่ว่า “สำหรับการค้า ผมตัดสินใจโดยมีเป้าหมายเพื่อความเป็นธรรม ว่าผมจะเก็บภาษีตอบโต้ หมายความว่าประเทศใดก็ตามที่เก็บภาษีสหรัฐฯ เราจะเก็บภาษีพวกเขาเช่นกัน ไม่มากกว่าหรือน้อยกว่า” และว่าในแง่ของการค้านั้นพันธมิตรของสหรัฐฯ “ร้ายกว่าศัตรูของเรา”
ก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งทรัมป์เคยประกาศเรื่องภาษีตอบโต้ไว้ว่า “ตาต่อตา ภาษีต่อภาษี จำนวนเท่ากัน”
ที่ห้องทำงานรูปไข ทรัมป์ลงนามสั่งการให้คณะทำงานเริ่มลงมือคำนวณภาษีตอบโต้ให้เท่ากับที่ประเทศอื่นเรียกเก็บจากสหรัฐฯ รวมถึงการตอบโต้อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ กฎเกณฑ์ความปลอดภัยของยานพาหนะที่กีดกันรถยนต์ของสหรัฐฯ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มภาระต้นทุน
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งเผยว่า สหรัฐฯ “ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม” และการไม่เก็บภาษีตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามาตลอดจนเมื่อปีที่แล้วตัวเลขดังกล่าวพุ่งไปแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ใช้กับใครบ้าง
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มตรวจสอบประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากที่สุด หรือมีความไม่สมดุลอย่างร้ายแรงก่อน
ส่วน JPMorgan วิเคราะห์ว่า ภาษีตอบโต้นี้อาจทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและไทย ซึ่งเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงอยู่แล้ว ปรับขึ้นภาษีในวงกว้าง
เริ่มใช้เมื่อไร
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยว่า การตรวจสอบอาจใช้เลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ส่วน ฮาเวิร์ด ลุทนิค ตัวเต็งที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บอกว่า การศึกษานี้ควรแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เม.ย. และประธานาธิบดีสามารถลงนามเริ่มใช้เร็วสุดในวันที่ 2 เม.ย.

ไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง
สำนักข่าว Reuters ระบุว่า เวียดนามและไทยมีความเสี่ยงเป็นพิเศษจากมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ สำหรับไทย นับตั้งแต่ปี 2017 การขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 343% และขณะนี้การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ของไทยอยู่ในอันดับ 5 มากกว่าญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้หากนับประเทศในสหภาพยุโรปรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขเกินดุลของปี 2017 ที่ไทยอยู่ในอันดับ 13 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด
ที่น่ากังวลคือ แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในเวทีการค้าโลก แต่เศรษฐกิจกลับไม่แข็งแรงพอที่จะตอบโต้ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่แย่กว่านั้นคือ ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรุนแรงขึ้น เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนมหาศาลของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ฝั่งนักวิเคราะห์มองว่ามาตรการเก็บภาษีตอบโต้นี้มีไว้เพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ กับหลายๆ ประเทศ
คริสตีน แม็คแดเนียล จาก Mercatus Center เผยว่า “มันดูเหมือนการเชิญชวนให้มาเจรจากันมากกว่า”
สอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวบอกว่า ทรัมป์ยินดีจะลดภาษี หากประเทศอื่นยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ
อินเดียไหวตัวทัน
รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมดี เป็นรัฐบาลที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ สูงที่สุดในบรรดาประเทศคู่ค้าหลักๆ ของสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่าอินเดียจะพอทราบสถานการณ์ของตัวเองดีจึงชิงเสนอลดภาษีสินค้าบางอย่าง รวมทั้งรถจักรยานยนต์ไฮเอนด์ ให้สหรัฐฯ ก่อนที่โมดีจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ
Photo by ANDREW CABALLERO-REYNOLDS / AFP