การปะทะคารมณ์ระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกีตอกย้ำสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีไปเข้าข้างรัสเซีย

4 มี.ค. 2568 - 09:59

  • หลังรับตำแหน่งเพียงเดือนกว่าๆ ทรัมป์ลงมือปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศต่างๆ ของสหรัฐฯ มากมายจนกลายเป็นสนับสนุนรัสเซียและปฏิเสธความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับยูเครนที่สร้างกันมาตั้งแต่รัฐบาลไบเดน

  • เดือนที่แล้ว มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียพบปะหารือกันครั้งแรกที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบียโดยไม่มียูเครน

  • การหันไปกอดกับรัสเซียก็เสี่ยงกับการที่สหรัฐฯ อาจต้องหันหลังให้พันธมิตร อาทิ ยุโรป

trump_turns_towards_russia_breaking_decades_us_policy_SPACEBAR_Hero_998733d274.jpg

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ บอกว่า ยูเครนเป็นฝ่ายเริ่มสงครามก่อน ไม่ใช่รัสเซีย ทรัมป์ยังเรียกประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนว่า “เผด็จการ” ไหนจะการตำหนิผู้นำยูเครนในห้องทำงานรูปไข่ระหว่างหารือกันเรื่องข้อตกลงแร่ธาตุ และล่าสุดทำเนียบขาวบอกว่า สหรัฐฯ จะหยุดส่งความช่วยเหลือทางการหทารให้ยูเครนชั่วคราว  

ตรงกันข้าม ทรัมป์ไม่เคยตำหนิปูตินหรือรัสเซียสักคำ ทั้งๆ ที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนก่อนเมื่อปี 2014 (คาบสมุทรไครเมีย) ที่ลากยาวมาจนถึงสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 และรุกรานยูเครนอีกครั้งเมื่อปี 2022 ทรัมป์ยังเคยออกปากให้กลุ่ม G7 รับรัสเซียกลับเข้ากลุ่มหลังถูกขับออกเพราะบุกแคว้นไครเมียของยูเครน ล่าสุดสหรัฐฯ กำลังพิจารณาหาทางผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย 

หลังรับตำแหน่งเพียงเดือนกว่าๆ ทรัมป์ลงมือปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศต่างๆ ของสหรัฐฯ มากมายจนกลายเป็นสนับสนุนรัสเซียและปฏิเสธความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับยูเครนที่สร้างกันมาตั้งแต่รัฐบาลไบเดน ทั้งที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศสายเหยี่ยวกับรัสเซียเป็นเรื่องเดียวที่ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันเห็นพ้องต้องกันท่ามกลางการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรงในสหรัฐฯ  

นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลทรัมป์ปรับเปลี่ยนในช่วงนี้ ได้แก่ 

  • ทำเนียบขาวสั่งหยุดส่งความช่วยเหลือทางการทหารชั่วคราวแก่ยูเครนเพื่อทบทวนว่าความช่วยเหลือดังกล่าวมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาหรือไม่ 
  • พีท เฮ็กเซ็ธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งให้กองบัญชาการไซเบอร์หยุดปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์และปฏิบัติการด้านข้อมูลต่อรัสเซีย 
  • แพม บอนดี อัยการสูงสุด สั่งยุติความพยายามยึดทรัพย์สินของมหาเศรษฐีรัสเซียที่ทรงอิทธิพลซึ่งเป็นโครงการในสมัยรัฐบาลไบเดน 
  • แพม บอนดี ยังสั่งยุติโครงการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลกลางที่ปราบปรามแคมเปญลับเพาะสร้างอิทธิพลของรัสเซีย จีน และฝ่ายตรงข้ามสหรัฐฯ ที่พยายามสร้างความแตกแยกในการเมืองสหรัฐฯ  
  • มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อเริ่มเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย โดยที่เซเลนสกีและเจ้าหน้าที่ยูเครนไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม 

โคริ ชาเค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายต่างประเทศและกลาโหมจาก American Enterprise Institute และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เผยว่า “เป็นการกลับลำนโยบายต่างประเทศที่มีมานานกว่า 80 ปีที่น่าอับอาย ตลอดช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ ไม่ยอมรับการพิชิตดินแดนรัฐบอลติกของโซเวียต แต่ตอนนี้เรากำลังรับรองการรุกรานเพื่อสร้างขอบเขตอิทธิพล ประธานาธิบดีอเมริกันทุกคนในช่วง 80 ปีที่ผ่านมาจะคัดค้านคำพูดของทรัมป์” 

ฝ่ายที่แฮปปี้ที่สุดเห็นจะเป็นรัสเซีย ที่การเจรจาเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ได้เดินหน้าต่อหรืออาจจะก้าวหน้าเร็วขึ้นในเร็ววันนี้ แม้ตอนนี้จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ในทางลับมีการพูดกันว่าการประชุมสุดยอดระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ 

นอกจากนี้ ยังเกิดความหวังขึ้นในมอสโกว่า เมื่อประธานาธิบดีเซเลนสกียังเห็นไม่ตรงกับทรัมป์และทีม การเจรจาอย่างยากเย็นเพื่อยุติสงครามในยูเครนจะเป็นผลดีกับข้อตกลงด้านเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ที่เริ่มคุยกันหลังม่านแล้ว

trump_turns_towards_russia_breaking_decades_us_policy_SPACEBAR_Photo01_a046daafe9.jpg
มาร์โก รูบิโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และเซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย พบปะหารือที่กรุงริยาดเมื่อวันที่ 18 ก.พ. Photo by Evelyn Hockstein / POOL / AFP

เมื่อเดือนที่แล้ว มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และเซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียพบปะหารือกันครั้งแรกที่กรุงริยาดของซาอุดีอาระเบียโดยไม่มียูเครน 

สำนักข่าว CNN ทราบมาว่า ขณะนี้มีการเตรียมการการพบปะหารือรอบที่ 2 ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในซาอุดีอาระเบียอีกเช่นกัน 

คิริลล์ ดิมิทรีฟ ทูตด้านเศรษฐกิจคนสำคัญของการพบปะหารือของฝั่งรัสเซียเผยกับ CNN ว่า ความร่วมมือกับสหรัฐฯ อาจ “รวมถึงดีลพลังงาน” ด้วย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด 

นอกจากนี้ Financial Times รายงานว่า มีความพยายามดึงนักลงทุนชาวอเมริกันเข้ามาร่วมในการก่อสร้างท่อส่งแก๊ส Nord Stream 2 ของรัสเซียไปยังยุโรป ซึ่งเยอรมนีหยุดส่งหลังรัสเซียรุกรานยูเครน 

ดิมิทรีฟเรียกร้องให้รับบาลทรัมป์และรัสเซียเริ่ม “สร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับมนุษยชาติ” และ “ให้ความสำคัญกับการลงทุน การเติบโตของเศรษฐกิจ การพัฒนาเอไอ” และโครงการวิทยาศาสตร์ร่วมกันในระยะยาว อาทิ การสำรวจดาวอังคาร 

หากตัดความเสี่ยงต่างๆ ออก การทำธุรกิจกับรัสเซียดูเหมือนจะทำกำไรได้มากกว่า อย่างน้อยรัสเซียก็มีแหล่งแร่แรร์เอิร์ธที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกและมากกว่าของยูเครน ซึ่งน่าจะดึงดูดคนหัวธุรกิจอย่างทรัมป์ 

แต่สิ่งที่เราได้เห็นนับตั้งแต่ทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่งเมื่อเดือน ม.ค. น่าจะเป็นเรื่องนอกเหนือจากเงินทอง นั่นคือ การฟื้นสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย 

แต่การหันไปกอดกับรัสเซียก็เสี่ยงกับการที่สหรัฐฯ อาจต้องหันหลังให้พันธมิตร อาทิ ยุโรป ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ  

แม้แต่รัสเซียเองก็ยังให้ความสนใจ โดย ดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินเผยกับสถานีโทรทัศน์รัสเซียว่า “รัฐบาลใหม่ (สหรัฐฯ) เปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเรา” 

ส่วนสาเหตุว่าทำไมประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึงเลือกเครมลินแทนที่จะเป็นหุ้นส่วนดั้งเดิมของสหรัฐฯ นั้นก็ได้แต่คาดเดากันไปต่างๆ นานา แต่ที่แน่ๆ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียที่มักจะตึงเครียดหรืออาจจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนั้น ดูเหมือนว่าจะก้าวเข้าสู่ระยะใหม่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 

Photo by TATYANA MAKEYEVA / AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์