ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธ ‘โดมทอง’ (Golden Dome) เมื่อวันอังคาร (21 พ.ค.) โดยคาดว่าโครงการนี้ซึ่งมีเป้าหมายขยายระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ จะแล้วเสร็จภายในสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งของทรัมป์
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า “โดมทองจะทำหน้าที่ป้องกัน ‘การโจมตีร้ายแรง’” แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “โดมแห่งนี้ยังเผชิญกับอุปสรรคทั้งด้านการขนส่งและการเงิน”
โครงการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในความสำคัญสูงสุดของทรัมป์ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งเขาได้สัญญาไว้ในช่วงหาเสียงว่าจะ “สร้างระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีความสามารถคล้ายกับระบบ ‘Iron Dome’ ของอิสราเอล” ที่สามารถสกัดกั้นจรวดและขีปนาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรัมป์เผยว่าโครงการนี้จะมีค่าใช้จ่าย 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.73 ล้านล้านบาท) โดยได้ขอรับเงินทุน 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.1 แสนล้านบาท) จากร่างกฎหมายลดหย่อนภาษีและงบประมาณที่ยังต้องผ่านรัฐสภา อีกทั้งแคนาดายังแสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในโครงการนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
แต่สำนักงานงบประมาณรัฐสภาจะระบุว่าโครงการโดมทองน่าจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นมากโดยอาจสูงถึง 542,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านล้านบาท)
ทรัมป์มั่นใจว่าโครงการจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบก่อนสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งของเขา ระบบดังกล่าวจะสามารถสกัดกั้นขีปนาวุธได้แม้ยิงมาจากอีกซีกโลก หรือจากอวกาศ “เราจะมีระบบที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา” ทรัมป์ กล่าว
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตั้งชื่อโครงการของทรัมป์ว่า ‘โดมสีทอง’ เพื่อเป็นเกียรติแก่สีและโลหะที่ทรัมป์ชื่นชอบ ระบบป้องกันทางอากาศโดมทองจะเป็นโครงการระบบทหารรุ่นต่อไปที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันขีปนาวุธพิสัยไกล ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธร่อนหลากหลายชนิด ซึ่งประเทศคู่แข่งอย่างรัสเซียนำไปใช้อย่างประสบความสำเร็จ
คำสั่งของทรัมป์ระบุว่า “ความเป็นไปได้ของการโจมตีทางอากาศขั้นสูงเหล่านี้ ‘ยังคงเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุด’ ที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ” ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พีท เฮกเซธ เรียกโครงการดังกล่าวว่าเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ และเป็นการลงทุนเพื่อความมั่นคงของชาติในระดับยุคสมัย
“ในขณะที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับสันติภาพในต่างประเทศ แต่ศัตรูก็ได้ปรับปรุงกองกำลังนิวเคลียร์ของตัวเอง และสร้างขีดความสามารถด้านขีปนาวุธของตัวเองขึ้นมา รวมถึงขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถโจมตีสหรัฐฯ ได้ภายใน 1 ชั่วโมงและเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 6,000 ไมล์ต่อชั่วโมง...ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลงสมการนั้นและเริ่มทุ่มเทให้กับระบบปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนมากขึ้น”
— พลเอกไมเคิล กูเอตเลน รองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอวกาศของกองทัพอวกาศ ผู้ซึ่งทรัมป์แต่งตั้งให้ดูแลโครงการ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การปกป้องสหรัฐฯ จากการโจมตีดังกล่าวเป็นความท้าทายทางเทคนิคสูง เพราะการป้องกันพื้นที่ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จากขีปนาวุธข้ามทวีปซับซ้อนกว่าการปกป้องอิสราเอลจากการโจมตีด้วยจรวดขนาดเล็กอย่างมาก
ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า ค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบนี้อาจเป็นภาระทางการเงินอย่างหนัก แม้ทรัมป์จะพยายามขอเงินทุน 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่กำลังพิจารณาในรัฐสภา แต่สำนักงานงบประมาณรัฐสภากลับประมาณการว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างระบบดังกล่าวอาจสูงถึง 161,000-542,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.2-17 ล้านล้านบาท)
โครงการโดมทองของทรัมป์ถือเป็นโอกาสในการสานต่อวิสัยทัศน์ของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งในช่วงทศวรรษ 1980 เรแกนได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธที่เรียกว่า ‘Strategic Defense Initiative’ (SDI) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า ‘Star Wars’ เพื่อป้องกันการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ แต่สุดท้ายแล้วโครงการนี้ก็ล้มเหลวเนื่องจากความท้าทายด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ
ทรัมป์เชื่อว่าโครงการโดมทองจะไม่ประสบชะตากรรมเดียวกับ SDI เพราะในยุคนี้มีเทคโนโลยีที่พร้อมมากขึ้น และเขาตั้งใจให้ระบบนี้เป็น ‘ระดับสูงสุด’ ของการป้องกันภัยทางอากาศ
(Photo by Jim WATSON / AFP)