ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เผยว่าจะขาย “บัตรทอง” (gold card) ให้ชาวต่างชาติกระเป๋าหนักแลกกับสิทธิในการอยู่อาศัยและทำงานในสหรัฐฯ รวมทั้งการได้สิทธิ์ในฐานะพลเมืองในราคา 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 168.9 ล้านบาท
“เรากำลังจะขายบัตรทอง คุณมีกรีนการ์ด นี่คือบัตรทอง เราจะตั้งราคาบัตรทองไว้ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั่นจะทำให้คุณได้สิทธิพิเศษจากกรีนการ์ด แถมยังเป็นเส้นทางไปสู่การเป็นพลเมืองด้วย และคนรวยจะเข้ามาในประเทศของเราด้วยการซื้อการ์ดใบนี้”
ทรัมป์เผยจากห้องทำงานรูปไข่
ทรัมป์เผยว่า การขายการ์ดดังกล่าวจะเริ่มราว 2 สัปดาห์นับจากนี้และว่าการ์ดนี้จะขายได้เป็นล้านๆ ใบ
เมื่อถูกถามว่าสหรัฐฯ จะขายการ์ดนี้ให้บรรดามหาเศรษฐีรัสเซียด้วยหรือไม่ ทรัมป์ตอบว่า “ใช่ อาจจะ ผมรู้จักมหาเศรษฐีรัสเซียบางคนที่เป็นคนดีมาก”
ฮาเวิร์ด ลัทนิค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ยืนข้างทรัมป์เผยว่า บัตรทองใบนี้จะมาแทนที่โครงการวีซ่า EB-5 (วีซ่านักลงทุน) ของรัฐบาล ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในโครงการของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถสร้างงานแล้วขอวีซ่าเพื่อย้ายถิ่นฐานมายังสหรัฐฯ ได้
“แน่นอนว่าพวกเขาต้องผ่านการตรวจคัดเลือก เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นพลเมืองระดับโลกที่ยอดเยี่ยม” ลัทนิคเผย
เว็บไซต์ United States Citizenship and Immigration Services website ระบุว่า โครงการวีซ่า EB-5 กำเนิดขึ้นมาโดยสภาคองเกรสเมื่อปี 1992 จะออกกรีนการ์ดให้ผู้อพยพที่ลงทุนในสหรัฐฯ อย่างน้อย 1,050,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐในเขตที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าพื้นที่การจ้างงานเป้าหมาย เพื่อสร้างงานให้คนอเมริกัน
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัมป์และครอบครัวก็ใช้ประโยชน์จากโครงการวีซ่านักลงทุนนี้เช่นกันเพื่อเป็นช่องทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่
โครงการนี้ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสภาคองเกรสในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1.0 โดยสมาชิกสภาคองเกรสหลายคนเตือนว่าโครงการนี้เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายเดิมและเรียกร้องให้ปฏิรูปโครงการ
รัฐบาลทรัมป์เมื่อปี 2019 เพิ่มเงินลงทุนขั้นต่ำในพื้นที่เศรษฐกิจเป้าหมายเป็น 900,000 ดอลลาร์สหรัฐ และ 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในพื้นที่อื่น แต่ศาลรัฐบาลั่งยกเลิกเมื่อปี 2021 หลังพบว่ารักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงภายในที่ลงนามข้อบังคับใหม่นี้ไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเหมาะสม
โครงการนี้ถูกต่ออายุครั้งล่าสุดเมื่อปี 2022 ในสมัยรัฐบาลไบเดน โดยเงินลงทุนขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลขที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
Photo by WIN MCNAMEE / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP