หลังการล่มสลายของ บาชาร์ อัล-อัสซาด เกิดคำถามตามมามากมายเกี่ยวกับอนาคตของซีเรียที่ต้องอยู่กับสงครามกลางเมืองมาเกือบ 14 ปี แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจน นั่นก็คือ ตุรกีกลายเป็นผู้ชนะ โดยมีอิทธิพลเหนือกลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม (HTS) ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏที่ได้รับชัยชนะในซีเรีย ขณะที่รัสเซียและอิหร่านอาจสูญเสียมากที่สุด (รัสเซียคือพันธมิตรที่สำคัญของรัฐบาลอัล-อัสซาด ส่วนอิหร่านให้การสนับสนุนด้วยกองกำลังกึ่งทหาร)
ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ของตุรกี ร่วมงานและสนับสนุนกลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชามมายาวนาน แม้จะหมายหัวว่ากลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2018 ก็ตาม หลังเกิดการลุกฮือประท้วงในซีเรียเมื่อปี 2011 รัฐบาลตุรกีก็สนับสนุนกลุ่มที่ต่อต้านอัล-อัสซาดมาตลอด รวมทั้งให้การช่วยเหลือทางการเงินการการทหารแก่กลุ่มกบฏ ไปจนถึงไฟเขียวให้กลุ่มกบฏใช้ดินแดนของตุรกีเพื่อรวบรวมกำลังพลและเปิดการโจมตี
ตุรกียังให้ความช่วยเหลือทางอ้อมกับกลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม การที่ตุรกีนำกองกำลังเข้าไปประจำการในจังหวัดอิดลิบทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย ช่วยปกป้องไม่ให้กองกำลังของรัฐบาลซีเรียโจมตีกลุ่มกบฏ ส่งผลให้กลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชามบริหารพื้นที่อิดลิบได้โดยสะดวกมาหลายปี
นอกจากนี้ ตุรกียังจัดการให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติเข้าไปถึงพื้นที่ที่กลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชามครอบครองอยู่ ซึ่งช่วยเพิ่มความชอบธรรมของกลุ่มในหมู่คนท้องถิ่น และการค้าตามแนวชายแดนตุรกียังช่วยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจให้กับกลุ่มกบฏด้วย
อันเดร แบงก์ ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคจาก GIGA Institute of Middle East Studies เชื่อว่า เป็นไปได้ที่จะสันนิษฐานว่าตุรกีให้การสนับสนุนทางทหารทางอ้อมแก่กลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม “HTS เพิ่งได้รับอาวุธใหม่ ปัจจุบันกลุ่มนี้ใช้โดรนและระบบขีปนาวุธ ซึ่งสันนิษฐานได้ว่ามาจากตุรกี”
แต่ ไซมอน เมบอน ศาสตราจารย์ด้านการเมืองนานาชาติของมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ในสหราชอาณาจักรกลับมองว่า “มันค่อนข้างคลุมเครือ เราไม่แน่ใจว่าตุรกีสนับสนุนการโจมตีนี้ (การโค่นอัล-อัสซาด) ในระดับใด”
แต่ความช่วยเหลือทั้งทางตรงทางอ้อมเหล่านี้เปิดช่องให้ตุรกีเพาะสร้างอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองเหนือกลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม และในทางอ้อมก็ทำให้อิทธิพลของรัสเซียซึ่งหนุนหลังประธานาธิบดีซีเรียเช่นเดียวกับอิหร่านอ่อนแอลงไปด้วย
โกนุล ตอล ประธานสถาบันตะวันออกกลางแผนกตุรกีเขียนไว้ในนิตยสาร Foreign Affairs ว่า “ในกลุ่มผู้เล่นหลักในภูมิภาคทั้งหมด ตุรกีมีช่องทางการสื่อสารที่แข็งแกร่งที่สุด และมีประวัติศาสตร์ในการทำงานร่วมกับกลุ่มกบฏซึ่งปัจจุบันเข้าควบคุมดามัสกัสอยู่ ทำให้ตุรกีได้ประโยชน์จากการล่มสลายของรัฐบาลอัล-อัสซาด”
เบิร์ก เอเซน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซาบันซีในอิสตันบุลเผยว่า “ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการรุกครั้งล่าสุด ตุรกีจะใช้สิ่งนี้ในรัฐบาลใหม่ของซีเรียเพื่อขยับขยายขอบเขตอิทธิพล”
และตุรกีก็เดินเกมเร็ว ภายในไม่กี่วันหลังกลุ่มกบฏยึดดามัสกัส ตุรกีก็วางแผนที่จะเปิดสถานทูตซึ่งปิดมาเกือบ 13 ปีอีกครั้ง และเมื่อวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) ก็แต่งตั้งอุปทูตชั่วคราวไปประจำที่กรุงดามัสกัส ซึ่งการแต่งตั้งอุปทูตชั่วคราวแทนที่จะเป็นเอกอัครราชทูต เป็นหนทางหนึ่งสำหรับตุรกีในการเปิดช่องทางการทูตโดยไม่ก่อให้เกิดข้อกังขาว่าตุรกียอมรับกลุ่มกบฏฮายัต ตาห์รีร์ อัลชาม หรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้ว่ายุคหลังรัฐบาลอัล-อัสซาดจะหยิบยื่นโอกาสให้ตุรกี แต่ก็มีความเสี่ยงที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ว่ากลุ่มกบฏที่โค่นล้มเผด็จการอาจส่งเสริมความไม่มั่นคงและลัทธิหัวรุนแรง การเปลี่ยนผ่านอำนาจในลักษณะนี้มักจะไม่ราบรื่น ซึ่งมีตัวอย่างจากลิเบีย 13 ปีหลังการลุกฮือในลิเบียที่นำมาสู่การโค่นอำนาจ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ลิเบียยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความโกลาหล (อ่านเพิ่มเติม ซีเรียอาจซ้ำรอยลิเบีย โค่น ‘กัดดาฟี’ ได้แต่ยังไร้เสถียรภาพเหมือนเดิม)
อีกเคสหนึ่งคือ อิรัก หลังการขับไล่ ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003 ผู้นำใหม่ของอิรักยังไม่สามารถสร้างประชาธิปไตย และอิรักยังคงจมอยู่กับความรุนแรงที่โหดร้าย

ส่วนซีเรียในวันนี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายในระดับที่ใกล้เคียงกัน หรืออาจยิ่งใหญ่กว่านั้น หลังต้องทนทุกข์ทรมานจากสงครามกลางเมืองมานานกว่าทศวรรษ ก่อให้เกิดการทำลายล้างอย่างกว้างขวาง สร้างความแตกแยกทางสังคมและการเมืองอย่างหนัก
ยังไม่แน่ชัดว่ากลุ่มกบฏที่เข้ามาแทนที่อัล-อัสซาดจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ และขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ หากรัฐบาลใหม่สามารถเดินหน้าไปสู่การฟื้นฟูซีเรียครั้งใหญ่ได้ ตุรกีจะมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอน การหนุนกลุ่มกบฏที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล การมีชายแดนติดกับซีเรียยาวเหยียดกว่า 900 กิโลเมตร และการมีกองกำลังทหารในซีเรีย ทำให้ตุรกีมีอิทธิพลอย่างมากในซีเรีย แต่ถึงอย่างนั้นตุรกีก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าผู้นำใหม่ของซีเรียจะปกครองอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) จะฟื้นคืนชีพกลับมาด้วย กลุ่มกบฏเคิร์ดในซีเรียที่ยึดครองเรือนจำและศูนย์กักกันที่คุมขังนักรบกลุ่มรัฐอิสลามหลายหมื่นคนก็ต้องคำนึงถึงอนาคตของตัวเองเช่นกัน กลุ่มรัฐอิสลามอาจฉวยโอกาสที่ยังเกิดความวุ่นวายนี้กลับมารวมกลุ่มกันใหม่ ซึ่งตุรกีจะตกอยู่ในความเสี่ยงทันที เพราะเป็นฐานของกลุ่มรัฐอิสลามที่ยังเคลื่อนไหวกันอยู่ เฉพาะปีนี้ปีเดียวทางการตุรกีรวบตัวสมาชิกต้องสงสัยของกลุ่มรัฐอิสลามได้มากกว่า 3,000 คนในปฏิบัติการที่มุ่งเป้าไปที่เครือข่ายเหล่านี้
Photo by AHMAD AL-RUBAYE / POOL / AFP