เหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ฝันร้ายหลอนชาวอเมริกันตั้งแต่ต้นปี

27 ม.ค. 2566 - 04:09

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ผลักดันมาตรการควบคุมอาวุธปืนอีกครั้ง รวมถึงปัดฝุ่นกฎหมายที่เคยผลักดันสมัยเป็นวุฒิสมาชิก

  • Gun Violence Archive ระบุว่า เดือนนี้ถือเป็นเดือนมกราคมเลือดที่เกิดเหตุกราดยิงมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีอื่นๆ

  • ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ จำนวน 1,214 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 120 ราย

two-mass-shootings-california-reignite-us-gun-control-debate-SPACEBAR-Thumbnail
เหตุกราดยิงในสหรัฐฯ กลับมาเป็นประเด็นให้พูดถึงอีกครั้ง ตั้งแต่เดือนแรกของปี 2023 หลังเกิดเหตุกราดยิงช่วงฉลองตรุษจีนภายในห้องเต้นรำของเมืองมอนเทอรีย์พาร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผู้ก่อเหตุที่เป็นชายสูงวัย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 10 คน และในเวลาต่อมาผู้ก่อเหตุสังหารหมู่ฆ่าตัวตายหนีความผิดช่วงที่ตำรวจพยายามเข้าจับกุมตัวเขา ทำให้ไม่ทราบว่าอะไรคือมูลเหตุจูงใจ 

เหยื่อทั้ง 11 รายในคดีกราดยิงครั้งนี้เป็นชาวประมงจากไต้หวัน 2 รายและอีกหลายรายเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่ 

ฮิลดา โซลิส สมาชิกของคณะกรรมการกำกับดูแลประจำเคาน์ตีลอสแองเจลิส กล่าวว่า คดีนี้เป็นเหตุกราดยิงครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในเคาน์ตีแห่งนี้ 

เมืองมอนเทอรีย์พาร์กมีประชากรประมาณ 60,000 คน ตั้งอยู่ห่างจากนครลอสแองเจลิสราว 10 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายจีนอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้กับบริเวณที่จัดกิจกรรมฉลองเทศกาลตรุษจีนของเมือง เป็นถิ่นอาศัยของชุมชนชาวเอเชียขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและช่วงเกิดเหตุมีผู้มาร่วมงานฉลองตรุษจีนกว่า 10,000 คน 

ผู้ก่อเหตุกราดยิงในเมืองมอนเทอรีย์พาร์กชื่อ ฮู แคน แทรน เป็นชายวัย 72 ปี และขณะนี้ยังไม่พบว่ามีผู้ร่วมก่อเหตุแต่อย่างใด 

หลังเกิดเหตุกราดยิงในเมืองมอนเทอรีย์พาร์กได้ไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุกราดยิงอีกครั้ง โดยครั้งนี้เกิดขึ้นที่เมืองฮาล์ฟมูนเบย์ ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดทะเล และผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นคนงานภาคการเกษตรที่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียรวม 7 คน 

ผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้ชื่อ จ้าวชุนหลี วัย 67 ปี ซึ่งถูกจับกุมหลังจากเขาขับรถไปที่สถานีตำรวจด้วยตนเอง ซึ่งเหตุกราดยิงทั้งสองเหตุการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกันตรงที่ ผู้ก่อเหตุเป็นคนเชื้อสายเอเชียและสูงอายุทั้งคู่ 

แม้ตำรวจยังไม่ทราบมูลเหตุจูงใจของการก่อเหตุ แต่เหตุกราดยิงในสหรัฐฯ ก็เป็นเหมือนฝันร้ายที่ตามมาหลอกหลอนชาวอเมริกันตั้งแต่เดือนแรกของปี โดยเว็บไซต์ GunViolenceArchive.org ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เกิดเหตุยิงกราดในสหรัฐฯ 2 ครั้งในทุกๆ วัน ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้อื่นเสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากกว่า 4 คน 

แต่ถ้านับความรุนแรงจากปืนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการกราดยิง และยกเว้นการฆ่าตัวตาย ข้อมูลจาก GunViolenceArchive ระบุว่า ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ จำนวน  1,214 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กประมาณ 120 ราย 

GunViolenceArchive  ระบุด้วยว่า เดือนนี้ถือเป็นเดือนมกราคมเลือดที่เกิดเหตุกราดยิงมากที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมของปีอื่นๆ โดยเดือนมกราคมปี 2020 เกิดเหตุกราดยิง 25 ครั้ง เดือนมกราคมปี 2021 เกิด 32 ครั้ง และเดือนมกราคมปีที่แล้วเกิด 34 ครั้ง 

ปี 2022 ตัวเลขการเสียชีวิตจากความรุนแรงจากอาวุธปืนในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 20,200 ราย เกิดเหตุกราดยิงทั้งสิ้น 647 ครั้ง ลดลงมาจากปีก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่ 690 ครั้ง และคาดว่าในปี 2023 ตัวเลขพวกนี้อาจสูงขึ้นอีก 
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5iSWhcw4UoqDhXeiwlP82V/4fa098c1179cdce9b5da178d98528c63/Info-___________________
เหตุกราดยิงทั้งสองเหตุการณ์ล่าสุด ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ผลักดันมาตรการควบคุมอาวุธปืนอีกครั้ง รวมถึงการปัดฝุ่นกฎหมายที่เขาเคยผลักดันสมัยเป็นวุฒิสมาชิกเมื่อปี 1994 แต่มีความเป็นไปได้มากว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในขณะนี้ 

ในวันอังคาร (24 ม.ค.) หลังรับทราบเหตุความรุนแรงล่าสุดต่อชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่แคลิฟอร์เนีย และแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันนี้ ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า “มีหลายอย่างที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดัน รวมทั้งการห้ามการขายอาวุธปืนร้ายแรง ที่มีบทลงโทษรุนแรงขึ้น” 

เมื่อวันจันทร์ (23 ม.ค.) ไดแอนน์ ไฟน์สไตน์ วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนียจากพรรคเดโมแครต และริชาร์ด บลูเมนธาล วุฒิสมาชิกรัฐคอนเนตทิคัต และวุฒิสมาชิกคริส เมอร์ฟีย์ ได้รื้อฟื้นกฎหมายที่ห้ามการขายอาวุธปืนร้ายแรง รวมทั้งกฎหมายที่เพิ่มอายุขั้นต่ำในการซื้ออาวุธให้เป็น 21 ปี หลังจากที่มาตรการดังกล่าวหมดอายุไปเมื่อปี 2004 

มาตรการดังกล่าวที่ถูกฝั่งรีพับลิกันและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิปืนคัดค้าน ระบุให้ห้ามจำหน่ายอาวุธปืน 19 ชนิดที่ใช้ในกองทัพและบรรจุกระสุนได้มากกว่า 10 นัด 

ส.ส.พรรคเดโมแครต เดวิด ซิซิลลีน จะเสนอร่างกฎหมายคู่ขนานไปด้วยในสภาล่าง และทั้งสองสภาจะต้องผ่านร่างกฎหมายเพื่อให้ไปถึงมือของประธานาธิบดีไบเดนในการลงนามเป็นกฎหมายต่อไป แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับการสนับสนุนในช่วงที่พรรครีพับลิกันกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีไบเดน ได้ลงนามกฎหมายความปลอดภัยปืน ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยมีในรอบ 30ปี  โดยเนื้อหาของกฎหมายนี้ระบุว่า ผู้ที่จะต้องการซื้อและเป็นเจ้าของอาวุธปืน ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบประวัติ ที่รวมถึงการขอดูข้อมูลการก่ออาชญากรรมสำคัญๆ ของเด็กและเยาวชน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และกฎหมายใหม่นี้ยังห้ามไม่ให้จำหน่ายปืนแก่ผู้ที่เคยทำความผิดในข้อหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวด้วย 

นอกจากนี้ ยังให้งบประมาณก้อนใหม่แก่ทุกรัฐเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย “ธงแดง” ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยึดอาวุธปืนจากผู้ที่อาจทำการอันเป็นอันตรายแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น 

ขณะที่ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) ระบุว่า 32% ของผู้อพยพเชื้อสายเอเชีย และ 23% ของผู้อพยพเชื้อสายลาตินรู้สึกกังวลอย่างมากว่าจะตกเป็นเหยื่อของเหตุรุนแรงจากปืน ซึ่งเป็นระดับความกังวลมากกว่าคนที่เกิดในสหรัฐฯ ถึง 3 เท่า 

ส่วนผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นเจ้าของปืนกันมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19 ในจำนวนนี้ มีถึง 1 ใน 3 ที่บอกว่า พกปืนบ่อยขึ้นหลังเกิดเหตุทำร้ายคนเอเชีย และมีปืนบรรจุกระสุนหรือปืนที่ปลดระบบเซฟตี้เก็บไว้ที่บ้าน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์