ชะตากรรม ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ในวันที่โลกไม่ลดความร้อนแรง

29 ธ.ค. 2565 - 03:16

  • ผลการศึกษาวิจัยระบุว่า แผ่นน้ำแข็งที่หายไป ส่งผลกระทบต่อนกทะเลหลายสายพันธุ์ เช่น เพนกวินจักรพรรดิและเพนกวินอาเดลี

  • มีการตั้งสมมติฐานที่แย่ที่สุดว่า เพนกวินชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2100

  • ผลวิจัยอีกชิ้นช่วงต้นปีนี้ระบุว่าการที่มนุษย์เข้ามาในทวีปแอนตาร์กติกเป็นสาเหตุทำให้หิมะละลายเร็วขึ้น

  • ออสเตรเลียเร่งค้นหาต้นตอการหายไปของ‘ด้วงคริสต์มาส’

two-thirds-of-antarctica-native-species-under-threat-of-extinction-global-heating-SPACEBAR-Thumbnail
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานผลวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารพลอส ไบโอโลจี ระบุว่า สายพันธุ์สิ่งมีชีวิตท้องถิ่นของแอนตาร์กติกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพนกวินจักรพรรดิ อาจหมดไปภายในสิ้นศตวรรษ 2100 หากโลกยังดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ และไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเป้า 
 
‘จัสมิน ลี’ หัวหน้าทีมงานวิจัยและเป็นผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า ทวีปแอนตาร์กติกาไม่ได้ทำให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีประชาชนอาศัยอยู่มากนัก เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อทวีปนี้จึงมาจากทวีปอื่น   

“เราอยากให้โลกจัดการกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และเพิ่มความพยายามในการอนุรักษ์ภูมิภาคและท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อมอบโอกาสที่ดีที่สุดแก่สิ่งมีชีวิตในทวีปให้ดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต” ลี กล่าว 
 
นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ ยังระบุว่า แผ่นน้ำแข็งที่หายไป ส่งผลกระทบต่อนกทะเลหลายสายพันธุ์ เช่น เพนกวินจักรพรรดิและเพนกวินอาเดลี ที่ต้องพึ่งพาน้ำแข็งในเดือนเม.ย.-ธ.ค. เพื่อสร้างรังสำหรับลูกของพวกมัน หากน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วหรือเกิดน้ำแข็งช้าในฤดูถัดไปเนื่องจากอุณหูมิสูงขึ้น เพนกวินอาจสืบพันธุ์ได้ยากมากขึ้น 
 
ผลวิจัยบ่งชี้ว่า เพนกวินจักรพรรดิเป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนไหวที่สุดในทวีปแอนตาร์กติกา โดยมีการตั้งสมมติฐานที่แย่ที่สุดว่า เพนกวินชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ภายในปี 2100 

ขณะที่ผลวิจัยอีกชิ้นช่วงต้นปีนี้ระบุว่า การที่มนุษย์เข้ามาในทวีปนี้เป็นสาเหตุทำให้หิมะละลายเร็วขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์พบคาร์บอนสีดำ มลพิษฝุ่น มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในพื้นที่ที่มนุษย์ปักหลักอาศัยอยู่ แม้ก่อให้เกิดมลพิษไม่มาก แต่อาจส่งผลให้ต่อการละลายของน้ำแข็งได้ 

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเผยให้เห็นถึงมาตรการปกป้องชีวิตเพนกวินหลายด้านที่คุ้มค่า ซึ่งอาจมีต้นทุนประมาณ 1,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 83 ปีข้างหน้า หรือตกปีละประมาณ 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งเป็นแค่เศษเสี้ยวของเศรษฐกิจโลก 

มาตรการที่ว่า รวมการจัดการและลดกิจกรรมของมนุษย์ให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การขนส่งและสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการควบคุมสิ่งมีชีวิตนอกถิ่นและโรคต่างๆ ในภูมิภาค รวมถึงเน้นนโยบายต่างประเทศ อย่างข้อตกลงปารีส ที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1K4M3pi0eEhuH5SL65FAmw/1e7aa339df2e3a90404fe0e6f6ce22d1/info_two-thirds-of-antarctica-native-species-under-threat-of-extinction-global-heating__1_
ที่ผ่านมา สถาบัน Woods Hole Oceanographic Institution ในแมสซาชูเซตส์ เผยแพร่รายงานว่า น้ำแข็งทะเลบางส่วนของคาบสมุทรแอนตาร์กติกละลายไปมากกว่า 60% ภายใน 30 ปีที่ผ่านมา เพนกวินจักรพรรดิจึงถูกคุกคามหนักขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาขาดแคลนบ้าน และการบีบคั้นให้พวกมันต้องลงน้ำเอาตัวรอด ขณะที่้ในน้ำเต็มไปด้วยศัตรูตัวฉกาจอย่างแมวน้ำเสือและวาฬเพชฌฆาต 
 
ส่วนองค์กร US Fish and Wildlife Service ก็ได้จัดหมวดหมู่ใหม่ โดยระบุว่า เพนกวินจักรพรรดิจะได้รับการคุ้มครองใหม่ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ESA (Environmental Site Assessment) 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นตอนนี้ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของด้วงคริสต์มาสในออสเตรเลียด้วยเหมือนกัน เพราะปีนี้ออสเตรเลียกำลังเผชิญภาวะ ‘ด้วงคริสต์มาส’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาส หายไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4eMQZEFV1bwSqf4YIhp7xS/2844ab4af77fcbc16a074e5708e4ab7c/two-thirds-of-antarctica-native-species-under-threat-of-extinction-global-heating-SPACEBAR-Photo02
‘ด้วงคริสต์มาส’ แมลงสีสันสดใสที่แสนจะเงอะงะ ชอบซ่อนตัวในผ้าปุูที่นอน บินชนหน้าต่างและตอมแสงไฟตามถนนในช่วงฤดูร้อน ด้วงชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่กัดหรือต่อยคน สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสมัยก่อน 
 
สายพันธุ์ด้วงส่วนใหญ่ในออสเตรเลียมีเอกลักษณ์ เหมือนกับตุ่นปาดเป็ดและโคอาลา แต่ในหลายประเทศไม่มีด้วงชนิดนี้แล้ว 
 
นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และการบุกรุกที่อยู่อาศัยของแมลง โดยหวังว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากโครงการนับด้วงคริสต์มาสที่จัดทำโดยดร.ทันยา แลตตี 
 
โครงการดังกล่าว ขอให้ชาวออสเตรเลียช่วยอัพโหลดภาพด้วงคริสต์มาสที่พวกเขาเห็นในช่วงเทศกาลนี้ ผ่านแอปพลิเคชันของโครงการ เพื่อตรวจสอบจำนวนด้วง และหาสาเหตุที่ทำให้แมลงชนิดนี้ลดลง 

“หากไม่ทราบจำนวนด้วง เราก็ไม่สามารถเริ่มแก้ปัญหาและอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ได้ เราไม่มีแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสำรวจ ดังนั้นโครงการนี้จะทำให้ประชาชนช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลความหวังจากทุกที่ในประเทศ” ดร.แลตตี กล่าว 
 
ดร.แลตตี ยังเตือนด้วยว่า ด้วงคริสต์มาสอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการลดลงของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ 
 
ทั้งนี้ ด้วงคริสต์มาส ซึ่งเป็นแมลงหรือสัตว์ตระกูลปีกแข็ง มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ตัวอ่อนด้วงจะช่วยเพิ่มอากาศในดิน และด้วงยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์อื่นๆ เช่น กิ้งก่าและนก 

เนื่องจากปัจจุบัน อัตราสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ชาวออสเตรเลียจึงขอให้ทุกคนให้ความสนใจสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตในท้องถิ่นมากขึ้นในช่วงสองสามปีมานี้  ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์ในออสเตรเลียจึงเปิดตัวแอปฯ FrogID เพื่อให้ประชาชนบันทึกเสียงกบทั่วประเทศ เนื่องจากประชากรกบลดลง และมีประชาชนให้ความร่วมมืออัพโหลดเสียงกบมากกว่า 500,000 เสียง 

ดร.แลตตีเตือนว่า ด้วงคริสต์มาสอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการลดลงของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ 

“นี่เป็นโอกาสที่ทุกคนสามารถช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้ ปกติเราไม่ค่อยมีโอกาสร่วมโครงการสำรวจครั้งใหญ่ ทุกคนใช้เวลาอัพโหลดรูปภาพเพียง 1 นาที ก็สามารถสร้างประโยชน์ให้การสำรวจได้อย่างมหาศาล ” ดร.แลตตีกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์