พายุไต้ฝุ่นแคมี (Typhoon Gaemi) ซึ่งพัดถล่มฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีนตอนใต้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาคร่าชีวิตผู้คนหลายสิบชีวิต ได้ส่งสัญญาณถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นจะเร่งการก่อตัวของพายุรุนแรง และเปลี่ยนเส้นทางพัดไปทางตอนเหนือ
ขณะที่โลกร้อนขึ้น ก็มีการคาดการณ์ว่าพายุไต้ฝุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เคลื่อนตัวไปทางเหนือ เช่น จีนและคาบสมุทรเกาหลี และเคลื่อนตัวช้าลงตอนพัดขึ้นบก ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งที่มีประชากรหนาแน่นและพื้นที่อื่นๆ
การศึกษาแบบจำลองพายุไต้ฝุ่นที่ดำเนินการโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) และสถาบัน 2 แห่งในสหรัฐฯ พบว่า เมืองชายฝั่งทะเล เช่น กรุงเทพฯ ย่างกุ้ง และไฮฟองในเวียดนาม น่าจะมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนที่พัดยาวนานและมีกำลังแรงกว่า
“เมื่อน้ำของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้น พายุหมุนเขตร้อนก็จะเริ่มเกิดขึ้นในภูมิภาคที่ก่อนหน้านี้ไม่มีพายุหมุนเขตร้อนมากนัก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือทะเลจีนใต้จะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นพายุหมุนเขตร้อนจะเริ่มพัดเข้ามาทางเหนือตามแนวชายฝั่งจีนและเกาหลีใต้บ่อยขึ้น”
ศาสตราจารย์เบนจามิน ฮอร์ตัน ผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์โลกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (EOS) และผู้เขียนงานวิจัยร่วมครั้งนี้ กล่าว
จากแบบจำลองของนักวิจัยพบว่าในสถานการณ์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับกลางและระดับสูงนั้นจะทำให้พายุไต้ฝุ่นก่อตัวขึ้นเหนือทะเลจีนใต้และขึ้นฝั่งทางเหนือเพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน คาดว่าจะมีพายุไซโคลนจำนวนน้อยลงพัดเข้ามาทางน่านน้ำทางตะวันออกของฟิลิปปินส์
“ในปัจจุบัน พายุไต้ฝุ่นส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งรวมไปถึงน่านน้ำทางตะวันออกของฟิลิปปินส” ดร.ธรุวาจโยติ สมันธา นักวิจัยอาวุโสของ EOS และผู้เขียนวิจัยร่วมอีกคนหนึ่ง กล่าว
แล้วพายุไต้ฝุ่นในฟิลิปปินส์ในอนาคตอาจน้อยลงหรือไม่ ดร.สมันธากล่าวว่า “พายุไต้ฝุ่นอาจลดลงเมื่อเทียบกับปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าฟิลิปปินส์จะปลอดภัยจากพายุไซโคลน เนื่องจากพายุไซโคลนที่มีความรุนแรงมากขึ้นแต่มีจำนวนน้อยลงอาจสร้างความเสียหายได้ พายุไซโคลนที่พัดมาจากบริเวณใกล้เคียงหรือในทะเลจีนใต้ก็สามารถพัดถล่มฟิลิปปินส์ได้เช่นกัน”
ฟิลิปปินส์มักถูกมองว่าเป็น ‘ศูนย์กลางพายุไซโคลน’ เพราะมีพายุและไต้ฝุ่นประมาณ 20 ลูกพัดเข้าหมู่เกาะทุกปี เช่น พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนในปี 2013 และพายุไต้ฝุ่นรายในปี 2021 ทั้ง 2 ลูกนี้ถือเป็นพายุที่สร้างความเสียหายอย่างมาก
นักวิจัยคาดการณ์ว่าในอนาคตพายุลูกอื่นๆ อาจเคลื่อนตัวในทิศทางเดียวกับพายุไต้ฝุ่นแคมี พายุระดับ 4 ที่เพิ่งพัดผ่านไต้หวัน พัดถล่มจีนตอนใต้ และยังพัดไปถึงเกาหลีเหนือด้วย
แม้ว่าพายุไต้ฝุ่นจะยังไม่พัดเข้าฝั่งฟิลิปปินส์ แต่กลับทำให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมในกรุงมะนิลาและจังหวัดทางตอนเหนือในช่วงวันที่ 24 กรกฎาคม
การคาดการณ์พายุไต้ฝุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร ‘Climate and Atmospheric Science’ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น นักวิจัยจึงกังวลว่าในอนาคตพายุไซโคลนจะรุนแรงเร็วขึ้นจากพายุโซนร้อนไปเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 4 หรือ 5
จากรายงานระบุว่า พายุหมุนเขตร้อนมีแนวโน้มที่จะก่อตัวและทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็วที่สุดในบริเวณใกล้ชายฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอัตราการทวีความรุนแรงอาจสูงเกินกว่าค่าปกติในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีการคาดการณ์การทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่พายุจะพัดขึ้นฝั่ง
ดร.สมันธาตั้งข้อสังเกตว่า “ในบางกรณี พายุอาจทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นรุนแรงได้ภายในวันเดียว เมืองชายฝั่งทะเลที่มีความเสี่ยงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศสุดขั้วของตัวเอง”
“...หากคุณทราบว่าจะเกิดพายุระดับ 1 คุณก็จะสามารถอนุมานได้ว่าจะมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ปริมาณน้ำฝน หรือน้ำท่วมมากน้อยเพียงใด และเตรียมการอย่างเหมาะสม แต่หากพายุทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นระดับ 3 4 หรือ 5 นักวางแผนของเมืองจะมีศักยภาพในการอพยพได้เร็วพอหรือไม่”
ศาสตราจารย์ฮอร์ตัน กล่าวเสริม
“ทั้งนี้ คาดว่า พายุไต้ฝุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเคลื่อนตัวช้าลงและใช้เวลานานกว่าจะสลายตัวลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานได้” ดร.สมันธา กล่าว
ในอนาคต นักวิจัยกำลังมองหาการผสมผสานผลการค้นพบของพวกเขากับการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สูงขึ้น เพื่อให้นักวางแผนชายฝั่งมีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่าจะปกป้องเมืองของพวกเขาจากความเสียหายอันเลวร้ายได้อย่างไร
Photo by Ted ALJIBE / AFP