วิกฤตหนัก ! สหประชาชาติ เตือน โลกเตรียมรับมือภาวะโลกรวนได้ ‘แย่มาก’

3 พฤศจิกายน 2566 - 08:26

UN-respond-the-world-is-very-badly-SPACEBAR-Hero.jpg
  • รายงานสหประชาชาติ ระบุ โลกเตรียมการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ไม่ดีพอ ในขั้นที่ ‘แย่มาก’

  • กองทุนเพื่อการปรับตัวสำหรับประเทศยากจนถูกปรับลดลง

การเตรียมรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศของโลกขณะนี้ อยู่ในขั้นที่เรียกว่า “แย่มาก” และได้กระทบกับชีวิตผู้คนหลายพันล้านคนบนโลก เป็นการเตือนในรายงานของสหประชาชาติ 

กองทุนระหว่างประเทศที่ใช้ในการปกป้องชุมชนจากคลื่นความร้อน น้ำท่วม และภัยแล้ง มีเพียงแค่ 5-10% ของสิ่งที่จำเป็นในทุกวันนี้ และที่จริงแล้วตกลงมาจากปีที่ผ่าน ๆ มา ขณะที่สภาพอากาศที่รุนแรงหนักขึ้น 

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Environment Programme (UNEP) รายงานว่าจากการประเมินจำเป็นที่จะต้องใช้เงินระหว่าง 215 ถึง 387 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 7.74 ถึง 13.932 ล้านล้านบาท ต่อปี ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เฉพาะในประเทศยากจนและอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ในทศวรรษนี้ แต่เงินกองทุนกลับลดลงไป 15% ไปอยู่ที่ประมาณ 21 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 756 พันล้านบาทในปี 2021  

ประเทศร่ำรวยได้เคยตกลงในการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ที่เมืองกลาสโกลว์ ประเทศสกอตแลนด์ในปี 2021 ว่าจะจัดสรรเงินให้ 40 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.44 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025 ซึ่งการจัดสรรเพื่อการปรับตัวนั้นจำเป็นต่อการปกป้องผู้คนจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ เป็นหัวข้อสำคัญอันดับแรกในการประชุม Cop28 เช่นเดียวกับเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งการประชุมจะเริ่มในวันที่ 30 พฤศจิกายน นี้ ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  

กองทุนเพื่อการปรับตัวคุ้มกว่าการสูญเสีย

ในรายงานกล่าวว่า การปรับตัวเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเงินอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ทุกๆ หนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 36,000 ล้านบาท ที่ลงทุนไปกับการป้องกันน้ำท่วมชายฝั่ง นำไปสู่การลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ถึง 14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 504,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นการป้องกันจะช่วยจำกัดเงินที่จะต้องจ่ายในอนาคตผ่านกองทุนใหม่ เพื่อความสูญเสียและความเสียหายโดยประเทศกำลังพัฒนากำลังต้องการและจะดำเนินการในการประชุม Cop28 ด้วย 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ทุกประเทศกำลังเตรียมการได้ไม่ดีพอในการรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ทำให้การปรับตัวเรียกได้ว่าเป็น “สิ่งที่ต้องเอาชีวิตรอด” ยกตัวอย่างในสหราชอาณาจักร มีแผนการปรับตัวล่าสุดโดยประกันการป้องกันชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ยังคงล้มเหลวและตอนนี้รัฐก็กำลังจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย 

“เรากำลังเตรียมการได้ไม่ดีพอ เราไม่มีแผนหรือการลงทุนที่เพียงพอและนั่นจะทำให้พวกเราตกอยู่ในความเสี่ยงกันหมด” กล่าวโดย อิงเกอร์ แอนเดอร์เซ็น กรรมการบริหาร UNEP “ในปี 2023 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ยิ่งทวีความร้ายแรงมากขึ้นไปอีก เราได้เห็นหลักฐานทั้งกับตาและผ่านทีวีหลายครั้งหลายหน” เธอย้ำถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในยุโรป และจีน อากาศร้อนสุดขีด และไฟป่าในสหรัฐฯและแคนาดา และภัยแล้งในแอฟริกาตะวันออก  

นอกจากนี้เธอยังกล่าวว่า การมีขึ้นของกองทุนเพื่อการปรับตัวเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก “นี่เป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมากสำหรับผู้คนที่ต้องเผชิญกับการต่อสู้กับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีการปกป้องอะไรเลย” เธอยังกล่าวถึงการจำกัดความสูญเสียและความเสียหาย ว่า “ยิ่งคุณทิ้งระยะเวลาในการปรับตัวนานเท่าไหร่ ความเจ็บปวดก็จะยิ่งทวีคูณมากยิ่งขึ้น” 

ภัยพิบัติ และวิกฤตสภาพอากาศเลวร้ายลงทุกวัน

เธอกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญอย่างยิ่งด้านการปรับตัวก็คือ ศาสตราจารย์ซาลีมุล ฮุค ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเคยพูดสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกเมื่อเดือนมิถุนายนว่า “ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคของความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุกปีนับตั้งแต่ตอนนี้ สิ่งต่างๆจะเลวร้ายลงในทุกที่ ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบและทุกประเทศไม่ได้เตรียมการไว้เพียงพอ” 

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า “ชีวิตและความเป็นอยู่กำลังพังพินาศและถูกทำลาย โดยเฉพาะผู้ที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจได้รับความทุกข์ทรมานมากที่สุด ขณะที่ความต้องการสูงขึ้น ปฏิบัติการกลับหยุดชะงัก โลกต้องลงมือปฏิบัติการปิดช่องว่างด้านการปรับตัวและสร้างความยุติธรรมจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ 

เขากล่าวว่า “ชาติที่มีอำนาจด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ร่วมสร้างความยุ่งเหยิงนี้ พวกเขาต้องสนับสนุนผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานจากผลกระทบ ดังนั้นผมเรียกร้องให้รัฐบาลเหล่านั้นเก็บภาษีลาภลอยจากผลกำไรที่ได้จากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล” 

ทอม อีวานส์ แห่ง E3G องค์กรอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การปรับตัวเป็นเรื่องของการเอาชีวิตรอดในขณะที่กำลังเผชิญกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ งานที่ซับซ้อนและยุ่งยากได้ถูกละเลยมาโดยตลอดในช่วงเวลาที่ผ่านมานานเกินไป แต่ภัยพิบัติด้านสภาพอากาศเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิมและรุนแรงมากกว่าที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ความสามารถของผู้คนหลายพันล้านคนที่จะจัดการกับความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมืองในการทำให้เรื่องนี้จริงจังมากขึ้น” 

รายงานของ UNEP สรุปว่า “ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศขณะนี้ถือว่าไม่เพียงพอชนิดที่เลวร้ายมากที่จะไปสู่เป้าหมายเรื่องอุณหภูมิและการปรับตัวตามข้อตกลงปารีส” 55 ประเทศที่มีความอ่อนแอด้านเศรษฐกิจและสภาพอากาศได้ประสบกับความทุกข์ทรมานจากความเสียหายมากกว่า 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา “มูลค่าเหล่านี้จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซ” 

แอนเดอร์เซ็น กล่าวว่า การป้องกันจำเป็นจะต้องรวมถึงการป้องกันชายฝั่งจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นกระทบผู้คนหลายล้านคน และการป้องกันน้ำท่วมเมืองจากพายุฝนตกหนักซึ่งกำลังรุนแรงมากขึ้น เมืองต่างๆจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ดีขึ้นจากคลื่นความร้อน และการทำการเกษตรจำเป็นที่จะต้องปรับตัวกับภัยแล้งที่หนักขึ้น 

การเพิ่มและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยกตัวอย่าง ทางเดินสีเขียวในเมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย ลดอุณหภูมิได้ 2 องศาเซลเซียส และป่าโกงกางช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ นอกจากนี้ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อเตือนผู้คนเมื่อเกิดสภาพอากาศรุนแรงก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสหประชาชาติมีเป้าหมายที่จะเข้าทุกคนบนโลกภายในปี 2028 

รายงานพบว่า ประเทศที่มีแผนการปรับตัวอย่างน้อยหนึ่งแผน มีมากกว่า 80% แต่แอนเดอร์เซ็น กล่าวว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การระดมเงินลงทุนในกองทุนสำหรับแผนเหล่านี้ ปฏิรูปที่ธนาคารโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ เพื่อจัดสรรกองทุนสำหรับสภาพภูมิอากาศมากขึ้น เป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างเช่นเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลและกลุ่มธุรกิจ 

ในรายงานยังกล่าวถึงมูลค่าความสูญเสียและเสียหายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายถึงแหล่งเงินทุนที่ต้องปรับปรุง จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์แหล่งเงินทุน เช่น เก็บภาษีจากการบิน และการขนส่ง และการปลดหนี้ 

การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักของภาวะฉุกเฉินจากสภาพภูมิอากาศ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กอร์ดอน บราวน์ เรียกร้องให้เก็บภาษีลาภลอยของโลกปีละ 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9 แสนล้านบาท จากกำไรของราคาลอยตัวน้ำมันและก๊าซ ซึ่งจ่ายโดยชาติผลิตน้ำมันที่รวยที่สุด เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และนอร์เวย์  

เขากล่าวว่า “พวกเขาสามารถที่จะจ่ายได้ง่ายๆ ความล้มเหลวจากการเก็บเศษเงินจากสิ่งที่พวกเขาได้มา ให้กับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าอับอายอย่างมากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์