เตือนโลกรับมือ 6 ภัยธรรมชาติผลพวง ‘เอลนีโญ-ลานีญา’

7 เม.ย. 2566 - 03:20

  • เอลนีโญ ทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ ลานีญา ทำให้อุณหภูมิเย็นกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งสองปรากฏการณ์ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลกอย่างมาก

  • เอลนีโญอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น เกิดคลื่นความร้อนรุนแรง และเกิดไฟป่าที่อันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้

  • ผลการวิจัยแบบจำลองล่าสุด บ่งชี้ว่าเอลนีโญเร่งให้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้น

unimaginable-heat-el-nino-la-nina-global-warming-surge-SPACEBAR-Thumbnail
สภาพอากาศทั่วโลกที่ร้อนขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายอย่างมาก แต่โลกไม่ได้มีแค่ร้อนปรอทแตกอย่างเดียว ยังมีจุดที่อุณหภูมิเย็นกว่าค่าเฉลี่ยด้วย นั่นคือปรากฏการณ์ ลานีญา 

ส่วนเอลนีโญทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ แต่ทั้งสองปรากฏการณ์ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศทั่วโลกอย่างมาก และการเปลี่ยนสภาพอากาศสู่เอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นตามไปด้วย 

แดเนียล สเวน นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย บอกว่า โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากปรากฏการณ์ลานีญาสู่เอลนีโญแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเอลนีโญจะรุนแรงมากมายเพียงใด บ้างก็คาดการณ์ว่าอาจรุนแรงจนถึงระดับสูงสุด หรืออาจมีความรุนแรงระดับปานกลาง แต่ที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้คือ โลกร้อนทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก 

คณะนักวิทยาศาสตร์จึงออกรายงานเตือนชาวโลกให้เตรียมรับมือ 6 สภาพอากาศรุนแรง เริ่มจาก 

1.อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

เอลนีโญ อาจทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงกลาง-ปลายยุค 1800 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ถือว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศา เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่สำคัญอาจทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก เกิดภัยแล้ง ไฟป่า และเกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง 

โจเซฟ ลูเดสเชอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันพอตสตัม เพื่อการวิจัยด้านสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นว่า ปี 2024 อาจเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์คือปี 2016 หลังเกิดเอลนีโญอย่างรุนแรง 

2.ฝนตกหนักในสหรัฐฯ 

แคลิฟอร์เนียเกิดฝนตกและหิมะถล่มเมื่อ 2-3 เดือนที่่แล้ว และอาจรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ 

เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า หลายรัฐในสหรัฐฯ อาจเกิดฝนตกหนักมากกว่าปกติ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม และชายฝั่งเกิดการกัดเซาะ 

แบรด ริปปีย์ นักอุตุนิยมวิทยาจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ บอกว่า ปรากฏการณ์นี้อาจช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในลุ่มแม่น้ำโคโลราโด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่ม การชลประทาน และพลังงานไฟฟ้าให้กับประชาชนทัั่วภาคตะวันตกเฉียงใต้ 40 ล้านคนของสหรัฐฯ ประสบปัญหาจากการใช้น้ำมากเกินไป และภัยแล้งที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง 

วิกฤตขาดแคลนน้ำ กลายเป็นเรื่องน่ากังวลจนรัฐบาลกลางต้องประกาศให้ลดการใช้น้ำอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงสองปีที่ผ่านมา 

3.อุณหภูมิสูง ภัยแล้ง ไฟป่าหวนกลับมาระลอกใหม่ 

เอลนีโญอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น เกิดคลื่นความร้อนรุนแรง และเกิดไฟป่าที่อันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินได้ 

แอฟริกาใต้และอินเดียเป็นประเทศที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและความร้อนรุนแรง เช่นเดียวกับประเทศที่อยู่ใกล้แปซิฟิกตะวันตก ทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เช่น วานูอาตู และฟิจิ 

เอลนีโญอาจทำให้ออสเตรเลียเจอภัยแล้งมากขึ้น อากาศร้อนขึ้น โดยเฉพาะทางตะวันออกของประเทศ 

คีเรน ฮันต์ นักวิทยาศาสตร์วิจัย จากมหาวิทยาลัยเรดดิงในอังกฤษ กล่าวว่า เอลนีโญทำให้อุณหภูมิในอินเดียสูงขึ้นด้วยเหมือนกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ อินเดียเคยเจอคลื่นความร้อนที่มาเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดอันตราย และคลื่นความร้อนจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนเริ่มตกล่าช้าในประเทศอังกฤษ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Hw0bGPR6HeVDyztlVOHCF/7df2d90ac06f2e4a8dd8f73eddd9787f/info-unimaginable-heat-el-nino-la-nina-global-warming-surge

4.พายุไซโคลนรุนแรงมากขึ้น 

เอลนีโญอาจทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกน้อยลง แต่สร้างผลกระทบที่ตรงกันข้ามในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากกระแสน้ำอุ่นเป็นตัวจุดชนวนที่ดีทำให้เกิดพายุไซโคลนที่รุนแรงได้ 

จอน กอตต์ชาลค์ หัวหน้าแผนกพยากรณ์สภาพอากาศ จากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติกล่าวว่า  

พายุหมุนเขตร้อนมักก่อตัวขึ้นทางตะวันตกไกลและยังคงมีกำลังแรงและนาน ดังนั้นฮาวายอาจได้รับผลกระทบและเกิดพายุไซโคลน 
 
ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก สเวน บอกว่า แบบจำลองบ่งชี้ว่า น้ำที่อุ่นมากๆ นอกชายฝั่งเปรูที่ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมมากกว่าปกติในแถบทะเลทราย สะท้อนถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่สำคัญ 

5.ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว 

เมื่อน้ำทะเลร้อนเกินไป ปะการังจะคายสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้สีและพลังงานส่วนใหญ่แก่ปะการัง จนทำให้ปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาว และเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘การฟอกขาว’ แม้ว่าปะการังจะฟื้นตัวหากอุณหภูมิเย็นลง แต่การฟอกขาวทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ปะการังอดอาหารและตาย 

ปีเตอร์ ฮุก อาจารย์จากมหาวิทยาลัยกัมมารีน ที่ศึกษาเกี่ยวกับปะการังในไมโครนีเซีย กล่าวว่า ไม่ว่าเอลนีโญเกิดขึ้นเมื่อใด ปรากฏการณ์นี้ยังถือเป็นโอกาสให้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับปะการัง ว่าจะตอบสนองและมีจุดที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างไร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3H0Yc404nZONWjOMp68B2K/fd77a7038e7296489288f4d24f511050/unimaginable-heat-el-nino-la-nina-global-warming-surge-SPACEBAR-Photo01
Photo: Johan ORDONEZ / AFP

6.น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้น 

ผลการวิจัยแบบจำลองล่าสุด บ่งชี้ว่าเอลนีโญช่วยเร่งให้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้น 

นักวิทยาศาสตร์จับตาดูความเปลี่ยนแปลงในทวีปแอนตาร์กติกาอย่างใกล้ชิด เพราะภูมิภาคนี้ มีน้ำจำนวนมากในรูปน้ำแข็ง แม้ว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกไม่อาจจะละลายจนหมด แต่น้ำที่ละลายก็เพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 70 เมตร 

เหวินจู ข่าย หัวหน้านักวิทยาศาสตร์วิจัยจาก CSIRO บอกว่าในระยะสั้น ปรากฏการณ์เอลนีโญจะก่อให้เกิดผลกระทบที่แตกต่างกันทั่วแอนตาร์กติกา แต่การเพิ่มขึ้นและลดลงของน้ำแข็งในพื้นที่ต่างๆเมื่อนำมารวมกันแล้วมีแนวโน้มที่บ่งชี้ชัดว่าน้ำแข็งในทะเลโดยรวมละลาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์