เพียงไม่กี่วันหลังจากสหรัฐฯ และจีนประกาศสงบศึกชั่วคราวเรื่องภาษีศุลกากร ความขัดแย้งใหม่ก็ส่อแววปะทุขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้เกี่ยวกับอนาคตของเซมิคอนดักเตอร์สุดล้ำที่จีนผลิตเอง
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนวิจารณ์สหรัฐฯ หลายครั้งที่เตือนบริษัทต่างๆ ไม่ให้ใช้ชิปที่ผลิตโดยบริษัท หัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับชาติของจีน และยังกล่าวหารัฐบาลทรัมป์ว่า “ทำลาย” ฉันทามติที่บรรลุในการเจรจาการค้าที่เจนีวาเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงจะลดภาษีศุลกากรต่อกันชั่วคราว และใช้ระยะเวลา 90 วันในการหารือข้อตกลงที่ครอบคลุมขึ้น
ความขัดแย้งเรื่องชิปของหัวเว่ยเผยให้เห็นว่า แม้ผู้แทนจากสหรัฐฯ และจีนจะมีคำพูดเชิงบวกจากการพูดคุยกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงมีข้อแตกต่างที่ชัดเจนในหลากหลายประเด็นที่อาจเชื่อมโยงกันได้ยาก
เมื่อวันพุธ (21 พ.ค.) กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้โจมตีสหรัฐฯ อย่างรุนแรงอีกครั้ง โดยกล่าวหาว่า “ละเมิดการควบคุมการส่งออกเพื่อกดขี่และควบคุมจีน” และกระทำในสิ่งที่เป็นการ “การกลั่นแกล้งและกีดกันทางการค้าแบบฝ่ายเดียว”
จีนตอบสนองต่อการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วของรัฐบาลทรัมป์ที่ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปในยุคของไบเดน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ชิปตกไปอยู่ในมือของศัตรูต่างชาติ
ต่อมากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ออกประกาศแนวทางเมื่อวันที่ 12 พ.ค. เตือนบริษัทต่างๆ ว่า “การใช้ชิป Huawei Ascend ไม่ว่าจะที่ใดในโลกอาจเป็นการฝ่าฝืนการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ” ทว่าต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้เปลี่ยนถ้อยคำ โดยลบคำว่า “ที่ใดในโลก” ออก
ชิป Ascend เป็นชิปเอไอโปรเซสเซอร์ที่ทรงพลังที่สุดของหัวเว่ยซึ่งใช้ในการฝึกโมเดลเอไอ และตั้งเป้าชิงความเป็นหนึ่งในการออกแบบชิประดับไฮเอนด์ของ Nvidia
ความพยายามของหัวเว่ยมีส่วนสำคัญต่อแผนสร้างศักยภาพของจีนเองเพื่อพัฒนาชิปล้ำสมัยเพื่อแข่งขันกับความเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง
ระหว่างการประชุมทางการเมืองระดับสูงเมื่อเดือนที่แล้ว สีจิ้นผิงเรียกร้องให้ “พึ่งพาตัวเอง” ในการพัฒนาเอไอในจีน โดยบอกว่าจีนจะใช้ประโยชน์จาก “ระบบระดับชาติใหม่ทั้งหมด” เพื่อจัดการกับปัญหาคอขวด เช่น ชิปขั้นสูง
ความโมโหของจีน
เมื่อวันจันทร์ (19 พ.ค.) จีนส่งสัญญาณว่าการเปลี่ยนถ้อยคำในแถลงการณ์กรณีของหัวเว่ยของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ไม่เพียงพอที่จะยุติความขัดแย้ง กระทรวงพาณิชย์จีนระบุในแถลงการณ์ว่า แม้ว่าจะ “ปรับเปลี่ยน” ถ้อยคำ “มาตรการที่เลือกปฏิบัติและลักษณะการบิดเบือนตลาด” ของคำแนะนำนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
“จีนมีส่วนร่วมในการเจรจาและการสื่อสารกับสหรัฐฯ ในหลายระดับผ่านกลไกการปรึกษาหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยชี้ให้เห็นว่าการกระทำของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อฉันทามติที่บรรลุระหว่างการเจรจาระดับสูงที่เจนีวาอย่างร้ายแรง” แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุพร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ “แก้ไขความผิดพลาด”
แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์จีนเมื่อวันพุธ (21 พ.ค.) เป็นการเตือนบรรดาธุรกิจทั่วโลกพร้อมขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับใครก็ตามที่มีส่วนช่วยในความพยายามของสหรัฐฯ “ในการแบนการใช้ชิปล้ำสมัยของจีน”
“องค์กรหรือบุคคลใดก็ตามที่ดำเนินการหรือให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการตามมาตรการของสหรัฐฯ เหล่านี้ อาจละเมิดกฎหมายตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรต่างประเทศของจีน และกฎหมายและระเบียบข้อบังคับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย” แถลงการณ์ฉบับล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุ “จีนจะจับตาการบังคับใช้มาตรการของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของตัวเอง”
ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศการเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (16 พ.ค.) สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เจมีสัน เกรียร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ และหลี่เฉิงกัง ทูตการค้าจีน พบกันนอกรอบระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เอเปกในเกาหลีใต้
ซีอีโอ Nvidia บ่นถูกควบคุม
ขณะที่ Huawei เร่งพัฒนาชิปประสิทธิภาพสูงของตัวเอง ยักษ์ใหญ่ด้านชิปของสหรัฐฯ อย่าง Nvidia ก็มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการสูญเสียการเข้าถึงตลาดจีน หลังรัฐบาลทรัมป์จำกัดการส่งออกชิป H20 ไปจีน

เจนเซ่น หวง ซีอีโอ Nvidia เผยในงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีของไต้หวันเมื่อวันพุธ (21 พ.ค.) ว่า ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้บริษัทสูญเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
หวงคาดการณ์ว่า ตลาดจีนอาจมีมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า “มันน่าเสียดายมากที่พลาดโอกาสนี้ โอกาสในการนำเงินภาษีเข้าสหรัฐฯ การสร้างงาน การรักษาอุตสาหกรรมไว้ ผมมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ควรอนุญาตให้เทคโนโลยีสหรัฐฯ เข้ามาให้บริการ เข้าร่วม และแข่งขันในตลาดจีน”
หวงยังใช้โอกาสนี้ในการวิจารณ์การจำกัดการส่งออกชิปของสหรัฐฯ ไปยังจีนว่า การควบคุมดังกล่าวทำให้บริษัท AI ของจีนมี “ความมุ่งมั่น ความกระตือรือร้น และการสนับสนุนจากรัฐบาล” ในการเร่งการพัฒนาของพวกเขาเอง
“ผมคิดว่าโดยภาพรวม การจำกัดการส่งออกถือเป็นความล้มเหลว”
— เจนเซ่น หวง ซีอีโอ Nvidia
อย่างไรก็ดี หวงชื่นชมการที่ทรัมป์ยกเลิกข้อจำกัดในยุคของไบเดนว่าเป็น “การพลิกกลับนโยบายที่ผิดพลาดครั้งใหญ่” ซึ่งทำให้ Nvidia ได้ดีลใหญ่จากตะวันออกกลาง
“สมมติฐานพื้นฐานในตอนแรกที่นำมาสู่การจำกัดการส่งออกชิปเอไอและโมเดลเอไอได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีข้อผิดพลาด...และข้อสันนิษฐานพื้นฐานนั้นก็คือ สหรัฐฯ เป็นผู้ให้บริการเอไอเพียงรายเดียว และสำหรับผมแล้ว มันยังไม่ชัดเจนเพียงพอ...หากสหรัฐฯ ต้องการเป็นผู้นำต่อไป และสหรัฐฯ ต้องการให้ทั้งโลกใช้เทคโนโลยีอเมริกัน เราจำเป็นต้องทำให้การใช้เอไอแพร่หลาย และนั่นคือจุดที่เราอยู่ในวันนี้”
สัปดาห์แล้ว Nvidia คว้าดีลใหญ่จากซาอุดีอาระเบียจากการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับสตาร์ตอัพ Humain เพื่อสร้าง “โรงงานเอไอ” ซึ่งมีกำลังถึง 500 เมกะวัตต์ในซาอุดีอาระเบียระหว่างที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เดินทางเยือนประเทศอ่าวอาหรับ โดย Nvidia จะขายหน่วยประมวลผลกราฟิกขั้นสูงจำนวนหลายแสนชิ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเริ่มต้นด้วยชิป Grace Blackwell GB300 จำนวน 18,000 ชิ้น
นักวิเคราะห์มองว่า ดีลดังกล่าวซึ่งมีบริษัท AMD และ Qualcomm รวมอยู่ด้วย มีความเป็นไปได้ เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์สามารถ “หลีกเลี่ยง” ข้อจำกัดสมัยไบเดนซึ่งถูกยกเลิกก่อนจะมีผลบังคับใช้ได้
Photo by I-HWA CHENG / AFP