บทวิเคราะห์: อาเซียนไม่อาจรับความเสี่ยงถ้าเจรจากับสหรัฐฯ แล้วต้องจ่ายภาษีสูงกว่าจีน

17 พ.ค. 2568 - 00:54

  • อาเซียนจะต้องระมัดระวังว่าหากเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แล้วยังถูกเก็บภาษีศุลกากรสูงกว่าจีน จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน

  • แต่ละประเทศในอาเซียนมียุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐฯ แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และการคำนึงถึงการเมืองภายในประเทศ

  • ในการเจรจากับทรัมป์ อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียว หรือผลประโยชน์ชาติมาก่อน?

นักวิเคราะห์มองว่า ข้อตกลงลดภาษีศุลกากรชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทำให้ความตึงเครียดของสงครามการค้าบรรเทาลง ทำให้เดิมพันของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พยายามเจรจาเพื่อให้สหรัฐฯ ยอมลดภาษีสูงขึ้น


ภายใต้ข้อตกลง 90 วันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาเซียนจะต้องเร่งสรุปการเจรจากับทรัมป์ ก่อนที่กำหนดเส้นตายวันที่ 8 กรกฎาคมจะมาถึง ซึ่งสหรัฐฯ อาจกลับมาเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในอัตราสูงกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกอีกครั้ง

 

ผู้สังเกตการณ์มองว่า อาเซียนซึ่งบางประเทศถูกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงที่สุด จะต้องระมัดระวังว่าหากเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แล้วยังถูกเก็บภาษีศุลกากรสูงกว่าจีน จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันและความน่าดึงดูดใจในการลงทุน ของประเทศตัวเอง

 

หลังจากเจรจากันที่เมืองเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ ตกลงลดภาษีสินค้าจีนเหลือ 30% จากเดิม 145%  โดย 30% นี้ประกอบด้วยอัตราภาษีพื้นฐาน 10% และอีก 20% เป็นการลงโทษที่จีนไม่จำกัดการเคมีที่ใช้ผลิตเฟนทานิลซึ่งเป็นสารโอปิออยด์ที่ทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตหลายหมื่นคน ส่วนจีนตกลงลดภาษีศุลกากรสินค้าสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10%

 

การเจรจาข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมมากขึ้นจะดำเนินต่อไปก่อนที่ข้อตกลงลดภาษีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 12 สิงหาคม


โจแอน หลิน นักวิชาการอาวุโสและผู้ประสานงานศูนย์ศึกษาอาเซียนของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยว่า หากท้ายที่สุดแล้วสหรัฐฯ เก็บภาษีสุลกากรจากจีนน้อยกว่าที่เก็บจากอาเซียนหลังจากวันที่ 12 สิงหาคม ความดึงดูดของอาเซียนในฐานะทางเลือกการลงทุนและการผลิตนอกเหนือจากจีนอาจ “หายไป”


“เรื่องนี้น่ากังวลอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งได้ประโยชน์จากการที่บริษัทจีนย้ายฐานการผลิตในช่วงที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนทวีขึ้น การเก็บภาษีศุลกากรจีนในอัตราต่ำอาจลดแรงดึงดูดใจในการย้ายโรงงาน และอาจทำให้การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสู่อาเซียนช้าลง”

โจแอน หลิน นักวิชาการอาวุโส


เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียน่าจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกว่า “Dirty 15” ที่ซื้อขายกับสหรัฐฯ มูลค่ามหาศาล แต่ตั้งกำแพงภาษีศุลกากรและมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษีต่อสินค้าจากสหรัฐฯ

 

ทั้ง 3 ประเทศยังอยู่ในกลุ่มรายชื่อ 20 ประเทศที่สำนักข่าว Bloomberg รายงานเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เป็นกลุ่มที่จะได้เจรจากับสหรัฐฯ เป็นกลุ่มแรกๆ โดยประเทศในอาเซียนจะได้เจรจาก่อน

 

เจมีสัน เกรียร์ ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ เผยกับ CNBC เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมว่า วอชิงตัน “กำลังเจรจาอย่างมีประสิทธิผลกับเวียดนามและประเทศอื่นๆ และพวกเขาเข้าใจว่าเรากำลังพยายามแก้ปัญหาเพื่ออะไร”


“ผลลัพธ์ของการเจรจาทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอาเซียนจะเป็นตัวตัดสินว่าอาเซียนสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้หรือไม่ หรืออาจเสี่ยงถูกละเลยจากวงการค้าโลกที่ถูกปรับใหม่”

โจแอน หลิน นักวิชาการอาวุโส

 

อินโดนีเซีย “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ไทย “นิ่ง” มาเลเซียยังไม่รับปาก

 

ความกลัวนี้อาจกลายเป็นเรื่องจริงสำหรับอินโดนีเซียซึ่งเศรษฐกิจเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และอยู่ระะหว่างเจรจาภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจสูงถึง 32%

 

อินโดนีเซียเสนอจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วยการซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์สหรัฐฯ เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และน้ำมันดิบ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า อินโดนีเซียยังออกกฏระเบียบใหม่ที่เปิดทางให้รัฐบาลจัดหาสินค้าที่มีส่วนประกอบที่ผลิตในท้องถิ่นน้อยลง เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรตามที่สหรัฐฯ ระบุไว้

 

ภีมะ ยุธิษฐิระ อาธิเนการะ ประธานศูนย์เศรษฐศาสตร์และกฎหมายศึกษาในอินโดนีเซียเผยว่า แม้ว่าข้อตกลงชั่วคราวระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ส่งออกวัตถุดิบของอินโดนีเซียไปจีนซึ่งบรรดาโรงงานต้องเร่งส่งสินค้าไปสหรัฐฯ แต่อาเซียนทั้งหมดอาจได้รับผลกระทบหากจีนถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีศุลกากรในอัตราต่ำกว่าประเทศในอาเซียน


Quote “จะมีการลงทุนจากจีนจำนวนมากไหลกลับไปจีนอีกครั้ง จะมีการย้ายโรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับไปจีนอีกครั้ง การลงทุนจากยุโรปและสหรัฐฯ จะไหลไปจีน ดังนั้นผมคิดว่านี่คือสัญญาณลบสำหรับแต่ละประเทศในอาเซียนที่ต้องการผลักดันการเจรจากับสหรัฐฯ”

ภีมะ ยุธิษฐิระ อาธิเนการะ ประธานศูนย์เศรษฐศาสตร์และกฎหมายศึกษา

 

ภีมะรู้สึกว่าอินโดนีเซียซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของอาเซียน ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการเจรจากับสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับจีน “ผมคิดว่าจีนมีความคืบหน้ามากเมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย ซึ่งเรายังไม่เห็นผลลัพธ์ของความคืบหน้าในการเจรจา หากอินโดนีเซียซื้อ LPG มากขึ้น หรือน้ำเข้าน้ำมันจากสหรัฐฯ มากขึ้น จะเป็นภาระหนักต่องบประมาณแผ่นดิน และงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เหลือหลังจากตัดรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดได้แล้ว”

 

ขณะที่การเจรจาระหว่างอินโดนีเซียกับสหรัฐฯ กำลังดำเนินไป แต่การเจรจาของไทยกลับชะงัก การพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ไทยและสหรัฐฯ ที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 23 เมษายนถูกยกเลิกหลังจากเจ้าหน้าที่ไทนในสหรัฐฯ แจ้งว่าต้องการทบทวนบางประเด็นที่จะนำมาเจรจา

 

ไทยเสนอนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม เช่น ข้าวโพด ก๊าซธรรมชาติ และอีเทน รวมทั้งการลดภาษีนำเข้าและขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อให้บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบสินค้าที่จะส่งไปยังสหรัฐฯ ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าปลอมจากประเทศที่สามที่พยายามเลี่ยงภาษีสูงๆ ในประเทศตัวเอง

 

สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันอังคาร (13 พฤษภาคม) ว่า ไทยส่งข้อเสนอการค้าไปยังสหรัฐฯ โดยอ้างอิงคำพูดของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่บอกว่า เจ้าหน้าที่ “กำลังรอเวลาที่เหมาะสม” เพื่อนัดเจรจากับสหรัฐฯ

 

แต่นักวิเคราะห์ชาวไทยรายหนึ่งเผยกับสำนักข่าว Channel News Asia ว่า ดูเหมือนว่า “ความไม่พอใจของประชาชน” กำลังก่อตัวในไทยหลังจากพบว่าไทยไม่อยู่ในรายชื่อ 20 ประเทศที่จะได้เจรจากับสหรัฐฯ ก่อน  

 

“ถ้าไม่สามารถบรรลุข้อตกลงก่อนวันที่ 8 กรกฎาคม ภาษีศุลกากรจากสินค้าในอาเซียนอาจสูงกว่าภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าจีน” วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเผย “ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีนย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่อาเซียน โดยเฉพาะไทยซึ่งยังไม่ได้เริ่มเจรจากับสหรัฐฯ ต้องพัฒนายุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมและชัดเจน”

 

วรรณพงษ์มองว่า การถอดบทเรียนสำหรับอาเซียนจากข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมี “ประโยชน์จำกัด” เนื่องจากจีนเป็นจุดสนใจหลักของนโยบายการค้าของทรัมป์ “แต่สิ่งที่ข้อตกลงแสดงให้เห็นชัดเจนคือ ความไม่แน่นอนที่มีสูง และราคาทางการเมืองที่ต้องจ่ายสำหรับรัฐบาลไทยที่ยังนิ่งๆ รอดูท่าที เห็นได้ชัดว่ามีการแข่งขันกันระหว่างผู้นำอาเซียนในการบรรลุข้อตกลงทวิภาคีกับทรัมป์”

 

มาเลเซีย เพื่อนบ้านของไทยส่งคณะผู้แทนไปวอชิงตันตั้งแต่วันที่ 22-24 เมษายน และระบุว่ามาเลเซียเปิดกว้างสำหรับการเจรจากับสหรัฐฯ ในเรื่องอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ลดการเกินดุลการค้า และแสวงหาข้อตกลงทวิภาคี

 

อัสรุล ฮาดี อับดุลเลาะห์ ซานี จากบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ ADA Southeast Asia เผยกับ Channel News Asia ว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะพิจารณาเจรจาภาษีศุลกากรหากมาเลเซียไม่เปิดเผยตัวเลขว่าจะลดการเกินดึลการค้ากับสหรัฐฯ เท่าใด และว่ามาเลเซียต้องให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร เครื่องจักร สินค้าเทคโนโลยีและยาจากสหรัฐฯ รวมทั้งปรับขั้นตอนให้สินค้าสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดมาเลเซียได้ง่ายขึ้น

 

เวียดนาม ตัวเต็งที่จะบรรลุข้อตกลง?

 

ภีมะจากศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเผยว่า ดูเหมือนว่าเวียดนามซึ่งถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีศุลกากร 46% จะเป็นตัวเต็งในอาเซียนที่จะบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ

 

เวียดนามเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม และ Reuters รายงานเมื่อวันอังคาร (13 พฤษภาคม) ว่า เวียดนามยกระดับการต่อสู้กับสินค้าปลอมและการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์หลังจากสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางหลักของการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว

 

เวียดนามให้ตำมั่นว่าจะลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% และจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องบินโบอิง และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นอกจากนี้ รัฐบาลยังของความร่วมมือให้โรงงานท้องถิ่นซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ


เวียดนามซึ่งเป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาคที่สำคัญของบริษัทตะวันตกหลายแห่ง มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ มากกว่า 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่แล้ว

 

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ฝั่มมิญจิ๋ญ ของเวียดนามเผยว่า เวียดนามจะซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ เพิ่ม เพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยมีรายงานว่า เวียดนามตกลงซื้อเครื่องบินขับไล่ F-16 จากบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ไม่น้อยกว่า 24 ลำ

 

ในบทความของเว็บไซต์ The Diplomat ที่วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 เมษายนระบุว่า การซื้ออาวุธครั้งใหญ่เช่นนี้ “จะทำให้ความสัมพันธ์กับจีนเกิดการสั่นสะเทือนในระดับหนึ่ง”

 

ภีมะเผยว่า อุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ จำเป็นต้องขยายไปสู่ตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สหรัฐฯ ยินดีที่จะเสนอการซื้อขายอาวุธในการเจรจาภาษีศุลกากร “ดังนั้นหากประเทศไหนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พูดถึงความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ ผมคิดว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชนะ”

 

หลินจาก ISEAS มองว่า แต่ละประเทศในอาเซียนมียุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐฯ แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และการคำนึงถึงการเมืองภายในประเทศ “อย่างไรก็ดี การสร้างสมดุลทางการค้าโดยการเพิ่มการนำเข้าอาจจะตรงไปตรงมามากกว่าการแก้ไขข้อกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร” หลินกล่าวโดยอ้างถึงข้อกล่าวหาที่ว่าบางประเทศในอาเซียนอาจเป็นทางผ่านให้สินค้าจีนหลบเลี่ยงภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ

 

หลินอธิบายว่า การเจรจาเรื่องมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษียากกว่า เนื่องจากบางนโยบาย เช่น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศนั้นมีพื้นฐานมาจากกรอบการกำกับดูแลที่ถูกต้องตามกฎหมาย “ในทางกลับกัน มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรที่สามารถต่อรองได้มากกว่า เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือขั้นตอนศุลกากร สามารถปรับเปลี่ยนหรือชี้แจงได้ง่ายกว่า”

 

หลินเผยอีกว่า ความแตกต่างในผลลัพธ์การเจรจานั้น “หลีกเลี่ยงไม่ได้” เนื่องจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศอาจสามารถเจรจาลดภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้มาก ขึ้นอยู่กับสิ่งที่แต่ละประเทศสามารถเสนอเป็นการตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ หรือการผ่อนปรนกฎระเบียบ

 

“หากประเทศเหล่านี้ถูกมองว่า ‘สนับสนุน’ ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือให้การเข้าถึงตลาดที่มากขึ้น พวกเขาอาจกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจกว่าสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจากบริษัทในจีนหรือประเทศที่สามอื่นๆ ที่ต้องการศูนย์กลางที่ต้านทานภาษีศุลกากรได้” หลินกล่าว “สิ่งนี้อาจช่วยให้ประเทศอาเซียนบางแห่งได้เปรียบชั่วคราวในการวางตำแหน่งห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค”

 

เดบอราห์ เอล์มส์ หัวหน้านโยบายการค้าจาก Hinrich Foundation เผยกับ Channel News Asia ว่า ข้อตกลงทั้งสองฉบับที่สหรัฐฯ ทำกับสหราชอาณาจักรและจีนบ่งบอกว่า อัตราภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% จะยังคงอยู่ หมายความว่า สหรัฐฯ จะไม่ลดภาษีศุลกากรจนเหลือ 0 ทำให้บางประเทศ เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากรต่ำเป็นอันดับ 3 และ 2 ในอาเซียนที่ 24% และ 17% ตามลำดับ ไม่คุ้มค่าที่จะต้องยอมให้สหรัฐฯ

 

“ฉันไม่แน่ใจว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะรับคำขอให้จัดการส่วนประกอบจากจีนในซัพพลายเชนของตัวเองอย่างไร มันเป็นคำขอที่ยาก แต่ด้วยความที่การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีนขยายออกไปอีก 90 วัน มันอาจยากขึ้นสำหรับอาเซียนที่จะตกลง เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบว่าจะมีดีล (ที่ตกลงกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน) อะไรรออยู่ข้างหน้า” เอล์มส์เผย

 

หลินเผยว่า สหรัฐฯ น่าจะกำลังมองหา “สัมปทานเฉพาะภาคส่วนที่จับต้องได้” จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเอล์มส์ชี้ให้เห็นถึงความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของอาเซียนในการหารือเกี่ยวกับภาษีศุลกากรเฉพาะกลุ่มสินค้าในปัจจุบันและอนาคตกับสหรัฐฯ

 

สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีศุลกากรเฉพาะกลุ่มสินค้า 25% สำหรับเหล็ก อะลูมิเนีม และสินค้าที่ผลิตจากเหล็กเหล่านี้ รวมทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

 

เอล์มส์เผยว่า 2 อย่างแรกอาจเก็บ 25% ส่วนที่เหลืออาจเก็บเหมือนกัน สูงกว่าหรือต่ำกว่า ส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ยาและเวชภัณฑ์ ไม้ ทองแดง รถบรรทุกหนัก และแร่ธาตุสำคัญอาจเป็นคิวต่อไป “สำหรับมาเลเซีย เซมิคอนดักเตอร์กำลังจะเข้าไปอยู่ในคำจำกัดความนี้ซึ่งกว้างมาก หากสินค้าเหล่านี้ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูง จะสร้างความเสียหายมากกว่าภาษีศุลกากรตอบโต้”

 

อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว หรือผลประโยชน์ชาติมาก่อน?

 

ในฐานะประธานอาเซียน อันวา อิบราฮิม กล่าวไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายนว่า มาเลเซียจะเป็นแกนนำในการนำเสนอ “แนวร่วมระดับภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียว” ในการเผชิญหน้ากับภาษีของสหรัฐฯ

 

แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหลังการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 10 เมษายนกรณีภาษีศุลกากรระบุว่า “มีความตั้งใจร่วมกันที่จะร่วมในการเจรจาอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์กับสหรัฐฯ” โดยจะไม่กำหนดภาษีตอบโต้ และอาเซียนจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และหารือกันต่อไปถึงวิธีการเสริมสร้างและกระตุ้นการค้าภายในอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น

 

แต่ผู้สังเกตการณ์เผยกับ Channel News Asia ก่อนหน้านี้ว่า คงจะเป็นแนวทางที่สมจริงที่สุดสำหรับอาเซียนที่จะใช้ “แนวทางผสมผสาน” ในการแก้ไขภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ รวมทั้งการพูดเป็นเสียงเดียวกันเพื่อเน้นย้ำถึงความกังวลร่วมกันของกลุ่ม ในขณะที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกเจรจากันโดยอิสระตามผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ

 

อัสรัล ฮาดี เผยว่า “อาเซียนไม่ใช่สหภาพเหนือชาติเหมือนกับสหภาพยุโรป และไม่ได้เป็นตลาดเดียวที่จะร่วมกันรองรับสหรัฐฯ ได้ ยิ่งไปกว่านั้นแต่ละประเทศสมาชิกยังมีระดับภาษีศุลกากรต่างกัน แต่ละประเทศต่างก็มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าผลประโยชน์ด้วยรวมของอาเซียน

 

แถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายนของอาเซียนเป็นเสมือนสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่าจะเป็นเครื่องมือในการต่อรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลทรัมป์ต้องการข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีมากกว่า

 

หลินมองว่า การแข่งขันกันเองในอาเซียนเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ และเริ่มมีสัญญาณแล้วว่าข้อเสนอของอาเซียนแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ อาจทำให้การค้าภายในอาเซียนชะงัก

 

นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ของไทยระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผย “ความร่วมมือลับ” ที่ไทยเสนอสหรัฐฯ เพราะประเทศอื่นที่กำลังเจรจากับสหรัฐฯ อยู่ “จะรู้และเกิดการเปรียบเทียบ และความวุ่นวายจะตามมา”

 

บาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของอินโดนีเซียเผยว่า อินโดนีเซียวางแผนเปลี่ยนแหล่งที่มาของการนำเข้าเชื้อเพลิงจากสิงคโปร์เป็นสหรัฐฯ และว่า อินโดนีเซียอาจย้ายการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมดจากสิงคโปร์ไปยังสหรัฐฯ ได้มากถึง 60% ในช่วงเริ่มต้นของกระบวนการซึ่งจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ภีมะกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มี “ความหวังค่อนข้างสูง” ว่าอินโดนีเซียอาจทำงานร่วมกับคู่ค้าในอาเซียนเพื่อเจรจาภาษีศุลกากรกับสหรัฐฯ “แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ชอบระบบพหุภาคี แต่กลับชอบคุยกับแต่ละประเทศมากกว่า ดังนั้นอินโดนีเซียจึงจะเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นอันดับแรก แม้ว่าจะทำให้สิงคโปร์หรือสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ผิดหวังก็ตาม

 

ส่วนวรรณพงษ์บอกว่า เขาไม่เชื่อว่าการแยกเจรจารายประเทศกับสหรัฐฯ จะทำให้ความสามัคคีของอาเซียนพังทลายลงอย่างแน่นอน “สำหรับผม มันยังไม่ชัดเจนว่าอาเซียนในฐานะกลุ่มประเทศ จะทำอะไรได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากภาษีของทรัมป์”

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์