เครื่องบินแอร์ฟอร์ซวัน (Air Force One) เป็นเครื่องบินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เป็นที่รู้จักในนามของ “ห้องทำงานรูปไข่ลอยฟ้า” แต่ยังมีเครื่องบินสำคัญอีกลำหนึ่งที่คนรู้จักน้อยกว่า นั่นก็คือ เครื่องบิน E-4B Nightwatch ในฐานะของ “วอร์รูมลอยฟ้า”
วอร์รูมลอยฟ้าลำนี้มีนิคเนมที่น่ากลัวว่า “เครื่องบินวันสิ้นโลก” เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานในวันที่เกิดสงครามนิวเคลียร์หรือเหตุไม่คาดฝันอื่นๆ จนศูนย์บัญชาการภาคพื้นดินของสหรัฐฯ ถูกทำลายหมดไม่ต่างจากวันสิ้นโลก
เครื่องบินวันสิ้นโลกจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการลอยฟ้าเพื่อให้การทำงานของคณะรัฐบาล ประธานาธิบดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ระดับสูง และประธานเสนาธิการทหารร่วมยังคงดำเนินต่อไปได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นเพนตากอนในเวอร์ชันลอยอยู่กลางอากาศ หรือบางครั้งก็เป็นยานพาหนะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ

เครื่องบินวันสิ้นโลกถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยได้รับการออกแบบให้ทนต่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากแรงระเบิดของนิวเคลียร์ มีรายงานว่าหน้าต่างของเครื่องบินโบอิง 747 E4-B Nightwatch มีลวดตะแกรงติดอยู่เพื่อเสริมความแข็งแกร่งไม่ให้แตก ส่วนอุปกรณ์และระบบสายไฟก็ถูกทำให้แข็งแรง และยังมีระบบป้องกันความร้อนและนิวเคลียร์ในกรณีที่เกิดการระเบิด
ส่วนหัวของเครื่องบินมีส่วนที่นูนขึ้นมาเรียกว่า “ray dome” ที่บรรจุจานดาวเทียมหลายสิบจานและเสาอากาศสำหรับติดต่อสื่อสารกับเรือ เรือดำน้ำ และอากาศยานของสหรัฐฯ ได้ทุกที่ทั่วโลก กองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า E-4B Nightwatch มีจานดาวเทียมและเสาอากาศอยู่ใน ray dome ที่ว่านี้ราว 67 อัน ทำให้มีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากกว่าแอร์ฟอร์ซวัน

เห็นอัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์ล้ำๆ แบบนี้ แต่เครื่องบินวันสิ้นโลกของสหรัฐฯ ติดตั้งอุปกรณ์แบบอะนาล็อกแทนที่จะเป็นเครื่องมือดิจิทัลทันสมัย เพื่อให้เครื่องบินสามารถทำงานต่อไปได้หากถูกพลังแม่เหล็กไฟฟ้าจากระเบิดนิวเคลียร์รบกวน ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์น้อยกว่า
เครื่องบินลำนี้สามารถเติมเชื้อเพลิงได้กลางอากาศ ทำให้อยู่บนน่านฟ้าได้หลายวัน โดยบินได้ต่อเนื่อง 12 ชั่วโมงโดยไม่เติมน้ำมัน จะมีข้อจำกัดยู่บ้างตรงที่กินน้ำมันเครื่อง ในการทดสอบประสิทธิภาพวอร์รูมลอยฟ้าสามารถอยู่กลางอากาศโดยที่ยังปฏิบัติการได้สมบูรณ์ 35.4 ชั่วโมง แต่เครื่องได้รับการออกแบบมาให้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มในกรณีฉุกเฉิน

ภายในของเครื่องถูกออกแบบให้รองรับผู้โดยสารได้ 112 คน รวมลูกเรือ เจ้าหน้าที่บำรุงรักษาเครื่องบิน และเจ้าหน้าที่พิเศษ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น
- ชั้นบนสำหรับลูกเรือและเป็นที่ติดตั้งอุปกรณ์นำทาง
- ชั้นกลางที่เป็นหัวใจของปฏิบัติการ ประกอบด้วยห้องสั่งการ ห้องประชุมทางไกล ห้องบรรยายสรุป ห้องติดต่อสื่อสาร พื้นที่ทำงานของทีมปฏิบัติงาน และพื้นที่ส่วนพักผ่อน
- ชั้นล่างประกอบด้วยอุปกรณ์ทางเทคนิคและอุปกรณ์ไฟฟ้า แท็งก์น้ำของเครื่องบิน และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ

ปัจจุบันนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ มีเครื่องบิน E-4B ปฏิบัติการอยู่ทั้งหมด 4 ลำ โดยต้องมีอย่างน้อย 1 ลำเตรียมพร้อมขึ้นบินตลอดเวลา แต่ละลำมีค่าใช้จ่ายในการประกอบ 223.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,715.24 ล้านล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายในการขึ้นปฏิบัติการชั่วโมงละ 159,529 ดอลลาร์สหรัฐ (5,513,880.59 บาท) นับเป็นเครื่องบินที่มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นปฏิบัติการสูงที่สุดของกองทัพอากาศ
อย่างไรก็ดี กองทัพอากาศกำลังจะนำเครื่องบินรุ่นใหม่ 5 ลำมาแทนที่ฝูงบิน E-4B ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งานช่วงต้นทศวรรษ 2030 โดยเครื่องรุ่นใหม่จะใช้เครื่องบินโบอิง 747-8 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2036
Photo by Wikipedia/Masteruploader/Public Domain