แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากทุกประเทศ แต่ก็ยังไม่น่าห่วงเท่าความเป็นไปได้ที่ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสี่ยงถูกสินค้าจีนราคาถูกที่ถูกตลาดสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสกัดทะลักเข้าประเทศ
นี่อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค แต่สำหรับผู้ส่งออกอาจเป็นข่าวร้าย เพราะความสามารถในการแข่งขันอาจสู้จีนไม่ได้ สุดท้ายก็จะย้อนมากระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ
ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าจะเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน 60% ส่วนประเทศอื่นๆ เก็บอย่างน้อย 10% หากทรัมป์ใช้นโยบายนี้จริงหลังเป็นรัฐบาลย่างเต็มตัวในปีหน้า สินค้าจีนซึ่งราคาต่ำกว่าคู่แข่ง เพราะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมีสิทธิ์ไหลทะลักเข้าอาเซียนอีกระลอก
จิ่ง เหงียน นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษา Natixis ในฮ่องกงเผยกับ Straits Times ว่า ประเทศในอาเซียนที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองต้องมียุทธศาสตร์หากต้องการแข่งขันกับสินค้าจีนที่ขายถูกกว่า
“อันตรายที่แท้จริงสำหรับประเทศเหล่านี้หากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมคือ ต้องเผชิญกับกำแพงสินค้าจีนที่มีตลาดระบายออกจำกัดมาก จีนไม่มีทางหยุดผลิตสินค้าเหล่านี้ จีนจะเดินหน้านโยบายอุตสาหกรรมของตัวเองต่อไป เพราะโดยพื้นฐานแล้วจีนเชื่อว่า การทำให้ภาคการเงินมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นไม่ใช่การพัฒนาอย่างแท้จริง และจีนต้องพัฒนาสินค้าจริงๆ ดังนั้นจีนจะเดินหน้าอุดหนุนการผลิตต่อไป”
ท่าทีดังกล่าวนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการค้ามากขึ้นในอาเซียน
ปริยังกา คิชอร์ ผู้ก่ตั้งและนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษา Asia Decoded กล่าวว่า แผนของทรัมป์ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม
“แม้ว่าบางประเทศจะกำลังตรวจสอบการทุ่มตลาดของจีน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยมีการดำเนินการที่สำคัญ ความขัดแย้งเช่นนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะจีนส่งออกมายังอาเซียนมากขึ้นเมื่อถูกสหรัฐฯ ตั้งภาษีสูง อย่างไรก็ดีสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากผู้นำอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาคท่ามกลางสภาพแวดล้อมระดับโลกที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้น” คิชอร์เผยกับ Straits Times
คิชอร์กล่าวต่อว่า “ทรัมป์ 2.0 น่าจะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น ทั้งในเรื่องของกำแพงภาษีและวาทศิลป์ที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์จากภายนอกชะลอตัวและเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน”
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังมองว่า อาเซียนอาจได้รับแรงกระเพื่อมจากมาตรการปกป้องทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและเวียดนามซึ่งดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ โดยคิชอร์เผยว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันนั้นเวียดนามเสี่ยงเจอภาษีสูงที่สุดภายใต้รัฐบาลทรัมป์ 2
เวียดนามคือผู้ส่งออกรายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ ณ เดือนกันยายน เวียดนามเกินดุลสหรัฐฯ 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากจีน สหภสพยุโรป และเม็กซิโก โดยเวียดนามได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตราสูง (เริ่มในสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1)
“ความเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีชัดเจนมากสำหรับเวียดนามที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 การที่เวียดนามนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นยิ่งทำให้สหรัฐฯ กังวลว่าเวียดนามอาจกลายเป็นทางผ่านให้สินค้าจีนเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ” คิชอร์เผย
สมัยที่รัฐบาลทรัมป์ 1 เริ่มสงครามการค้ากับจีนเมื่อปี 2018 มีบริษัทจีนบางเจ้าย้ายฐานจากจีนเข้ามาในอาเซียน ทำให้สหรัฐฯ กังวลว่าจะมีการเปลี่ยนเส้นทางการส่งสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ผ่านฮับในอาเซียน
คิชอร์เผยว่า ไทยเองก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยังมีความสัมพันธ์กับจีนด้วย “การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจทำให้รัฐบาลทรัมป์ระมัดระวังการซื้อขายกับไทย”
ปี 2022 ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ 41,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยกับ Straits Times ว่า “ผลของสงครามการค้าสมัยรัฐบาลทรัมป์ 1 คือ บริษัทจีนบางแห่งย้ายมาที่ไทย นั่นจะเป็นคำถามสำคัญว่า รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะติดตามห่วงโซ่อุปทานของจีนที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ อาจจะไม่ใช่แค่ไทยที่เจอผลกระทบ อาจเป็นประเทศอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการย้ายห่วงโซ่อุปทานของจีนด้วย”
Photo by Shutterstock/cybrain